รีเซต

นักวิจัยจีนและญี่ปุ่นเปิดทางกระดองปูใช้เป็นขั้วแบตเตอรี่โซเดียมได้

นักวิจัยจีนและญี่ปุ่นเปิดทางกระดองปูใช้เป็นขั้วแบตเตอรี่โซเดียมได้
TNN ช่อง16
13 เมษายน 2566 ( 10:21 )
140
นักวิจัยจีนและญี่ปุ่นเปิดทางกระดองปูใช้เป็นขั้วแบตเตอรี่โซเดียมได้

กระดองปูเป็นส่วนที่ถูกทิ้งมาโดยตลอดหลังจากเรารับประทานส่วนของเนื้อปูจนหมด โดยก่อนหน้านี้กระดองปูจะถูกนำไปสกัดสารเคมีเพื่อใช้ทางการแพทย์หรืออุตสาหกรรมความงาม แต่ว่านักวิจัยจากจีนและญี่ปุ่นได้ค้นพบร่วมกันว่าแท้จริงแล้วกระดองปูมีความสามารถนำไปใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ สินค้าสำคัญของโลกในเวลานี้ได้


การค้นพบดังกล่าวนำโดยนักวิจัยจากสถาบันวิทยาศาสตร์การแพทย์แห่งซางตง (Shandong Academy of Medical Sciences) จากประเทศจีน และสถาบันเทคโนโลยีกิวชู (Kyushu Institute of Technology) ในประเทศญี่ปุ่น พร้อมทีมนักวิจัยได้พบว่ากระดองปูสามารถแปลงให้กลายเป็น “คาร์บอนปู” (Crab Carbon) แท่งขั้วประจุบวก (Anode) ของแบตเตอรี่ประเภทโซเดียมไอออนได้ด้วยการหลอมละลายด้วยความร้อนสูง


กระบวนการดังกล่าวจะเริ่มจากการนำกระดองปูผ่านกระบวนการความร้อนในเตาถลุงเหล็ก (Blast Furnace) ให้อยู่ในสภาพของขั้วไฟฟ้า (Electrode) ก่อนจะเติมแร่ดีบุก (Tin) หรือเติมแร่ไอรอนซัลไฟด์ (Iron Sulfide) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพขั้วไฟฟ้า ทั้งหมดนี้เป็นการใช้ธรรมชาติของกระดองปูที่มีส่วนประกอบทางโครงสร้างคล้ายเส้นใย ทำให้มีช่องว่างให้ประจุไฟฟ้าสามารถเดินทางได้เป็นอย่างดี


ในการทดสอบใช้งานขั้วประจุไฟฟ้าจาก “คาร์บอนปู” พบว่าสามารถใช้งานชาร์จซ้ำโดยไม่มีการเสื่อมสภาพได้มากกว่า 200 รอบ ซึ่งเป็นผลลัพธ์ที่น่าพอใจสำหรับนักวิจัย ซึ่งเปิดทางไปสู่การสร้างแบตเตอรี่ที่ได้จากวัสดุซึ่งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมในอนาคต งานวิจัยดังกล่าวได้รับการตีพิมพ์ลงในวารสารทางวิชาการเอซีเอส โอเมก้า (ACS Omega) วารสารงานวิจัยด้านเคมีชื่อดังของสหรัฐอเมริกา    


ที่มาข้อมูล Interesting Engineering

ที่มารูปภาพ ACS/Unpslah 


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง