พี่โฮ่งน้องเหมียวติดโควิดอื้อ ผลศึกษาพบติดเชื้อไม่มีอาการ-ยังไม่พบแพร่กลับสู่คน
พี่โฮ่งน้องเหมียวติดโควิดอื้อ ผลศึกษาพบติดเชื้อไม่มีอาการ-ยังไม่พบแพร่กลับสู่คน
พี่โฮ่งน้องเหมียวติดโควิดอื้อ - วันที่ 1 ก.ค. บีบีซีรายงานว่า นักวิทยาศาสตร์พบเชื้อไวรัสโคโรนาพันธุ์ซาร์ส 2 ซึ่งก่อโรคโควิด-19 ในบรรดาสัตว์เลี้ยงได้แก่สุนัขและแมวของผู้ที่ติดเชื้อ พร้อมแนะนำให้ผู้ที่ติดเชื้อระมัดระวังการนำเชื้อไปติดพวกมัน เช่นเดียวกันกับที่ต้องระวังไปติดผู้อื่น
การค้นพบดังกล่าวมาจากผลการศึกษาที่เก็บตัวอย่างจากการสวอปสัตว์เลี้ยง 310 ตัว ในบ้านของผู้ติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 จำนวน 196 แห่ง และใช้วิธีการตรวจด้วยอาร์ทีพีซีอาร์ พบแมว 6 ตัว และสุนัข 7 ตัว มีผลบวก แปลว่ามีเชื้อ และอีก 54 ตัว พบแอนติบอดี แสดงว่าเคยติดเชื้อ
นายแพทย์เอลส์ โบรเอนส์ จากมหาวิทยาลัยอูเทรกต์ ประเทศเนเธอร์แลนด์ กล่าวว่า หากรู้ตัวว่าติดเชื้อก่อโรคโควิด-19 ก็ควรระวังไม่ให้ไปติดสัตว์เลี้ยงเหมือนกับการระวังไม่ให้ไปติดคนอื่น
"ความน่ากังวลไม่ใช่ว่าพวกสัตว์เลี้ยงเค้าจะป่วยหรืออะไร แต่เป็นเรื่องการที่พวกเค้าจะกลายเป็นแหล่งรังโรคที่อาจแพร่เชื้อกลับมาสู่มนุษย์ได้" นพ.โบรเอนส์ ระบุ
รายงานระบุว่า แม้นักวิทยาศาสตร์ยังไม่พบหลักฐานการแพร่จากสัตว์เลี้ยงมาสู่มนุษย์ แต่การตรวจหานั้นทำได้ยากยิ่งในสถานการณ์การแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นระหว่างมนุษย์สู่มนุษย์ขณะนี้ ส่วนสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อนั้นส่วนใหญ่ไม่มีอาการป่วยใดๆ
การวิจัยนี้เกิดขึ้นในช่วง 200 วันที่ผ่านมา และผลการศีกษาที่ได้นั้นจะถูกนำเสนอต่อคณะกรรมาธิการด้านจุลชีววิทยาและโรคติดเชื้อแห่งสหภาพยุโรป ขณะที่ทางการรัสเซียเริ่มฉีดวัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 ให้กับสัตว์เลี้ยงตามบ้านแล้ว
สำหรับผลการศึกษาโดยละเอียดนั้นพบร้อยละ 4.2 มีภาวะการติดเชื้อ และร้อยละ 17.4 เคยติดเชื้อ การติดตามอาการของพวกมันพบว่า สัตว์เลี้ยงทั้งหมดสามารถหายป่วยและสร้างภูมิคุ้มกันตามธรรมชาติได้ คาดว่าพวกมันติดเชื้อจากมนุษย์ และไม่สามารถบอกได้ว่าสัตว์เลี้ยงเหล่านี้จะแพร่เชื้อกลับมาสู่มนุษย์ได้หรือไม่
อีกหนึ่งผลการศึกษามาจากมหาวิทยาลัยแกลฟ์ รัฐออนแทนริโอ ประเทศแคนาดา พบว่าสัตว์เลี้ยงที่นอนหลับอยู่บนเตียงเดียวกันกับเจ้าของมีความเสี่ยงที่จะติดเชื้อมากเป็นพิเศษ
การศึกษาดังกล่าวเก็บตัวอย่างจากแมว 48 ตัว และสุนัข 54 ตัว จากบ้าน 77 หลัง นำมาทดสอบหาแอนติบอดีต่อเชื้อก่อโรคโควิด-19 และสัมภาษณ์เจ้าของถึงประวัติการอยู่ร่วมกันกับสัตว์เลี้ยง
ผลการทดสอบพบว่า มีแมวเคยติดเชื้อถึงร้อยละ 67 และสุนัขเคยติดเชื้อถึงร้อยละ 43 เปรียบเทียบกับสัตว์เลี้ยงชนิดเดียวกันในสถานสงเคราะห์ที่เคยติดเชื้อเพียงร้อยละ 9 และแมวจรที่เคยติดเชื้อเพียงร้อยละ 3
หนึ่งในสี่ของสัตว์เหล่านี้พบแสดงอาการป่วย ได้แก่ เบื่ออาหาร และหายใจลำบาก แต่ส่วนใหญ่แล้วมีอาการเล็กน้อย มีอาการวิกฤตเพียง 3 ตัวเท่านั้น ผู้วิจัยยังมองว่า แมวนั้นมีสภาพทางชีววิทยาที่ทำให้มันติดเชื้อก่อโรคโควิดได้ง่ายกว่าสุนัข ทั้งยังใกล้ชิดเจ้าของกว่าด้วย
ด้านศาสตราจารย์เจมส์ วูด คณะบดีคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ประเทศอังกฤษ กล่าวว่า การศึกษาข้างต้นนั้นมีความน่าเชื่อถือสูง ถือเป็นหลักฐานเพิ่มเติมถึงปริมาณสัตว์เลี้ยงที่ติดเชื้อจากเจ้าของได้
ศ.วูด ระบุว่า การศึกษาจากเนเธอร์แลนด์บ่งชี้ว่าสัตว์เลี้ยงราวร้อยละ 20 ที่ใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้ออาจติดเชื้อได้และหายเป็นปกติไดเป็นส่วนใหญ่ตามธรรมชาติเหมือนกันกับมนุษย์ โดยสัตว์เลี้ยงส่วนใหญ่ไม่มีอาการ และดูเหมือนว่าสัตว์เลี้ยงไม่สามารถแพร่เชื้อได้ระหว่างกัน หรือกลับมาที่คน