รีเซต

การศึกษา 'วัคซีนมะเร็งเต้านม' ระยะ 1 ในสหรัฐฯ เผยข้อมูลเชิงบวก

การศึกษา 'วัคซีนมะเร็งเต้านม' ระยะ 1 ในสหรัฐฯ เผยข้อมูลเชิงบวก
Xinhua
10 ธันวาคม 2566 ( 12:49 )
58
การศึกษา 'วัคซีนมะเร็งเต้านม' ระยะ 1 ในสหรัฐฯ เผยข้อมูลเชิงบวก

(แฟ้มภาพซินหัว : ผู้คนเยือนสวนสาธารณะเนชันแนล มอลล์ ในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. เมืองหลวงของสหรัฐฯ วันที่ 29 มี.ค. 2022)

ลอสแอนเจลิส, 10 ธ.ค. (ซินหัว) -- อานิกซ์ซา ไบโอไซเอนซ์เซส (Anixa Biosciences) และคลีฟแลนด์ คลินิก (Cleveland Clinic) ประกาศว่าการทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ของวัคซีนมะเร็งเต้านมมีผลลัพธ์เชิงบวก โดยหวังได้รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาของสหรัฐฯ (FDA) ให้จัดสรรวัคซีนดังกล่าวสู่สาธารณะภายหลังการทดลองระยะ 2 และระยะ 3 เสร็จสมบูรณ์

จอร์จ โธมัส บัดด์ แพทย์ประจำศูนย์มะเร็งทาสซิกของคลีฟแลนด์ คลินิก และนักวิจัยหลักของการศึกษานี้ เป็นผู้นำเสนอข้อมูลดังกล่าวในการนำเสนอผ่านโปสเตอร์ชื่อว่า "การทดลองวัคซีนแอลฟา-แลคตัลบูมิน ระยะที่ 1 ในมะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวตอบรับกับฮอร์โมนหรือยีนส์เฮอร์ทู (TNBC) ซึ่งผ่าตัดได้ และผู้ป่วยที่มีความเสี่ยงทางพันธุกรรมสูงสำหรับมะเร็งชนิดนี้" ณ การประชุมวิชาการมะเร็งเต้านม ซานอันโตนิโอ ประจำปี 2023 ช่วงสัปดาห์นี้

วัคซีนข้างต้นออกแบบมาเพื่อสั่งการระบบภูมิคุ้มกันให้ทำลายเซลล์มะเร็งดังกล่าวผ่านกลไกที่ไม่เคยถูกนำมาใช้พัฒนาวัคซีนมะเร็งมาก่อน โดยมุ่งเป้าไปที่โปรตีนที่เรียกว่าแอลฟา-แลคตัลบูมิน ที่ผลิตโดยเซลล์เต้านมของผู้หญิงระหว่างการสร้างน้ำนมให้ลูก

อย่างไรก็ดี แอลฟา-แลคตัลบูมินปรากฏในเนื้องอกของผู้ป่วยมะเร็งประเภทนี้มากกว่าร้อยละ 70 คณะนักวิจัยจึงออกแบบวัคซีนโดยสั่งการให้ระบบภูมิคุ้มกันโจมตีเนื้องอกและป้องกันไม่ให้มันเติบโตโดยสิ้นเชิง

การทดลองทางคลินิกระยะที่ 1 ครอบคลุมผู้ป่วย 16 รายที่ถูกวินิจฉัยว่าเป็นมะเร็งเต้านมชนิดที่ไม่มีตัวตอบรับกับฮอร์โมนหรือยีนส์เฮอร์ทู ผู้ป่วยแต่ละรายจะได้รับการฉีดวัคซีน 3 ครั้ง ทุกๆ 2 สัปดาห์ ส่วนเครื่องหมายโมเลกุลของการตอบสนองทางภูมิคุ้มกันจากทั้งทีเซลล์ (T-cell) และบีเซลล์ (B-cells) ถูกตรวจวัดเพื่อประเมินผลวัคซีน

ข้อมูลจากผู้ป่วย 16 รายที่ได้รับการรักษาจนถึงปัจจุบัน บ่งชี้ว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่มีการตอบสนองของทีเซลล์อย่างมีนัยสำคัญ ส่วนที่เหลือมีการตอบสนองน้อยกว่าแต่สามารถวัดผลได้

ดร. อามิต คูมาร์ ซีอีโอของอานิกซ์ซา ไบโอไซเอนซ์เซส กล่าวว่าตอนนี้ข้อมูลจากการทดลองระยะที่ 1 ของเราถือว่าเกินความคาดหมาย เราหวังว่าจะได้ตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติม โดยตอนนี้อยู่ระหว่างขั้นตอนการวางแผนสำหรับการศึกษาวัคซีนในระยะที่ 2/3

ส่วนบัดด์กล่าวว่า ความหวังของเราคือการศึกษาในอนาคตจะแสดงให้เห็นว่าการตอบสนองแบบจำเพาะของทีเซลล์ต่อแอนติเจนที่เราสังเกตพบ จะมีส่วนช่วยป้องกันการกลับมาเป็นมะเร็งเต้านมซ้ำ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง