จวกยับ! มือบอน เขียนคิ้ว ทาแป้ง-ลิปสติก 'นางเงือก' สัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา
จวกยับ! มือบอน เขียนคิ้ว ทาแป้ง-ลิปสติก ‘นางเงือก’ สัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา
รูปปั้นเงือกทองสงขลา ถูกมือบอนแต่งหน้าเขียนคิ้ว โดยผู้พบเห็นได้นำไปโพสต์ในสื่อสังคมออนไลน์ ทำให้มีผู้คนวิจารณ์จำนวนมาก ทั้งมองในมุมบวกว่าสวยงาม แปลกตา ในขณะที่บางส่วนก็มองว่าไม่เหมาะสม เนื่องจากรูปปั้นเงือกทองนี้เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา
เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม ช่างภาพอิสระ รายหนึ่งในหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา ได้บันทึกภาพรูปปั้นนางเงือกที่ชายหาดสมิหลาสงขลา เมื่อช่วงเช้า ซึ่งปรากฏว่า ที่ใบหน้านางเงือก มีมือบอน มือมืด หรือชาวบ้านที่ต้องการแก้บน นำ ดินสอเขียนคิ้ว อายแชโดว์ และลิปสติก ไปเขียนคิ้ว ทาใบหน้า และทาปาก รูปปั้นเงือกทอง สัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา โดยผู้โพสต์ได้ถ่ายภาพ และนำภาพดังกล่าวไปแชร์ในสื่อสังคมออนไลน์เฟซบุ๊ก ชื่อ Roylee Suriyaworakul โดยผู้โพสต์ ได้ตั้งประเด็น ใครหนอ เอาลิปสติก อายแชโดว์ ทานางเงือก และมีการแชร์ภาพดังกล่าวไป ทำให้มีการให้ความเห็นไปต่างๆ นานา บ้างก็มองว่าเป็นภาพที่แปลกตา ทำให้นางเงือกมีความสวยงาม แต่บ้างก็เห็นว่ามือบอน ไม่เหมาะสม เพราะเงือกทอง เป็นสัญลักษณ์คู่เมืองสงขลา
ล่าสุด ผู้สื่อข่าวได้สอบถามถึงการติดตามตัวผู้ที่ก่อเหตุในครั้งนี้ ไปยัง พันตำรวจเอกเอกณรงค์ สวัสดิกานนท์ ผกก.สภ.เมืองสงขลา ถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้น เบื้องต้น คาดว่า น่าจะเป็นการนึกสนุก หรือ เล่นพิเรนของใครบางคน ที่ต้องการสร้างสถานการณ์ ภายหลังรัฐ เริ่มผ่อนคลายมาตรการคุมเข้ม โควิด 19
ล่าสุดนั้นนายสมศักดิ์ ตันติเศรณี นายกเทศมนตรีนครสงขลา ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของเทศบาล เข้าทำการเช็ดล้างหน้าให้กับรูปปั้นเงือกทองแล้ว เพื่อให้รูปปั้นเงือกทองกลับมาเป็นเงือกทอง ที่เคยนั่งตระหง่านอยู่คู่กับหาดสมิหลาเช่นเดิม
สำหรับนางเงือกทอง (Golden Mermaid) เป็นสัญลักษณ์ที่สำคัญของแหลมสมิหลา จ.สงขลา ได้นักท่องเที่ยวจำนวนมากนิยมจะไปถ่ายภาพคู่กับนางเงือก โดย “นางเงือกทอง” ถูกสร้างขึ้นตามนิยายปรัมปราของไทยโบราณ ขุนวิจิตรมาตรา (สง่า กาญจนาคพันธ์) ได้บอกเล่าไว้ว่า
“วันดีคืนดีนางเงือกจะมานั่งหวีผมบนชายหาดด้วยหวีทองคำ วันหนึ่งบังเอิญว่ามีชายชาวประมงเดินผ่านมา ทำให้นางเงือกตกใจ รีบหนีลงทะเลไปโดยลืมหวีทองคำไว้ ฝ่ายชาวประมงเห็นดังนั้นก็เก็บหวีทองคำไว้และเฝ้าคอยนางเงือกที่หาดนั้นเสมอ แต่นางเงือกก็ไม่เคยปรากฏกายให้เห็นอีกเลย”
นอกจากนี้ แผ่นจารึกที่ประติมากรรมนางเงือกทอง สร้างขึ้นในปี 2509 ในท่านั่งหวีผม ซึ่งได้หล่อขึ้นด้วยบรอนซ์รมดำ โดยฝีมือการออกแบบ ปั้น และหล่อ โดยอาจารย์จิตร บัวบุศย์ อาจารย์ใหญ่โรงเรียนเพาะช่าง ด้วยงบประมาณราคา 60,000 บาท ซึ่งทุกๆ วันที่ 1 เมษายน ถือเป็นวันเกิดของนางเงือกทองอีกด้วย