รีเซต

เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยเปิดตลาด 29.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ

เงินบาทแข็งค่าเล็กน้อยเปิดตลาด  29.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ
TNN ช่อง16
27 มกราคม 2564 ( 08:36 )
115

นายจิติพล พฤกษาเมธานันท์หัวหน้าทีมกลยุทธ์ตลาดการเงินและวางแผนการลงทุน EASY INVEST  บล.ไทยพาณิชย์ (SCBS) เปิดเผยว่า เงินบาทเปิดเช้าวันนี้ที่ 29.96 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐแข็งค่าจากช่วงปิดสิ้นวันทำการก่อนที่29.99 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ประเมินกรอบเงินบาทระหว่างวัน 29.85-30.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ  

ในช่วงคืนที่ผ่านมาตลาดการเงินเคลื่อนไหวผันผวน ดัชนี S&P 500 ของสหรัฐย่อตัวลง 0.1% ตามดัชนี Nasdaq ที่ติดลบ 0.2% จากแรงขายทำกำไรก่อนการรายงานผลประกอบการของบริษัทเทคโนโลยีใหญ่อย่าง Tesla Facebook และ Apple สวนทางกับดัชนี STOXX 600 ของยุโรปกลับปรับตัวบวก 0.64% จากแรงหนุนของหุ้นในกลุ่มธนาคาร ที่ผลประกอบการปรับตัวสูงขึ้นได้ในช่วงวิกฤติโควิด-19

ส่วนดัชนีดอลลาร์ที่อ่อนค่า 0.3% หลังนักลงทุนเปิดรับความเสี่ยงกับสกุลเงินทางเลือกมากขึ้นเมื่อ IMF ปรับประมาณการว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัวขึ้นถึง 5.5% ในปีหน้า จากความสำเร็จในการผลิตวัคซีน อย่างไรก็ดีบอนด์ยีลด์สหรัฐอายุสิบปีแกว่งตัวแคบ และปิดตลาดที่ระดับ 1.04% เนื่องจากนักลงทุนส่วนใหญ่รอฟังผลการประชุม FOMC 28 ม.ค.และทิศทางของนโยบายการคลังในสหรัฐก่อน

ด้านเงินบาทช่วงนี้เคลื่อนไหวในกรอบแคบเนื่องจากธุรกรรมในตลาดมีอยู่เพียงเบาบาง และหลายบริษัทอยู่ในโหมดล็อกดาวน์ ขณะที่นักลงทุนสถาบันก็มีทั้งซื้อและขายเงินดอลลาร์ผสมผสานกันไป คาดว่าต้องรอให้ผ่านช่วงการประชุมFOMC ไปก่อนตลาดเงินถึงจะมีทิศทางที่ชัดเจนขึ้น

นายพูน พานิชพิบูลย์  นักวิเคราะห์ประจำห้องค้าเงินธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า กรอบเงินบาทวันนี้ คาดว่าจะอยู่ที่ระดับ 29.95-30.05 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐตลาดการเงินโดยรวมยังคงผันผวนจากความกังวลปัญหาการระบาดของ COVID-19 และความไม่แน่นอนของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจใหม่ของรัฐบาลสหรัฐฯ แม้ว่า IMF จะมีการปรับประมาณการอัตราการเติบโตเศรษฐกิจโลกดีขึ้นเป็น +5.5% ในปีนี้ และ +4.2% ในปีหน้า จากความหวังการแจกจ่ายวัคซีนและมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐก็ตาม

 นอกจากนี้ ผู้เล่นในตลาดก็อยู่ในภาวะระมัดระวังตัวเนื่องจากสัปดาห์เป็นช่วงที่จะมีการรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนจำนวนมาก ทำให้ ดัชนี S&P500 ของสหรัฐฯ ย่อตัวลง 0.15% ขณะที่ ดัชนีหุ้นขนาดเล็กของสหรัฐฯ Russell 2000 ย่อตัวกว่า 0.6% สะท้อนภาพความกังวลการฟื้นตัวเศรษฐกิจ

ในฝั่งตลาดบอนด์ ผู้เล่นในตลาดยังคงรอท่าทีของเฟดจากการประชุมคณะกรรมการ FOMC ในวันพฤหัสฯ 28 ม.ค. ส่งผลให้บอนด์ยีลด์10ปี สหรัฐฯ แกว่งตัวใกล้ระดับ 1.03% ส่วนในฟากตลาดค่าเงิน สกุลเงินหลักล้วนแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับเงินดอลลาร์สหรัฐ กดดันให้ดัชนีเงินดอลลาร์สหรัฐ (DXY) ปรับตัวลดลง 0.23% แตะระดับ 90.16จุด

สำหรับวันนี้ ตลาดจะยังคงติดตามรายงานผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก อาทิ บริษัทกลุ่มเทคฯ อย่างApple และ Facebook ขณะเดียวกัน รายงานยอดน้ำมันดิบคงคลัง (Crude Oil Inventories) โดย EIA ของสหรัฐฯ ก็จะเป็นที่จัยตามองของผู้เล่นในตลาด โดยเฉพาะฝั่งสินค้าโภคภัณฑ์ โดยหากยอดน้ำมันดิบคงคลังปรับตัวขึ้น สะท้อนความต้องการใช้พลังงานที่ลดลง ในช่วงที่เศรษฐกิจยังคงฟื้นตัวได้ช้าจากปัญหาการระบาดของ COVID-19 อาจจะกดดันให้ราคาน้ำมันดิบย่อตัวลงต่อได้


ทั้งนี้ เรามองว่า ผู้เล่นในตลาดการเงินต่างรอคอยผลการประชุมของเฟด ในวันพฤหัสฯ เพื่อติดตามมุมมองของเฟดต่อแนวโน้มการฟื้นตัวเศรษฐกิจรวมถึง โอกาสในการปรับลดมาตรการอัดฉีดสภาพคล่อง (QE) ทำให้ เงินดอลลาร์มีแนวโน้มแกว่งตัวในกรอบต่อ ส่วนในฝั่งเงินบาท  ยังคงมีทิศทางเคลื่อนไหวในกรอบตามเงินดอลลาร์

ขณะที่ในช่วงปลายเดือนอาจมีผู้นำเข้าทยอยเข้ามาแลกเงินบาท โดยผู้นำเข้าส่วนมากรอเข้าซื้อเงินดอลลาร์สหรัฐหากเงินบาทแข็งค่าใกล้ระดับ 29.90-29.95 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ ทำให้เงินบาทจะยังไม่แข็งค่าไปมากในระยะสั้น ส่วนผู้ส่งออกก็รอขายเงินดอลลาร์สหรัฐที่ระดับ 30.10บาทต่อดอลลาร์ ทำให้เงินบาทจะยังคงเคลื่อนไหวในกรอบใกล้ระดับ 30 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ+/- 10 สตางค์ จนกว่าจะมีปัจจัยที่ทำให้ทิศทางของเงินดอลลาร์หรือฟันด์โฟลว์นักลงทุนต่างชาติมีความชัดเจน



เกาะติดข่าวที่นี่

website: www.TNNTHAILAND.com
facebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE

ข่าวที่เกี่ยวข้อง