รีเซต

นักวิทย์จาก METI เตรียมส่งสัญญาณเรียก "เอเลียน" มาเยือนโลก

นักวิทย์จาก METI เตรียมส่งสัญญาณเรียก "เอเลียน" มาเยือนโลก
TNN ช่อง16
2 พฤษภาคม 2565 ( 11:18 )
202

นักวิทยาศาสตร์จำนวนไม่น้อยที่เชื่อว่า โลกไม่ใช่ดาวเคราะห์เพียงดวงเดียวที่มีสิ่งมีชีวิตถือกำเนิดขึ้น ไกลออกไปในระบบสุริยะอื่นอาจจะมีดวงดาวที่ให้กำเนิดสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาเช่นเดียวกับมนุษย์ และนั่นทำให้เกิดภารกิจ "ค้นหาสิ่งมีชีวิตต่างดาว"

ที่มาของภาพ Unsplash

 


SETI (เซติ - Search for extraterrestrial intelligence) คือ โครงการค้นหาสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาจากต่างดาว โดยมีหน้าที่หลักในการตรวจหาสัญญาณวิทยุที่บ่งบอกถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่น ๆ รวมถึงยังเปิดให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าร่วมโครงการได้ ด้วยการใช้คอมพิวเตอร์ของตนเองช่วยประมวลผลชุดข้อมูลต่าง ๆ เรียกว่า SETI@Home


แต่นอกเหนือจากโครงการ SETI แล้ว ยังมีอีกหนึ่งโครงการชื่อว่า METI (เมติ - Messaging extraterrestrial intelligence) ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อพิสูจน์การมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตจากต่างดาวเช่นกัน หากแต่แตกต่างในวิธีการ โดย METI จะเน้นการ "ระบุตำแหน่งและเรียกหา" ให้สิ่งมีชีวิตทรงปัญญาจากที่อื่นทราบถึงการมีอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก


แผ่นโลหะที่ติดไปกับยานไพโอเนียร์ 10
ที่มาของภาพ NASA

 


ความพยายามในการส่งข้อความถึงสิ่งมีชีวิตต่างดาว เริ่มต้นตั้งแต่ปี ค.ศ. 1972 โดยอยู่ในรูปแบบของแผ่นโลหะที่ติดอยู่กับยานไพโอเนียร์ 10 (Pioneer 10) บนแผ่นโลหะมีการฉลุลายสัญลักษณ์ต่าง ๆ และภาพมนุษย์ชาย-หญิง จากนั้นในปี 1977 องค์การนาซาได้ส่งแผ่นเสียงทองคำไปพร้อมกับยานวอยาเจอร์ 2 ซึ่งมีการบันทึกเสียงบอกเล่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นบนโลก พร้อมภาพสลักลวดลายด้านหลังของแผ่นเสียง โดยหวังว่าสักวันหนึ่งจะมีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาค้นพบวัตถุเหล่านี้


แผ่นเสียงทองคำที่ติดไปกับยานวอยาเจอร์ 2
ที่มาของภาพ NASA

 


ทว่า การส่งวัตถุออกไปนอกอวกาศคงไม่ต่างจากการปล่อยจดหมายในขวดแก้วให้ล่องลอยไปในมหาสมุทร นักวิทยาศาสตร์จึงเลือกใช้วิธีการอื่นที่มีประสิทธิภาพมากกว่าในการส่งข้อความออกไปนอกโลก นั่นคือการใช้ส่งข้อความผ่านสัญญาณวิทยุ ด้วยจานดาวเทียมขนาดยักษ์อาเรซิโบ (Arecibo) ในเปอร์โตริโก โดยเป็นชุดข้อความ 0 และ 1 (เลขฐาน 2) บอกเล่าเรื่องราวของมนุษย์ไปยังกระจุกดาราจักร M13 ที่อยู่ห่างออกไปจากโลก 25,000 ปีแสง


แน่นอนว่ากว่าสัญญาณดังกล่าวจะเดินทางไปถึงกระจุกดาราจักรดังกล่าวยังต้องใช้เวลาอีกนาน ดังนั้น เพื่อมิให้เป็นการเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ METI จึงริเริ่มการส่งสัญญาณออกไปนอกโลกอีกครั้ง โดยจะดำเนินการทั้งสิ้น 2 ชุดด้วยวิธีการที่แตกต่างกัน เพื่อให้ครอบคลุมตามเป้าหมายที่แตกต่างกัน


กล้องโทรทรรศน์วิทยุ FAST
ที่มาของภาพ ZAMA

 


กระบวนการแรกจะเป็นการส่งข้อความผ่าน "FAST" กล้องโทรทรรศน์วิทยุขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ณ ประเทศจีน โดยปล่อยคลื่นวิทยุออกมาเป็นจังหวะเพื่อแสดงข้อความเลขฐาน 2 เกี่ยวกับเรื่องราวของมนุษย์โลก, ข้อมูลด้านชีวเคมี, ตำแหน่งของโลก และช่วงเวลาสำคัญต่าง ๆ ไปยังใจกลางดาราจักรทางช้างเผือก ซึ่งอยู่ห่างไกลออกไปจากโลก 10,000 - 20,000 ปีแสง เชื่อว่าในระหว่างการเดินทางของสัญญาณวิทยุ "อาจจะ" เจอเข้ากับสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาจากดาวดวงอื่นก็เป็นได้


อีกกระบวนการหนึ่งจะเป็นการส่งสัญญาณวิทยุออกไปนอกโลกเช่นเดียวกัน หากแต่เป้าหมายของสัญญาณมีความเจาะจงมากขึ้น คือ ส่งสัญญาณมุ่งเป้าไปยังระบบของดาวฤกษ์แทรปพิสต์-1 (TRAPPIST-1) ดาวดวงนี้มีดาวเคราะห์ในระบบทั้งสิ้น 7 ดวง และมี 3 ดวงที่อยู่ในโซนโกลดิล็อกส์ (Goldilocks zone) ซึ่งป็นโซนที่มีระยะห่างจากดาวฤกษ์อย่างเหมาะสม ทำให้อุณหภูมิของดาวเคราะห์ไม่ร้อนและไม่หนาวเย็นจนเกินไป รวมถึงโลกของเราก็ยังอยู่ในโซนโกลดิล็อกส์ของระบบสุริยะด้วยเช่นกัน




การส่งข้อความไปยังระบบดาวฤกษ์แทรปพิสต์-1 ใช้เวลาเพียง 39 ปีแสงก็สามารถส่งไปถึงดาวเคราะห์ในโซนโกลดิล็อกส์ได้ และหากมีสิ่งมีชีวิตทรงปัญญาบนดาวเคราะห์ดวงใดดวงหนึ่ง จะสามารถส่งข้อความกลับมาหาโลกได้ ใช้เวลาทั้งสิ้นรวมเพียง 78 ปีแสงเท่านั้น 


ถึงกระนั้น ในแง่ของจริยธรรมยังเป็นข้อถกเถียงในวงการดาราศาสตร์ด้วยเช่นกัน ในมุมมองของสื่อบางแห่งมองว่าการกระทำของ METI ที่อ้างว่าเป็นตัวแทนของชาวโลกนั้นดูไม่เหมาะสม เพราะเป็นการกระทำที่อาจจะไม่ได้รับความยินยอมจากประชาชนในประเทศอื่น ๆ ได้


ที่มาของภาพ Scitech Daily

 


นอกจากนี้ นักวิทยาศาสตร์เลื่องชื่ออย่าง สตีเฟน ฮอว์คิง เคยกล่าวไว้ว่า การส่งสัญญาณเพื่อระบุให้สิ่งมีชีวิตจากดาวดวงอื่นทราบถึงตำแหน่งของโลก อาจก่อให้เกิดหายนะอันใหญ่หลวง โดยเฉพาะการเข้ามาบุกรุกอารยธรรมของมนุษย์โลก ถึงกระนั้น เนื่องจาก METI เป็นองค์กรที่ไม่ขึ้นตรงต่อรัฐบาลของประเทศใด จึงมีสิทธิ์ในการดำเนินการส่งข้อความเหล่านี้ และกระบวนการทั้งหมดคาดว่าจะเริ่มต้นได้ภายในปี 2023


ขอขอบคุณข้อมูลจาก The Conversation

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง