รีเซต

หุ่นยนต์แขนกลปลูกป่าแอมะซอนแบบทางไกลข้ามโลกจากสวีเดน !

หุ่นยนต์แขนกลปลูกป่าแอมะซอนแบบทางไกลข้ามโลกจากสวีเดน !
TNN ช่อง16
18 มิถุนายน 2566 ( 00:10 )
124
หุ่นยนต์แขนกลปลูกป่าแอมะซอนแบบทางไกลข้ามโลกจากสวีเดน !

อย่างที่ทราบกันดีว่าทั่วโลกกำลังพยายามอย่างหนักในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทั้งผืนป่าและแหล่งน้ำ แต่ก็ต้องยอมรับว่าความเคลื่อนไหวนี้เป็นไปอย่างช้า ๆ เมื่อเทียบกับประชากรโลกและปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีองค์กรพิทักษ์ป่าหัวใส ดึงหุ่นยนต์แขนกลมาช่วยปลูกป่าแอมะซอน (Amazon) แต่ว่าตัวหุ่นยนต์นั้นถูกสั่งการและเฝ้าดูจากศูนย์ควบคุมในสวีเดนที่อยู่คนละทวีป


ข้อมูลโครงการปลูกป่าแอมะซอนด้วยหุ่นยนต์

จังเกิลคีปเปอร์ส (Junglekeepers) องค์กรไม่แสวงผลกำไรของสหรัฐฯ ทำโครงการอนุรักษ์เพาะพันธุ์ป่าไม้ในพื้นที่กว่า 55,000 เอเคอร์ หรือประมาณ 220 ตารางกิโลเมตร ในเขตเปรูเวียน แอมาซอเนีย (Peruvian Amazonia) ส่วนหนึ่งของป่าแอมะซอนในประเทศเปรู โดยจับมือกับเอบีบี (ABB) บริษัทหุ่นยนต์แขนกลสัญชาติสวิตเซอร์แลนด์ ในการนำยูมิ (YuMi) หุ่นยนต์แขนกลคู่มาเป็นผู้ช่วยในการเพาะพันธุ์ในโครงการอนุรักษ์ป่าแอมะซอนในบริเวณดังกล่าว 


ยูมิมีน้ำหนัก 38 กิโลกรัม รองรับการติดตั้งอุปกรณ์เสริมที่ปลายแขนทั้ง 2 ข้าง รับน้ำหนักสิ่งของได้ข้างละ 500 กรัม โดยการทำงานที่พื้นที่หน้างานในป่าแอมะซอนจะใช้เพียงโต๊ะไม้เป็นแท่นวางยูมิ และรับพลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ทั้งหมดในการทำงานตลอด 6 สัปดาห์ นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมถึงช่วงเดือนมิถุนายน


หลักการทำงานของหุ่นยนต์ช่วยปลูกป่าแอมะซอน

หน้าที่หลักของหุ่นยนต์ยูมิคือการขุดดินเป็นหลุมเล็ก ๆ ด้วยแขนกลข้างหนึ่ง จากนั้นจะหยิบและหยอดเมล็ดพันธุ์ด้วยแขนกลอีกข้าง ก่อนกลบดินให้แน่น แล้วติดป้ายสีกำกับสำหรับอำนวยความสะดวกแก่นักอนุรักษ์ต่อไป โดยรับคำสั่งและติดตามการทำงานจากโรบอตสตูดิโอ (RobotStudio) ศูนย์ควบคุมและออกแบบการทำงานในประเทศสวีเดนที่ห่างจากพื้นที่อนุรักษ์ในเปรูกว่า 12,000 กิโลเมตร ด้วยเทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud)


ศูนย์ควบคุมของเอบีบีมีหน้าที่จำลองขั้นตอนการทำงานของตัวยูมิ ก่อนป้อนคำสั่งลงไป โดยหุ่นยนต์จะทำการเพาะเมล็ดพันธุ์ในอัตราเมล็ดละ 12 วินาที หรือ 3.5 นาทีต่อถาดเพาะ ซึ่งความสามารถของมัน ผู้พัฒนากล่าวว่า ทำให้ทีมอนุรักษ์นำไปฟื้นฟูป่าได้อย่างรวดเร็ว เทียบเท่ากับการปลูกป่าด้วยพื้นที่ 2 สนามฟุตบอลต่อวัน ความช่วยเหลือของแขนกลยังทำให้ทีมอนุรักษ์ มีเวลาออกไปลาดตระเวนป้องกันผู้ลักลอบตัดไม้ที่เป็นอุปสรรคสำคัญในการทำโครงการอนุรักษ์ได้มากขึ้นอีกด้วย


ป่าแอมะซอนนับเป็นแหล่งผลิตออกซิเจนประมาณร้อยละ 16 ของการผลิตออกซิเจนโดยต้นไม้ทั่วโลก และกำลังจะลดลงอย่างต่อเนื่องจากพื้นที่ป่าซึ่งหายไปกว่า 870,000 ตารางกิโลเมตร นับตั้งแต่ปี 1985 เพราะการทำอุตสาหกรรมและการบุกรุกป่าทั้งจากนายทุนและคนในท้องถิ่น ซึ่งถ้าการประเมินความสามารถของหุ่นยนต์ช่วยเพาะพันธุ์เป็นไปในทางที่ดี ก็อาจกลายเป็นกุญแจสำคัญในการต่อสู้กับการทำลายป่าและฟื้นคืนธรรมชาติให้อยู่ร่วมกับมนุษย์อย่างยั่งยืน



ที่มาข้อมูล New Atlas

ที่มารูปภาพ ABB


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง