รีเซต

ค้นพบ "เหลืองปิยะรัตน์" พืชชนิดใหม่ของโลกที่ จ.นราธิวาส

ค้นพบ "เหลืองปิยะรัตน์" พืชชนิดใหม่ของโลกที่ จ.นราธิวาส
TNN ช่อง16
25 ตุลาคม 2565 ( 12:30 )
167

“เหลืองปิยะรัตน์” พืชหายากในวงศ์กระดังงา ถูกนักวิจัยจาก ม.เชียงใหม่ ค้นพบที่ จ.นราธิวาส เป็นดอกสวย มีกลิ่นหอม เสี่ยงสูญพันธุ์ ด้าน นักวิจัยเตรียมวางแผนวิจัยต่อด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาเพื่อเป็นพืชสมุนไพรรักษาโรค


ข่าวคราวการค้นพบ "เหลืองปิยะรัตน์" พืชชนิดใหม่ของโลกในวงศ์กระดังงา (Annonaceae) ที่ อ.จะแนะ และ อ.สุคิริน จ.นราธิวาส โดย นักวิจัยสังกัดภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ 

นำโดย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ เชาวสกู และนักศึกษาระดับปริญญาเอก ได้แก่ นางสาวฉัตรธิดา วิยา (สาขาวิชาชีววิทยา) และนางสาวอานิสรา ดำทองดี (สาขาวิชาความหลากหลายทางชีวภาพและชีววิทยาชาติพันธุ์) พร้อมทั้งนายนายกิติศักดิ์ อ๋องย่อง และนายอับดุลรอแม บากา นักวิจัยอิสระ นับเป็นข่าวดีของวงการวิจัยพรรณไม้อย่างมาก


สำหรับ "เหลืองปิยะรัตน์" นั้น มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨𝙥𝙞𝙮𝙖𝙚 Wiya, Aongyong & Chaowasku ตั้งชื่อเป็นเกียรติแก่ ดร.ปิยะ เฉลิมกลิ่น นักวิจัยอาวุโส ผู้ริเริ่มการศึกษาพืชวงศ์กระดังงาในประเทศไทย และได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการระดับนานาชาติ Taiwania ปีที่ 66 ฉบับที่ 4 หน้าที่ 509-516 พ.ศ. 2564 

โดยงานวิจัยนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการวิจัย อนุกรมวิธานและวิวัฒนาการชาติพันธุ์ของพรรณไม้วงศ์กระดังงาในประเทศไทยที่หายากและยังไม่เป็นที่รู้จัก เพื่อการอนุรักษ์และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) 


คณะนักวิจัย ให้ความรู้ด้วยว่า "เหลืองปิยะรัตน์" มีลักษณะเด่น คือ เป็นไม้ต้นขนาดเล็ก สูงประมาณ 3 เมตร มีก้านดอกยาว กลีบดอกชั้นนอกมีขนาดเล็กคล้ายกลีบเลี้ยง กลีบดอกชั้นในเมื่อเจริญเต็มที่จะมีสีเหลืองเข้ม ที่โคนกลีบมีสีม่วงอมน้ำตาล ดอกมีกลิ่นหอม ส่วนผลของ "เหลือปิยะรัตน์" ลักษณะเป็นผลแบบกลุ่ม ผลย่อยมีเมล็ดเดียว เมื่อสุกสีแดงสด 

คณะนักวิจัย ยังได้ย้ำถึงความสำคัญด้วยว่า จากการสำรวจพบ "เหลืองปิยะรัตน์" เพียงไม่กี่ต้นในหย่อมป่าดิบชื้นที่ถูกรบกวน ซึ่งรายล้อมไปด้วยสวนยางและสวนผลไม้ สุ่มเสี่ยงที่จะถูกแผ้วถางจนสูญพันธุ์ จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องช่วยกันอนุรักษ์ไว้ ก่อนที่จะไม่เหลือให้ชนรุ่นหลังได้ชื่นชมและศึกษา 


นอกจาก "เหลืองปิยะรัตน์" แล้ว ในประเทศไทยยังพบพืชสกุล 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨 อีก 1 ชนิด คือ "หัวลิง" ซึ่งมีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨 𝙡𝙪𝙘𝙞𝙙𝙪𝙨 Oliv. โดยพบที่จังหวัดนราธิวาสและยะลา   

ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ธนวัฒน์ กล่าวว่า "เหลืองปิยะรัตน์" มีศักยภาพในการพัฒนาเป็นไม้ดอกไม้ประดับได้ เนื่องจากมีดอกที่สวยงามและมีกลิ่นหอม นอกจากนี้พบว่าผู้คนในแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ใช้พืชสกุล 𝙋𝙝𝙖𝙚𝙖𝙣𝙩𝙝𝙪𝙨 ชนิดอื่น ๆ เป็นพืชสมุนไพรรักษาโรคตา 

ดังนั้นอาจพัฒนาให้เหลืองปิยะรัตน์เป็นพืชสมุนไพรได้เช่นเดียวกัน ซึ่งจะต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมทางด้านเภสัชเวทและเภสัชวิทยาต่อไป.


ภาพและข้อมูลจาก สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.)

ข่าวที่เกี่ยวข้อง