ศบค.เผย คลัสเตอร์งานศาสนายังพรึบ ห่วงอัตราครองเตียงสงขลา ย้ำ พาผู้สูงวัยฉีดวัคซีน
เมื่อวันที่ 24 มีนาคม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ศูนย์บริหารสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) พญ.อภิสมัย ศรีรังสรรค์ ผู้ช่วยโฆษกศบค. กล่าวถึงสถานการณ์การติดเชื้อโควิด-19 ของโลกว่า วันนี้ประเทศที่เราติดตามคือ เกาหลีใต้ 7 วัน มีผู้ติดเชื้อรายใหม่รวม 2,797,983 ราย คิดเป็นรายวันอยู่ที่ 4 แสนกว่า ซึ่งมีแนวโน้มที่จะลดลง ส่วนอเมริกาและยุโรป มีทิศทางการปรับโควิด-19 เป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งการรายงานตัวเลขอาจจะดูลดลง โดยการรายงาน 7 วันจะอยู่ที่ 198,378 ราย ทางบ้านเรา เวียดนามวันนี้ 1,075,132 ราย ถ้าเทียบเป็นวันจะอยู่ที่ 1.3 แสน มาเลเซียพอๆ กับบ้านเราตัวเลขอยู่ที่ 20,000 ต่อวัน ตัวเลขการรายงานแต่ละประเทศในตอนนี้จะไม่เน้นรายงานผู้ติดเชื้อรายใหม่ แต่จะเน้นจำนวนผู้ป่วยที่จะต้องใช้สาธารณสุขของแต่ละประเทศ เพื่อให้การดูแลประชาชนนั้นปลอดภัย
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า สำหรับตัวเลขในบ้านเรานั้น อยู่ที่ 27,024 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้ป่วยที่มีอาการปอดอักเสบ 1,553 ราย และผู้ป่วยที่ใช้เครื่องช่วยหายใจอยู่ที่ 583 ราย ซึ่งถ้าดูรายงานผู้เสียชีวิตตัวเลข 82 ราย แต่ถ้าดูทิศทางแนวโน้มของกราฟจะแสดงให้เห็นว่า ผู้ป่วยการนับจำนวนผู้ติดเชื้อมีเส้นตรงยาว หรือทรงตัว ไม่ได้เพิ่มขึ้นมาก ส่วนสิ่งที่สธ. กำลังเฝ้าระวังคือตัวเลขผู้ป่วยเสียชีวิต และอาการหนัก ซึ่งจพเป็นต้องเทียบเคียงกับระบบสาธารณสุขที่จะรองรับ
“สำหรับรายงานผู้ติดเชื้อสูงสุด 10 จังหวัดแรก พบว่า กรุงเทพมหานคร นครศรีธรรมราช ชลบุรี ตัวเลขค่อนข้างลดลง สมุทรปราการ สงขลา เป็นอันดับ 5 สมุทรสาคร ร้อยเอ็ด ระยอง ราชบุรี และอันดับ 10 เป็นฉะเชิงเทรา คลัสเตอร์ที่ ศบค.ชุดเล็กกังวลคือกลุ่มบุคลากรทางสาธารณสุข ซึ่งมีรายงานในกรุงเทพมหานคร(กทม.) เช่น โรงพยาบาลศิริราช รพ.กรุงเทพคริสเตียน รพ.พระราม 9 ในส่วนของโรงเรียน โรงงาน สถานประกอบการ ลดน้อยลงอย่างชัดเจน ทั้งนี้ เพราะประชาชนเข้าใจ เข้มงวดในมาตรการ” พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ส่วนกลุ่มที่ยังคงพบเป็นคลัสเตอร์อย่างต่อเนื่องคือ พิธีกรรมทางศาสนา ไม่ว่าจะเป็น มหาสารคาม งานบวช งานบุญ กาฬสินทร์ แต่ที่สธ.สนใจเป็นพิเศษคืออัตราการครองเตียง จังหวัดที่ติดเชื้อ 1-10 เทียบกับอัตราครองเตียงพบว่า ยังคงพอรองรับได้ โดยทั้งประเทศ มีผู้ป่วยครองเตียงอยู่ร้อยละ 26.4 ถือว่ามีเตียงที่ยังสามารถรองรับผู้ป่วยระดับ 2-3 ได้อีกกว่าร้อยละ 70 ส่วนจังหวัดที่อัตราการครองเตียงน่าเป็นห่วงคือสงขลา ซึ่งมีการครองเตียงอยู่ร้อยละ 58.40 แต่ในหลายๆ ส่วน ยังคงต่ำ เพราะส่วนใหญ่ที่ติดเชื้อค่อนข้างอายุน้อยและสามารถรับการรักษาที่บ้านหรือรพ.สนามได้
พญ.อภิสมัย กล่าวต่อไปว่า สำหรับการรายงานจำนวนผู้เสียชีวิตในวันนี้ ยังคงเป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อและมีอาการรุนแรงจนถึงขั้นเสียชีวิต ซึ่งคือผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว โดยขอเน้นย้ำทุกครั้งว่าให้เข้ารับวัคซีน โดยวันนี้ 82 ราย มีถึง 46 รายที่ยังไม่ได้รับวัคซีนแม้แต่เข็มที่ 1 และมี 6 รายที่เพิ่งได้รับวัคซีนเข็มที่ 1 ไม่นาน และมี 16 รายที่รับวัคซีนแล้ว 2 เข็ม แต่ไม่ได้รับเข็มกระตุ้น และอีก 6 รายเพิ่งได้รับเข็มกระตุ้นแต่อาจจะยังไม่นานพอที่จะมีภูมิคุ้มกัน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับเข็ม 3 แล้ว เป็นกลุ่มที่มีโรคประจำตัวทุกราย และในช่วงนี้คนที่อยู่ในกลุ่มเสี่ยงไม่ว่าจะเป็น สูงอายุ มีโรคประจำตัว ต้องรณรงค์ให้รับวัคซีนอย่างต่อเนื่อง
“หากดูจากผลการรับวัคซีน กลุ่มที่ได้รับเข็ม 3 นั้น ยังเป็นตัวเลขที่ไม่ค่อยขยับ แต่ถ้าดูแยกตามเขตสุขภาพทั้ง 12 เขต พบว่า มีกลุ่มที่ได้รับวัคซีนครบ 2 เข็มแล้วตั้งแต่ 30 พ.ย. 64 ซึ่งเข้าเกณฑ์ที่ควรจะต้องได้รับเข็ม 3 แต่พบว่าผู้ที่ได้รับเข็ม 3 ยังน้อยเมื่อเทียบกับเป้าหมาย เช่น เขต 8 ยังน้อย ได้แก่ อุดรราชธานี สกลนคร นครพนม เลย หนองคาย หนองบัวลำภู และบึงกาฬ ส่วนอีกเขตคือ 12 ได้แก่ สงขลา สตูล ตรัง พัทลุง ปัตตานี ยะลา นราธิวาส ส่วนกลุ่มเสี่ยงที่สำคัญที่ติดเชื้อและมีโอกาสป่วยหนัก จะเห็นว่ากลุ่มผู้สูงอายุ รับวัคซีนเข็มที่ 2 ไปแล้วร้อยละ 79 แต่เข็ม 3 ยังอยู่ที่ร้อยละ 33.6 และในกลุ่มเด็ก 5-11 ปี มีบางส่วนได้รับวัคซีนแล้วแต่ยังน้อยอยู่ ทั้งนี้ กลุ่ม 608 ก็ยังจะต้องมารับวัคซีนโดยเร็ว” พญ.อภิสมัย กล่าว
พญ.อภิสมัย กล่าวว่า ในเรื่องของเด็กที่ผ่านมามีการจัดการการติดเชื้อดีขึ้น ไม่ว่าจะการฉีดวัคซีน การคัดกรอง อย่างเข้มงวด โดยแยกกลุ่มเสี่ยงออกและประสานไปยังหน่วยงานร่วมกันดูแลเด็กๆให้เข้าสู่กระบวนการการรักษา โดยวันนี้ ได้มีการนำเสนอห้องเรียนพิเศษ เพื่อช่วยให้เด็กติดเชื้อไม่เสียสิทธิในการสอบ เรียน รวมๆ แล้วมีโรงเรียนที่เก็บข้อมูลทั้งหมด 317 รร. ผู้สมัครสอบม. 1-4 มีทั้งสิ้น 124,478 ราย ในจำนวนนี้พบว่าติดเชื้อ 1,205 ราย และกลุ่มเสี่ยงที่อาจกลายเป็นผู้ติดเชื้ออีก 1,180 ราย
พญ.อภิสมัย กล่าวในตอนท้ายว่า ทั้งนี้ ในเทศกาลสงกรานต์ หลายครอบครัวก็จะพาเด็กๆ เดินทาง ท่องเที่ยว อาจจะมีการกลับไปพบญาติผู้ใหญ่ สังสรรค์ โดยทางที่ประชุมมีการหารือ โดยเน้นย้ำ เรื่องการจัดงานสงกรานต์ แต่ต้องทำในลักษณะที่อยู่ภายใต้มาตรฐานสธ. โดยจะต้องศึกษารายละเอียดก่อนเดินทาง สิ่งสำคัญคือ ห้ามการละเล่นที่มีการใกล้ชิด งดสาดน้ำ ปะแป้ง งดจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอลล์ในที่สาธารณะ หากตั้งใจจะเดินทาง ให้เช็คเอกสารอย่างสนามบิน รถบัส อาจจะขอตรวจเอกสารการฉีดวัคซีน ผลตรวจเอทีเค ต้องเตรียมการให้พร้อมและขอให้ระมัดระวังผู้ที่มีประวัติเสี่ยงด้วย และขอให้เลี่ยงการรับประทานอาหารในพื้นที่ปิดและใช้เวลานานๆ จึงอยากให้มีการซักประวัติความเสี่ยง ตรวจเอทีเคก่อน และเน้นย้ำไปยังผู้สูงอายุ และเด็กเล็ก เราจะต้องสวมหน้ากากอนามัย ล้างมือ ขณะพูดคุย เราต้องป้องกันผู้สูงอายุของเราให้ปลอดภัย พาไปฉีดวัคซีนก่อนจะถึงวันสงกรานต์ และเมื่อไปเฉลิมฉลองอยากให้กลับบ้านด้วยความสุข ปลอดภัย