ครั้งแรก! อียิปต์ใช้วิธีดิจิทัล 'เผยพระพักตร์ ตรวจพระวรกาย' มัมมี่ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1
ไคโร, 29 ธ.ค. (ซินหัว) -- เมื่อวันอังคาร (28 ธ.ค.) ซาฮี ฮาวาส นักอียิปต์วิทยาชื่อดัง เปิดเผยว่าคณะนักวิจัยของอียิปต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล ตรวจสอบสิ่งที่ห่อหุ้มมัมมี่ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 (King Amenhotep I) เป็นครั้งแรก ซึ่งช่วยเผยความลับหลายประการเกี่ยวกับฟาโรห์ผู้ปกครองอียิปต์ช่วง 1525-1504 ปีก่อนคริสต์กาล
ฮาวาส ซึ่งเคยเป็นรัฐมนตรีกระทรวงโบราณวัตถุอียิปต์ ระบุว่าคณะนักวิจัยใช้เทคโนโลยีเอ็กซเรย์ขั้นสูง การสแกนด้วยเครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT) และโปรแกรมซอฟต์แวร์คอมพิวเตอร์ขั้นสูง เพื่อมองผ่านสิ่งที่ห่อหุ้มมัมมี่ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 อย่างปลอดภัย โดยไม่มีการสอดวัตถุใดเข้าไปหรือสัมผัสกับตัวมัมมี่
ทีมนักวิจัย ประกอบด้วยซาฮาร์ ซาลีม ศาสตราจารย์ด้านรังสีวิทยา คณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยไคโร และคณะผู้เชี่ยวชาญด้านรังสีวิทยาโบราณวัตถุ เปิดเผยพระพักตร์ อายุ และภาวะสุขภาพของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 เป็นครั้งแรก ตลอดจนความลับอีกมากมายเกี่ยวกับกระบวนการทำมัมมี่และการฝังใหม่ของมัมมี่ฟาโรห์องค์นี้
การวิเคราะห์ทางดิจิทัลพบว่าพระพักตร์ของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 มีความคล้ายคลึงกับฟาโรห์อาโมสที่ 1 ผู้เป็นบิดา โดยคณะนักวิจัยคาดว่าแอเมนโฮเทปที่ 1 มีพระพลานามัยสมบูรณ์เมื่อพระองค์สิ้นพระชนม์ขณะมีชนมพรรษา 35 พรรษา เนื่องจากไม่ตรวจพบโรคหรือบาดแผลใดๆ ที่บ่งชี้ว่าเป็นสาเหตุของการสิ้นพระชนม์
คณะนักวิจัยระบุว่าสมองของฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 ไม่ได้ถูกนำออกระหว่างกระบวนการทำมัมมี่ แตกต่างจากผู้ปกครองส่วนใหญ่ในอาณาจักรสมัยใหม่ อาทิ ฟาโรห์ตุตันคาเมน และฟาโรห์แรเมซีสที่ 2 ซึ่งสมองถูกนำออกแล้วฝังวัสดุและเรซินไว้ภายในกะโหลกศีรษะ
ทั้งนี้ มัมมี่ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 ถูกค้นพบเมื่อปี 1881 ในสถานที่เก็บพระศพราชวงศ์แห่งวิหารพระศพเดียร์ เอล-บาฮารี (Deir-el Bahri) ในเมืองลักซอร์ ซึ่งนักบวชแห่งราชวงศ์ที่ 21 ฝังศพและซ่อนมัมมี่ฟาโรห์ทั้งชายและหญิงหลายองค์ก่อนหน้านี้ เพื่อป้องกันการปล้นหลุมศพที่เกิดขึ้นหลายครั้ง
มัมมี่ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 เป็นมัมมี่ราชวงศ์เพียงองค์เดียวที่ไม่เคยถูกแกะสิ่งที่ห่อหุ้มออกในสมัยใหม่ เพื่อรักษาความงดงามอันเป็นเอกลักษณ์ไว้ ซึ่งถูกปกคลุมด้วยหน้ากากฝังศพและพวงมาลัยดอกไม้หลากสีสัน
อนึ่ง ฟาโรห์แอเมนโฮเทปที่ 1 เป็นโอรสของฟาโรห์อาโมสที่ 1 ซึ่งเป็นผู้พิชิตราชวงศ์ฮิกซอส (Hyksos) และเป็นผู้สถาปนาอาณาจักรใหม่แห่งอารยธรรมอียิปต์โบราณ