ผู้นำท้องถิ่นกระบี่ งานงอก เหตุสร้างสะพานรุกทะเล 'ไม่ขออนุญาต' จ่อดำเนินคดี
ผู้ใหญ่บ้าน นักการเมืองท้องถิ่น งานงอก ตกเป็นผู้ต้องหาคดีสร้างสะพานรุกทะเล เขาทอง พร้อมตรวจสอบเพิ่มอีก 3 แห่ง ไม่พบการขออนุญาต เตรียมแจ้งความดำเนินคดี
กรณี เจ้าหน้าที่ศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลนจังหวัดกระบี่ เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม (กก.4 บก.ปทส) เจ้าหน้าที่เจ้าท่าส่วนภูมิภาคสาขากระบี่ ได้เข้าตรวจสอบพื้นที่ร้องเรียน ว่ามีการก่อสร้างศาลาและสะพานทำเป็นทางเดินบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนและยื่นผ่านเข้าไปในพื้นที่ของทะเลท้องที่บ้านเขาทอง หมู่ที่ 2 ต.เขาทอง อ.เมือง จ.กระบี่ พบการก่อสร้างศาลาท่าเรือ ขนาด กว้าง 5 เมตร ยาว 5 เมตร และมีการก่อสร้างสะพานทำเป็นทางเดิน เสาทำด้วยไม้ป่าบก ขนาดกว้าง 1.5 เมตร ยาว 92 เมตร
และส่วนปลายสุดของสะพานมีการปักเสาด้วยไม้ ขนาดกว้าง 4 เมตร ยาว 6 เมตร ปูพื้นไม้ สภาพพื้นที่น้ำทะเลท่วมถึง พิกัดพื้นที่อยู่ในเขตป่าสงวนแห่งชาติ ป่าคลองกาโหรด-ป่าคลองหิน และป่าชายเลนอนุรักษ์ตามมติคณะรัฐมนตรี เจ้าหน้าที่ได้ทำบันทึกตรวจสอบ และเข้าแจ้งความ ไว้ที่ สภ.อ่าวนาง ท้องที่เกิดเหตุ เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดมาดำเนินคดี เหตุเกิดเมื่อวันที่ 3 ที่ผ่านมา
คืบหน้าล่าสุด วันที่ 31 ตุลาคม นายณรงค์ฤทธิ์ เพชรชนะ ผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน จ.กระบี่ ได้เข้าพบ พ.ต.ท.วรยุทธ ฟ่องสุทธิพิทักษ์ สว. (สอบสวน) สภ.อ่าวนาง เพื่อให้ข้อมูลและหลักฐานเพิ่มเติม หลักจากที่ได้ตรวจสอบและพิจารณาแล้วเห็นว่า การกระทำของชาวบ้านเป็นการกระทำผิดกฎหมายว่าด้วยการป่าไม้ กระทำผิดพระราชบัญญัติป่าไม้ 2507 มาตรา 54, 72 ฐาน ก่นสร้างถาง หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำลายป่าหรือเข้ายึดถือครอบครอง ทำประโยชน์ หรืออยู่อาศัย เพื่อตนเอง หรือผู้อื่นโดยไม่ได้รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่ กระทำผิดตามพระราชบัญญัติป่าสงวนแห่งชาติ พ.ศ. 2507 และที่แก้ไขเพิ่มเติม พ.ศ. 2559 มาตรา 14, 31 ฐาน ยึดถือครอบครองทำประโยชน์หรืออยู่อาศัยในที่ดิน ก่นสร้าง แผ้วถาง เผาป่า ทำไม้หรือกระทำด้วยประการใดๆ อันเป็นการทำให้เสื่อมเสียแก่สภาพป่าสงวนแห่งชาติโดยไม่รับอนุญาตจากพนักงานเจ้าหน้าที่
นายณรงค์ฤทธิ์ ให้ข้อมูลด้วยว่า สำหรับผู้ที่ตกเป็นผู้ต้องหาในคดี มีทั้งชาวบ้าน ผู้ใหญ่บ้านท้องที่ และนักการเมืองท้องถิ่น มีประมาณ 7-8 คน หลังจากนี้ก็จะให้เป็นหน้าที่ของพนักงานสอบสวนในการดำเนินการตามขั้นตอนของกฎหมายต่อไป
นายณรงค์ฤทธิ์กล่าวด้วยว่า ในส่วนของศูนย์บริหารจัดการทรัพยากรป่าชายเลน จ.กระบี่ ยังได้ทำหนังสือสอบถามไปยังจังหวัดกระบี่เพิ่มเติมว่าการก่อสร้างสะพานของชาวบ้านในครั้งนี้ ได้มีการทำหนังสือขออนุญาตไปยังหน่วยงานใดบ้าง เนื่องจากมีการอ้างว่า ได้ทำเรื่องขอสร้างสะพาน จากจังหวัดแล้ว ซึ่งทางจังหวัดได้แจ้งกลับมาว่าไม่มีหนังสือการขอสร้างสะพานแต่อย่างใด
และว่าได้ลงพื้นที่ ต.เขาทอง ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อ ตรวจสอบการสร้างสะพานที่รุกล้ำลำน้ำ ยื่นลงไปในทะเลในพื้นที่ ต.เขาทอง จำนวน 3 แห่ง พบว่าไม่มีการขออนุญาตก่อสร้างแต่อย่างใด ซึ่งหลังจากนี้จะทำการตรวจสอบเอกสารหลักฐานและเข้าแจ้งความดำเนินคดีตามกฎหมายต่อไป