รีเซต

ปิยสวัสดิ์ชงล้มโต๊ะ IPP เร่งพลังงานทางเลือก

ปิยสวัสดิ์ชงล้มโต๊ะ IPP เร่งพลังงานทางเลือก
ทันหุ้น
29 ตุลาคม 2563 ( 07:30 )
370

ทันหุ้น-สู้โควิด- ดร.ปิยสวัสดิ์ แกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงาน เตรียมยื่นเสนอปฏิรูปพลังงาน รองนายกฯและรมว.พลังงาน เล็งล้มโต๊ะ IPP ที่ไม่ได้ประมูล และชี้อนาคตควรลดสัญญา IPP เพื่อให้เอกชนแข่งขันกัน หนุนเร่งใช้พลังงานหมุนเวียนเกิน 50% แต่ต้องเปิดเสรี วงในมองเปลี่ยนอำนาจผูกขาดสู่มือรากหญ้า ชี้ RATCH-EGCO เสียเปรียบเหตุมีโรงไฟฟ้าไม่ประมูล ด้านกลุ่มโรงไฟฟ้าหมุนเวียนเฮ

 

ดร.ปิยสวัสดิ์ อัมระนันทน์ หนึ่งในแกนนำกลุ่มปฏิรูปพลังงานเพื่อความยั่งยืน (ERS) ได้เปิดเผยว่า กลุ่ม ERS ซึ่งดำเนินการด้านพลังงานมากกว่า 6 ปีแล้ว ได้เตรียมนำเสนอข้อเสนอใหม่ในการปฏิรูปพลังงาน กับ นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน โดยมองว่าไทยกำลังเผชิญกับปัญหากำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่สูงถึงระดับ 50% จากปัญหาเศรษฐกิจชะลอตัว และภาระต่อผู้บริโภค

 

@เลื่อน IPP ไม่ได้รับประมูล

 

มาตรการที่จะเสนอนั้นมีทั้งมาตรการระยะสั้นและระยะยาว โดยหลักๆ ควรจะปฏิรูป ระบบปัจจุบันที่เป็นการรับประกันผลตอบแทน และหันมาเน้นการแข่งขันด้านราคา และสร้างแรงจูงใจให้มีการพัฒนาประสิทธิภาพ ทั้งการทบทวนหลักเกณฑ์ทางการเงินในการกำหนดค่าไฟฐาน เพื่อลดค่าไฟฐาน ให้เร่งเจรจาชะลอการลงทุนและเลื่อนกำหนดการเข้าสู่ระบบ (COD) ของหน่วยผลิตไฟฟ้าใหม่ โดยเฉพาะของเอกชนที่ได้รับอนุมัติโดยมิได้ผ่านการประมูล

 

อีกทั้งในส่วนของกำลังผลิตที่ติดตั้งไปแล้ว ให้เน้นระบบการสั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าในส่วนที่เรียกกันว่า Merit Order เพื่อให้โรงไฟฟ้าต่างๆ ทั้งเอกชนและของรัฐแข่งกันเสนอราคาขายที่ต่ำที่สุด ซึ่งอาจจะต่ำกว่าค่าพลังงานที่เคยระบุไว้ในสัญญา เพื่อที่จะได้รับการขายไฟมากขึ้น

 

นอกจากนี้รัฐควรใช้เงื่อนไขตามสัญญาเพื่อลดหรือเจรจาลดการซื้อในส่วนที่เป็นสัญญาผูกมัด (Must take) และลดการจ่าย “ค่าความพร้อมจ่าย” ที่สามารถลดได้

 

@ เน้นพลังงานทดแทน

 

สำหรับการจัดทำแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศหรือ PDP ควรปรับปรุงกระบวนการให้ทันสมัย โปร่งใส และมีความยืดหยุ่น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าจากสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ให้เกิดการอนุมัติกำลังผลิตที่เกินความจำเป็นและเป็นปัญหาที่ยาวนาน และเพื่อวางแผนการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่จริงจังมากขึ้น

 

อีกทั้งควรให้มีการเปิดเผยข้อมูลเพื่อให้ได้ PDP ที่โปร่งใสและสมบูรณ์  ที่สำคัญต้องกำหนดสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนต่อพลังงานโดยรวมไม่ต่ำกว่า 50% โดยเร็ว เพื่อให้ไทยก้าวไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ที่ปล่อยคาร์บอนสุทธิเป็น 0 (Carbon Neutral) ภายในปี พ.ศ.2593

 

ในระยะยาวสนับสนุนให้มีการเปิดไฟฟ้าเสรี ซึ่งในภาวะที่กำลังผลิตสำรองล้นเกินจะช่วยให้ค่าไฟลดลงแทนที่จะสูงขึ้น ดังนั้น จึงควรเปิดบริการสายส่งสายจำหน่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่สาม (TPA) เช่นเดียวกับที่ได้มีการเปิด TPA ระบบท่อก๊าซธรรมชาติและคลังนำเข้า LNG ไปแล้ว

 

และต้องออกแบบตลาดไฟฟ้าที่มีทั้งการประมูลค่าพลังงานไฟฟ้า และการประมูลค่ากำลังการผลิตไฟฟ้าเพื่อป้องกันปัญหาค่าไฟพุ่งขึ้นสูงมากในช่วงขาดแคลน โดยมีเงื่อนไขการแบ่งภาระความเสี่ยงอย่างเหมาะสมและเป็นธรรมระหว่างผู้ผลิตไฟฟ้ากับผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นช่วงกำลังผลิต สำรองเกิน หรือขาด หรือสมดุล โดย กฟผ.ยังคงให้การควบคุมระบบสายส่ง ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้าและไฟฟ้าพลังงานน้ำและจัดกลุ่มโรงไฟฟ้าอื่นๆของ กฟผ. ให้เป็นอิสระเพื่อเตรียมความพร้อมในการแข่งขันกับเอกชนที่เปิดกว้างและโปร่งใสเพื่อให้การรับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าต่างๆเชื่อมโยงระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

 

@เร่งพัฒนาแหล่งปิโตรเลียม

 

ด้านปิโตรเลียม ต้องการขอเร่งรัดให้พัฒนาทรัพยากรปิโตรเลียมของไทยก่อนที่จะด้อยค่า ซึ่งจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจหลังโควิด-19 ด้วย ได้แก่ การเปิดสัมปทานรอบ 23และรอบต่อไป รวมไปถึงการเจรจาหาข้อยุติกับกัมพูชา ในการเข้าไปสำรวจและ การพัฒนาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา รวมถึงการนำพื้นที่ภาคเหนือที่อยู่ใต้กรมการพลังงานทหารมาอยู่ภายใต้ พ.ร.บ. ปิโตรเลียม พ.ศ.2560 เพื่อนำผลประโยชน์มาเป็นรายได้ส่วนกลางของรัฐ  ขณะเดียวกันควรจะมุ่งเน้นการส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพควรมุ่งเน้นน้ำมันแก๊สโซฮอล์ E20 กับน้ำมันไบโอดีเซลB10 ให้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักของประเทศเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรส่งเสริมผลิตภัณฑ์ในประเทศ และยกเลิกการใช้ E85 และ B20 เนื่องจากไม่มีความจำเป็น และควรทยอยลดการอุดหนุน จากปัจจุบันใช้เงินกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิงอุดหนุน E85 ที่ 200 ล้านบาท และ B20 ที่ 300 ล้านบาทต่อเดือน

 

ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันและเชื้อเพลิง มีเงินในกองทุนที่ 2.9 หมื่นล้านบาท และจะต้องมีการอุดหนุนน้ำมันเชื้อเพลิงและ LPG จะทำให้เงินกองทุนหมด ภายใน2 ปี และมีการกู้เงินได้อีก 2 หมื่นล้านบาท ก็จะทำให้บริหารได้อีก2 ปี รวมเป็น 4 ปี นั่นเป็นเหตุผลที่ควรลดเงินอุดหนุนน้อยลง เพื่อสะท้อนกับราคาพลังงานด้วย และแข่งขันได้

 

ด้านนักวิเคราะห์ในวงการประเมินว่า ข้อเสนอดังกล่าว หากถูกพิจารณาจะส่งผลต่อหุ้นโรงไฟฟ้าที่ได้ใบอนุญาติโดยไม่ต้องประมูลอย่าง RATCH และ EGCO ขณะเดียวกันก็จะเป็นการลดการผูกขาดจากโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ มาสู่โรงไฟฟ้าพลังงานทางเลือก ทั้งกลุ่มโซลาร์ ลม และ ชีวมวล ชีวภาพ แต่อาจจะต้องใช้เวลานานเนื่องจากเป็นการปรับโครงสร้าง สำหรับหุ้นที่จะได้ประโยชน์จากกรณีนี้ และมีแนวโน้มการประมูลเพื่อขึ้นคือกลุ่มชีวมวล เช่น ACE TPCH

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง