ไทยเจอแล้ว! โควิดไฮบริดเดลตาครอน 73 ราย สธ.ยันหายดีแล้วทุกคน
เมื่อวันที่ 23 มีนาคม ที่กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แถลงรายงานผลการเฝ้าระวังสายพันธุ์โควิด-19 ในประเทศไทย ว่า สัปดาห์ที่ผ่านมา มีการถอดรหัสพันธุกรรมเกือบ 2,982 ตัวอย่าง พบเชื้อเดลต้า 1 ราย ที่เหลือทั้งหมดเป็นเชื้อโอมิครอน ฉะนั้น เรียกได้ว่า โอมิครอน มีส่วนแบ่งตลาด 100% รวมถึงผู้เดินทางมาจากต่างประเทศก็เป็นเชื้อโอมิครอนทั้งหมด ไม่เหลือเชื้อเดลต้าแล้ว ซึ่งจะมีผลถึงเรื่องลูกผสม หรือ ไฮบริด ที่เป็น “เดลตาครอน” เพราะเมื่อเชื้อเดลต้าหายไป โอกาสที่จะผสมกันอีกก็ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้แล้ว
ทั้งนี้ การถอดรหัสพันธุกรรมดังกล่าว แบ่งเป็น เชื้อโอมิครอน สายพันธุ์ย่อย BA.1 BA.2 BA.3 พบว่า ไทยยังไม่มี BA.3 ขณะที่ BA.2 เริ่มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จากเมื่อ 4-5 สัปดาห์ที่แล้วพบ ร้อยละ 18.5 ขณะนี้ขึ้นเป็น ร้อยละ 78.5 เราจึงคาดได้ไม่ยาก เพราะ BA.2 แพร่เร็วกกว่า BA.1 ถึง 1.4 เท่า ฉะนั้น ในเวลาถัดไป เราจะเห็น BA.2 ครองตลาดมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนความรุนแรงว่ามากกว่าหรือไม่ ยังไม่พบความแตกต่าง แต่แพร่เร็วกว่า ก็ทำให้ตรวจพบเชื้อได้มากกว่า
“ที่เราตรวจกว่า 2,000 ตัวอย่าง มาจากการสุ่มตรวจประชาชนในประเทศ บุคลากรสาธารณสุข คลัสเตอร์ 50 คนขึ้นไป คนที่เดินทางมาจากต่างประเทศ คนที่มาอาการรุนแรง เสียชีวิต รวมถึงคนที่รับวัคซีนครบแล้ว ฉะนั้น ไม่ว่ากลุ่มใดวันนี้ BA.2 เป็นสายพันธุ์หลักที่พบ อัตราผู้เสียชีวิต BA.2 อยู่ที่ ร้อยละ 60 ภาพรวม ร้อยละ 80 ดังนั้น เราไม่ได้เจอผู้เสียชีวิต BA.2 มากกว่าสัดส่วนในภาพรวม โดยสรุปเบื้องต้น BA.2 ไม่ได้มีอิทธิฤทธิ์ที่จะทำให้เสียชีวิตมากขึ้น” นพ.ศุภกิจ กล่าว
อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์ฯ กล่าวว่า สำหรับ “เดลตาครอน” ที่มีรายงานว่า เกิดการปนเปื้อนจากการตรวจเชื้อ ในประเทศไซปรัส จึงเรียนกว่า การติดเชื้อ 2 ตัวในคนเดียว มี 2 กรณี คือ 1.ตรวจพบทั้ง 2 สายพันธุ์ใน 1 คน ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกัน กับ 2.เกิดการผสมพันธุ์กัน แล้วเกิดเป็นไฮบริด เป็นการเกิดตัวใหม่ที่มี 2 สายพันธุ์อยู่ในตัวเดียว ขณะนี้ สิ่งที่เจอคือ เชื้อโอมิครอนสายพันธุ์ย่อย BA.1 แล้วเจอกับเชื้อเดลต้าสายพันธุ์ย่อย AY4 มาอยู่ในไวรัสตัวเดียวกัน เป็นเดลตาครอน ซึ่งขณะนี้มีการรายงานเข้าจีเสด 4,000 กว่าราย ได้รับการยอมรับ 64 ราย ส่วนใหญ่อยู่ในฝรั่งเศส 50 กว่าราย ส่วนที่รอใน 4,000 กว่าราย คือ รอวิเคราะห์เพิ่มเติมว่าจะใช่เชื้อเดลตาครอนหรือไม่ อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก จัดให้เดลตาครอนอยู่ในสายพันธุ์ที่ต้องติดตาม ยังไม่ใช่สายพันธุ์ที่น่าสนใจ เพราะสูงสุดคือ สายพันธุ์ที่น่าห่วงกังวล ฉะนั้น ยังเป็นเด็กประถม ไม่ได้มีอะไรน่าตื่นเต้นมาก
“ใน 4,000 กว่าราย ที่ส่งเข้าจีเสด มีประเทศไทยส่งเข้าไป 73 ราย ถ้าใช่ ก็ไม่มีปัญหาอะไร อย่างที่เรียนว่า หากเชื้อเดลต้าลดลงเรื่อยๆ โอกาสจะผสมกันก็จะเกิดขึ้นได้ยาก เพียงแต่ว่าเดลตาครอนที่พบมีอิทธิฤทธิ์อะไรหรือไม่ เช่น แพร่เร็วขึ้น อนาคตก็จะเห็นเดลตาครอนครองตลาด ซึ่งตอนนี้ยังไม่เห็นวี่แววนั้น ส่วนความรุนแรงก็ยังไม่มีข้อมูล” นพ.ศุภกิจ กล่าวย้ำ
ผู้สื่อข่าวถามถึงอาการของผู้ติดเชื้อเดลตาครอน 73 ราย ของประเทศไทย นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ข่าวจากอังกฤษพบมาก แต่ยังไม่ได้มีการส่งข้อมูลเข้าไป ส่วนของไทยเมื่อถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัว เมื่อเปรียบเทียบกันพบ 73 รายเข้าข่ายว่าเป็น เดลตาครอน แต่ผู้เชี่ยวชาญยังต้องช่วยกันดูว่าสรุปแล้วใช่จริงหรือไม่ ทั้งหมดส่วนใหญ่ตัวอย่างที่ได้มาเจอเป็นเชื้อเดลตาครอน มีส่วนของเชื้อเดลต้าก็มักจะเกิดในช่วงที่เชื้อเดลต้ากับเชื้อโอมิครอนชุลมุนกันมาก ไม่ใช่ตัวอย่างที่เกิดใน 1-2 สัปดาห์นี้
“ส่วนใหญ่ จะเป็นตัวอย่างตั้งแต่เดือนธันวาคม 2564 – มกราคม 2565 ขณะนั้นมีทั้งเชื้อเดลต้าและเชื้อโอมิครอนอยู่ด้วยกัน คนไข้ทั้งหมด 73 ราย หายเรียบร้อยดีแล้ว ไม่มีเสียชีวิต อาจจะเป็นพันธุ์ผสมอันหนึ่งที่ไม่ได้หนักหนา และถ้าไม่แพร่เร็ว อีกสักระยะก็จบ แม้ว่าจะเป็นสายพันธุ์หนัก แต่ไม่แพร่เร็วเหมือนเชื้อเบต้าที่หายไปแล้ว” นพ.ศุภกิจ กล่าว
นพ.ศุภกิจ กล่าวอีกว่า เท่าที่เห็นเชื้อโอมิครอนคุณสมบัติอย่างหนึ่ง คือ หลบภูมิคุ้มกันได้ค่อนข้างดี จะเห็นคนติดเชื้อเดลต้ามาแล้ว ไม่ได้การันตีว่าจะไม่ติดเชื้อโอมิครอนซ้ำ จึงเป็นอีกได้ เพราะฉะนั้นวัคซีนไม่ว่าอะไรฉีด 2 เข็ม นานพอควร ภูมิคุ้มกันจะตก ป้องกันติดเชื้อไม่ได้จะต้องมากระตุ้น แต่ช่วยป้องกันป่วยตายได้พอสมควร แต่ถ้าภูมิฯ ยิ่งสูงยิ่งช่วยได้มากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่ม 608 ซึ่งอัตราการติดเชื้อเสียชีวิตยังสูง
นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า สำหรับกรณีฮ่องกงที่พบสายพันธุ์โอมิครอน BA.2.2 ระบบของจีเสดยังไม่พบข้อมูลของ BA.2.2 และ BA.2.3 หมายความว่า ยังไม่ได้กำหนดในจีเสด ดังนั้น ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอว่าสายพันธุ์นี้มีความรุนแรง หนีวัคซีนหรือไม่ รวมถึงฮ่องกงเองก็ยังไม่ออกมายืนยันว่าที่พบผู้เสียชีวิตเยอะเกิดจาก BA.2.2 หรือไม่
“ส่วนประเทศไทยพบ BA.2.2 14 ราย เดินทางจากต่างประเทศ 8 ราย ส่วน BA.2.3 เจอเยอะกว่า คือในประเทศ 21 ราย จากต่างประเทศ 34 ราย สอดคล้องกับข้อมูลในจีเสดที่พบว่า BA.2.2 มีน้อยกว่า BA.2.3 ด้วยซ้ำ และการกลายพันธุ์นี้ไม่มีผลอะไรมาก ในท้ายที่สุดก็อาจหายไป คาดว่าอีกระยะจะมีการสรุปข้อมูลกัน” นพ.ศุภกิจ กล่าว