รีเซต

การบินไทย: เงินกู้ฉุกเฉินเสริมสภาพคล่อง ฉ้อฉลโดยไม่เจตนา

การบินไทย: เงินกู้ฉุกเฉินเสริมสภาพคล่อง ฉ้อฉลโดยไม่เจตนา
มติชน
21 มิถุนายน 2563 ( 09:15 )
237
1

 

ธนาคารประสงค์ดี ช่วยลูกหนี้ขาดสภาพคล่อง ให้กู้ยืมเงินฉุกเฉินเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนยามไร้ซึ่งเงินสดในช่วงหนึ่งปี ก่อนลูกหนี้ยื่นศาลขอฟื้นฟูกิจการ และลูกหนี้ได้ให้หลักประกันด้วย อาจเข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายว่า ทั้งธนาคารและลูกหนี้รู้อยู่ว่าสัญญากู้ยืมเงินและหลักประกัน เป็นนิติกรรมที่เป็นทางให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ เจ้าหนี้ขอให้ศาลเพิกถอนได้

 

ในกรณีดังกล่าว อาจถือได้ว่าธนาคารเป็น “บุคคลผู้ได้ลาภงอก” การที่ผู้ได้ลาภงอกร่วมกับลูกหนี้ ทำให้เจ้าหนี้อื่นเสียเปรียบ กฎหมายใช้คำเข้มข้นว่าเป็นการฉ้อฉล ไม่ถึงกับต้องมีเจตนาทุจริตฉ้อโกงเจ้าหนี้อื่นในทางอาญา เหมือนโอนที่ดินหนีหนี้แต่ประการใด แค่ผู้ได้ลาภงอกและลูกหนี้ทราบว่า ในขณะทำนิติกรรมนั้น ลูกหนี้มีสินทรัพย์ไม่เพียงพอที่จะชำระหนี้ให้เจ้าหนี้ทั้งหลายทั้งปวงได้ ก็เพียงพอที่ศาลจะเพิกถอนนิติกรรมได้แล้ว

 

ธนาคารเป็นผู้ได้ลาภงอกหรือไม่

ประเด็นแรกที่ต้องพิจารณา คือ ธนาคารเป็นผู้ได้ลาภ หรือ เสียลาภ

 

มีความเป็นไปได้ว่า ธนาคารจะยกทฤษฎีกฎหมายไทยโบราณ ขึ้นมาต่อสู้ข้อกล่าวหาว่า ตนมิใช่บุคคลผู้ได้ลาภงอก แต่เป็นผู้เสียลาภ ต่างหาก เพราะต้องควักกระเป๋าจ่ายเงินกู้ยืมให้ลูกหนี้ไป ในบางกรณีเป็นพันล้านบาท สำหรับลูกหนี้ธุรกิจขนาดใหญ่ จะมาหาว่าตนเป็นผู้ได้ลาภงอก ได้อย่างไร

 

คำกล่าวนี้ ฟังดูก็มีเหตุผล ถ้าหากธนาคารให้เงินกู้แก่ลูกหนี้ไปฟรี ๆ โดยไม่มีหลักประกัน

แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ลูกหนี้มักต้องจัดหลักประกันมาให้ธนาคารเสมอ ทั้งจำนองที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง จำนองเครื่องบิน จำนำเครื่องบิน จำนำเครื่องจักร จำนำหุ้น จำนำรถยนต์ ค้ำประกัน สัญญาหักกลบลบหนี้ จำนำเงินฝาก และอื่น ๆ

 

หลักประกันเหล่านี้ ทำให้เจ้าหนี้อื่นต้องเสียเปรียบ เพราะลูกหนี้ ต้องควักเนื้อ เจียดทรัพย์สินที่ตนมีอยู่จำกัดไม่เพียงพอต่อการชำระหนี้อยู่แล้ว มาเป็นหลักประกันให้ธนาคาร เพื่อที่ธนาคารจะได้บังคับชำระหนี้เอากับหลักประกันได้ก่อนเจ้าหนี้อื่น

 

จึงน่าจะถือได้ว่า ธนาคารเป็นผู้ได้ลาภงอก ตามข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

ธนาคารบังคับชำระหนี้จากหลักประกัน ลาภงอกยิ่งเห็นเด่นชัด

 

เมื่อลูกหนี้ตกเป็นผู้ผิดนัด และไม่มีเงินมาชำระหนี้ให้ธนาคาร อันเป็นผลมาจากการยื่นขอฟื้นฟู ธนาคารก็จะบังคับชำระหนี้เอากับหลักประกัน เช่นหักกลบลบหนี้ เอากับบัญชีเงินฝากของลูกหนี้ หรือหักบัญชีจากการจำนำเงินฝาก หรือบังคับจำนอง จำนำ โดยประการอื่น

 

การบังคับเอากับหลักประกันดังกล่าว ทำให้ธนาคารได้รับชำระหนี้ก่อนเจ้าหนี้อื่น ยิ่งทำให้เห็นได้ว่า ธนาคารได้ลาภงอก จากการให้กู้ยืมเงินนั้น

 

ดูว่าลูกหนี้เสียทรัพย์อะไรไป

ปกติศาลไทยจะไม่มองว่า ผู้ได้ลาภงอก ต้องเสียอะไรไปบ้างเป็นค่าตอบแทนเพื่อให้ลาภงอก ส่วนใหญ่ที่ศาลสูงตัดสินมักจะเป็นเรื่องโอนที่ดินให้ผู้ได้ลาภงอก แม้จะเป็นการโอนที่มีค่าตอบแทน อย่างสมเนื้อสมเนื้อกับมูลค่าของที่ดินก็ตาม ศาลมองว่าถ้าที่ดินยังอยู่กับลูกหนี้ เจ้าหนี้ทั้งหลายก็บังคับเอาได้ นำมาเฉลี่ยกันได้ แต่ถ้าแลกมาเป็นเงินสด เผลอแป๊บเดียว ลูกหนี้ก็ใช้หมดแล้ว เท่ากับทรัพย์สินของลูกหนี้มลายหายไปสิ้น เจ้าหนี้จะเสียเปรียบก็เพราะเหตุนี้

 

เทียบเคียงได้กับธนาคารให้เงินกู้ยืมอย่างในกรณีนี้ แม้ลาภงอก ได้แก่การบังคับกับหลักประกันได้ก่อน จะได้มาเพราะธนาคารต้องเอาเงินกู้ไปแลก ศาลไม่น่าจะให้ความสำคัญกับเงินกู้ในฐานะค่าตอบแทน เพราะให้ลูกหนี้กู้ไปได้ไม่นาน ลูกหนี้ก็ใช้หมดแล้ว เจ้าหนี้อื่นไม่มีทางเอาเงินสดมาชำระหนี้ได้ แต่ตัวหลักประกันที่ลูกหนี้ให้แก่ธนาคาร จับต้องได้ มองเห็นได้ง่ายว่าลูกหนี้ต้องเสียทรัพย์อะไรไปเป็นหลักประกัน มูลค่าเท่าใด เป็นความเสียหายของเจ้าหนี้อื่นที่มองเห็นชัด

 

ศาลจะให้ความสำคัญว่า ลูกหนี้ต้องเสียอะไรไปบ้าง ที่ทำให้ทรัพย์สินที่ไม่เพียงพออยู่แล้ว ต้องลดน้อยถอยลงไปอีก

ธนาคารและลูกหนี้มีหน้าที่นำสืบหักล้างข้อสันนิษฐานของกฎหมาย

 

สมมุติว่า ในกรณีข้างต้น บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) เป็นลูกหนี้ หากการบินไทย เข้าทำสัญญากู้เงินและให้หลักประกัน ในช่วงหนึ่งปี ก่อนยื่นขอฟื้นฟู ประมาณวันที่ 26 พฤษภาคม 2562 ถึง วันที่ 26 พฤษภาคม 2563 กฎหมายก็จะสันนิษฐานว่าทั้งธนาคารและการบินไทย ต่างรู้ดีว่า การบินไทย หนี้สินล้นพ้นตัว ไม่มีทรัพย์สินเพียงพอที่จะชำระหนี้ให้บรรดาเจ้าหนี้ทั้งหลายได้

 

ภาระการพิสูจน์ เพื่อหักล้างข้อสันนิษฐานดังกล่าว ตกอยู่กับธนาคารและการบินไทย ทั้งคู่ต้องนำสืบให้ศาลเชื่อว่าการบินไทยไม่ได้มีหนี้สินล้นพ้นตัวขณะทำสัญญากู้ยืมเงินและหลักประกันนั้น และถึงแม้ลูกหนี้จะมีหนี้สินล้นพ้นตัว ตนก็ไม่ทราบถึงข้อความจริงที่ว่านี้

 

พยานหลักฐานที่ทั้งผู้ได้ลาภงอกและลูกหนี้ จะนำสืบให้มีน้ำหนักน่าเชื่อถือว่า ลูกหนี้มีหนี้สินล้นพ้นตัว แล้วตัวเองไม่ทราบนี่ เป็นเรื่องสาหัสสากรรจ์ อยู่สักหน่อย เพราะทั้งธนาคารและลูกหนี้ต่างก็เป็นเซียนมือฉมังในเรื่องการเงินทั้งคู่

 

สัญญาประนีประนอมยอมความกับสายการบินต่างชาติ

มีคำพิพากษาศาลฎีกาหลายฉบับที่ออกมาหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 2540 ที่วางหลักว่า การฉ้อฉล ที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เพราะทรัพย์สินของลูกหนี้ไม่พอชำระหนี้ ไม่ได้มีแต่การโอนที่ดินให้แก่ผู้ได้ลาภงอก ทำให้ลูกหนี้ไม่เหลืออะไร แต่รวมไปถึง การโอนคอนโด โอนรถยนต์ โอนเรือ โอนหุ้นด้วย รวมทั้งสัญญาประนีประนอมยอมความที่ทำให้ทรัพย์สินของลูกหนี้ ร่อยหรอ ลงด้วย

 

ดังนั้นหากการบินไทย ได้ประนีประนอมยอมความกับสายการบินต่างประเทศตามข้อเรียกร้องของสายการบินเหล่านั้น ดังที่ปรากฏในงบการเงินของบริษัท หากสัญญาประนีประนอมยอมความเหล่านั้นทำขึ้นในช่วงหนึ่งปีก่อนการยื่นฟื้นฟู ก็เข้าข้อสันนิษฐานของกฎหมายเรื่องการทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิขอให้เพิกถอนได้

 

ค้ำประกัน จำนอง ที่เป็นการฉ้อฉล

แม้ศาลฎีกายังไม่พิพากษาตรง ๆ ว่าสัญญากู้ยืมเงินเป็นการฉ้อฉลที่เพิกถอนได้ แต่ก็ขยับใกล้เข้ามาทุกที โดยศาลได้พิพากษาแล้วว่า สัญญาค้ำประกัน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 3777/2560) และสัญญาจำนองที่ดิน (คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 19883/2555) เป็นนิติกรรมที่ทำให้เจ้าหนี้เสียเปรียบ เพิกถอนได้

 

เมื่อสัญญาหลักประกันถูกเพิกถอนได้ สัญญาประธานอย่างสัญญากู้ยืมเงิน จึงไม่น่ารอด รวมทั้งสัญญาหลักประกันอื่น เช่นสัญญาจำนำหุ้น สัญญาหักกลบลบหนี้ สัญญาจำนำเงินฝาก แม้แต่หนังสือค้ำประกันของธนาคารที่การบินไทยให้ไว้แก่ผู้ให้เช่าเครื่องบิน

 

ทั้งนี้เจ้าหนี้ รายใดรายหนึ่ง ที่ถูกเอาเปรียบ ไม่ต้องฟ้องลูกหนี้และธนาคารในฐานะจำเลยที่ 1 และจำเลยที่ 2 เป็นคดีขึ้นใหม่ แต่ต้องยื่นคำร้องต่อผู้ทำแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ เพื่อให้ผู้ทำแผน หรือเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์ ยื่นคำร้องขอต่อศาลล้มละลายกลางให้เพิกถอนนิติกรรม ภายในอายุความ หนึ่งปี นับแต่วันที่เจ้าหนี้ได้รู้ถึงการฉ้อฉลนั้น

 

โดย “วิโรจน์ พูนสุวรรณ” ที่ปรึกษากฎหมายอาวุโส และหัวหน้าโครงการพิเศษ สำนักกฎหมายบลูเมนทอล ริชเตอร์ แอนด์สุเมธ ติดต่อได้ที่ wirot@brslawyers.com

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง