รีเซต

Space Forge ดาวเทียมนำกลับมาใช้ใหม่ เตรียมขึ้นสู่วงโคจร

Space Forge ดาวเทียมนำกลับมาใช้ใหม่ เตรียมขึ้นสู่วงโคจร
TNN ช่อง16
28 ตุลาคม 2565 ( 23:31 )
104

สเปซ ฟอร์ก (Space Forge) สตาร์ทอัปด้านดาวเทียมและอวกาศ จากเมืองคาร์ดิฟฟ์ สหราชอาณาจักร ประกาศเตรียมปล่อยแพลตฟอร์มดาวเทียมแบบนำกลับมาใช้ใหม่ได้ครั้งแรกในเดือนพฤศจิกายนปี 2022 นี้ ส่งท้ายปีด้วยก้าวใหม่ของวงการดาวเทียมและอวกาศ


ภาพจาก Space Forge

 เตรียมส่งแพลตฟอร์มดาวเทียมทดสอบครั้งแรก

โดยบริษัทเตรียมส่งแพลตฟอร์ม ฟอร์กสตาร์-ศูนย์ (ForgeStar-0) ขึ้นสู่อวกาศเพื่อเป็นการเตรียมความพร้อมรองรับภารกิจด้านอวกาศในอนาคต โดยได้ทำงานร่วมกับทีมเวอร์จิน ออร์บิต (Virgin Orbit) บริษัทในเครือเวอร์จิน กรุ๊ป (Virgin Group) ของมหาเศรษฐีริชาร์ด แบรนสัน (Richard Branson)  ซึ่งให้บริการปล่อยตัวดาวเทียมขนาดเล็ก และจะเป็นผู้ดูแลระบบการปล่อยดาวเทียมในครั้งนี้


สำหรับกำหนดการของ ฟอร์กสตาร์-ศูนย์ (ForgeStar-0)  จะปล่อยตัวในการงานสตาร์ต มี อัป (Start Me Up) ของ เวอร์จิน ออร์บิต (Virgin Orbit) ในเดือนพฤศจิกายน ซึ่งการปล่อยตัวครั้งนี้ ซึ่งคาดว่าจะเดินทางด้วยยานลอนช์เชอร์ วัน (LauncherOne) พร้อมกับดาวเทียมอื่น ๆ ทั้งหมด 9 ดวง โดยการปล่อยตัวครั้งนี้ จะเป็นการทดสอบการติดตั้งระบบปกป้องดาวเทียม ขณะเดินทางผ่านความร้อนของการกลับเข้าสู่ชั้นบรรยากาศ โดยกำหนดเป้าหมายการลงจอดบริเวณนอกชายฝั่งของสหราชอาณาจักร


ภาพจาก ภาพจาก Space Forge

 ดาวเทียมใช้ซ้ำ หนทางใหม่ของการลดขยะอวกาศ

แอนดรูว์ เบคอน (Andrew Bacon) ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยีและผู้ร่วมก่อตั้งบริษัท สเปซ ฟอร์ก (Space Forge) กล่าวว่าภารกิจนี้เป็นการเตรียมความพร้อม เพื่อภารกิจการส่งดาวเทียมประเภทใหม่ ที่สามารถปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศและเดินทางกลับเข้ามาได้โดยที่ไม่ทิ้งเศษขยะใดไว้เบื้องหลัง 


ภาพจาก Unsplash

โดยปัจจุบันมีข้อมูลจากองค์การอวกาศยุโรป หรือ อีเอสเอ (European Space Agency : ESA) ระบุว่านับเป็นเวลากว่า 60 ปีที่มนุษย์เริ่มส่งวัตถุขึ้นสู่อวกาศกว่า 6,050 ครั้ง ส่งผลให้มีวัตถุที่ยังคงลอยอยู่ในอวกาศกว่า 28,160 ชิ้น อีกทั้งการส่งจรวดหรือดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแต่ละครั้ง รวมถึงโครงการสำรวจอวกาศต่าง ๆ ยังสร้างขยะอวกาศ เช่น เศษซากของดาวเทียมที่ไม่ใช้แล้ว ชิ้นส่วนของจรวดขับเคลื่อน หรือแม้แต่เศษซากของสีที่หลุดร่อนออกจากวัตถุเหล่านี้ ทิ้งให้ลอยอยู่ท่ามกลางสภาวะไร้แรงโน้มถ่วง อุตสาหกรรมอวกาศจึงนับว่าเป็นหนึ่งอุตสาหกรรมที่ก่อมลพิษมากที่สุดในโลก ดังนั้นการเริ่มต้นจากการพัฒนาดาวเทียมที่สามารถใช้ซ้ำได้ ก็อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นสำคัญของการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศแบบใหม่ที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมยิ่งขึ้น



ขอบคุณข้อมูลจาก

insidermedia

esa

bbc

reut

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง