รีเซต

เช็ก รพ.สนาม ทั่วไทย ทั้งรักษา-คลายเครียด สู้ 'โควิด' รอบ3

เช็ก รพ.สนาม ทั่วไทย ทั้งรักษา-คลายเครียด สู้ 'โควิด' รอบ3
มติชน
23 เมษายน 2564 ( 07:23 )
63
เช็ก รพ.สนาม ทั่วไทย ทั้งรักษา-คลายเครียด สู้ 'โควิด' รอบ3

การระบาดของโควิด-19 รอบที่ 3 ที่ลุกลามแพร่กระจายไปทั่วประเทศอย่างรวดเร็ว มีผู้ป่วยติดเชื้อเพิ่มมากขึ้นต่อเนื่องจนทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องรับภาระหนัก อีกทั้งโรงพยาบาลต่างๆ ทั้งของรัฐบาลและเอกชนไม่มีเตียงพอที่จะรองรับ จึงต้องระดมกำลังตั้ง รพ.สนามในพื้นที่ต่างๆ โดยเฉพาะในจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนมาก

 

 

ลองไปสำรวจดูว่าแต่ละจังหวัดมีความพร้อมของบุคลากรทางการแพทย์และตั้ง รพ.สนามรับมือวิกฤตโควิดรอบ 3 นี้กันอย่างไรบ้าง

 

เชียงใหม่

ดร.ทรงยศ คำชัย หัวหน้ากลุ่มงานควบคุมโรคติดต่อ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) เชียงใหม่ ให้ข้อมูลว่า รพ.สนามในเชียงใหม่มี 3 แห่งคือ ที่ศูนย์ประชุมและจัดแสดงสินค้านานาชาติ เฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จำนวน 1,500 เตียง รพ.สนาม มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (หอ 5 มช.) 360 เตียง และ รพ.สนามมหาวิทยาลัยแม่โจ้ 400 เตียง ไม่รวม รพ.ของหน่วยงานต่างๆ เช่น รพ.กองบิน 41 รพ.ค่ายกาวิละ และอื่นๆ สามารถรองรับผู้ป่วยได้ 3,020 เตียง

 

 

รวมทั้งยังมีฮอสปิเทลที่มหาวิทยาลัยพายัพร่วมมือกับ รพ.แมคคอร์มิค รพ.เทพปัญญา กับโรงแรมอะโมรา ท่าแพ และมหาวิทยาลัยแม่โจ้ก็จะปรับที่พักนานาชาติให้เป็นฮอสปิเทลเพิ่มอีก แต่ขณะนี้จำนวนผู้ป่วยเริ่มลดลง หากอยู่ในระดับนี้ก็ถือว่าเพียงพอ ไม่มีปัญหา

 

สำหรับเสียงวิพากษ์วิจารณ์หรือดราม่าเกี่ยวกับ รพ.สนามก็ไม่เป็นไร หากเข้าใจเราก็ไม่มีปัญหาอะไร ตอนนี้ทุกอย่างคลี่คลายแล้ว แต่ผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มวัยรุ่นอาจไม่คุ้นชินที่จะอยู่แบบนี้ แต่เมื่อปรับตัวได้ทุกอย่างก็โอเค ลงตัวแล้ว ดร.ทรงยศแจงถึงปมดราม่าเกี่ยวกับ รพ.สนาม

 

นครราชสีมา

นพ.นรินทร์รัชต์ พิชญคามินทร์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) นครราชสีมา ระบุว่า จัดตั้ง รพ.สนามขึ้น 1 แห่ง 200 เตียง ที่อาคารยิมเนเซียม “ชาติชายฮอลล์” ภายในสนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ 80 พรรษา โดยผู้ป่วยที่จะเข้าพักรักษาใน รพ.สนามต้องอายุระหว่าง 15-65 ปี มีอาการเล็กน้อย ส่วน รพ.หลักจะเป็นจุดรับผู้ติดเชื้อรายใหม่ ก่อนวินิจฉัย 5-7 วันแรกเพื่อดูอาการ หลังจากครบกำหนด ผู้ป่วยไม่มีอาการหรือมีอาการน้อยจะส่งไปรักษา รพ.สนามเพื่อเฝ้าสังเกตอาการต่อ

 

ด้าน นพ.สุชาติ เจนเกรียงไกร ผู้อำนวยการ รพ.สนาม นครราชสีมา แจกแจงรายละเอียดว่า ใน รพ.สนามจะมีทีมแพทย์-พยาบาลดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง พร้อมระบบสาธารณูปโภค คอมพิวเตอร์และอินเตอร์เน็ต ติดตั้งกล้องซีซีทีวีเฝ้าระวังผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง นอกจากนี้ยังนำผู้ป่วยทำกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดด้วย

 

“หากผู้ป่วยต้องการความช่วยเหลือฉุกเฉินจะมีปุ่มกดฉุกเฉินแจ้งเจ้าหน้าที่เพื่อจะเข้าไปช่วยเหลือ หรือหากต้องการสอบถามเรื่องต่างๆ ก็สื่อสารกับเจ้าหน้าที่ผ่านแอพพลิเคชั่นไลน์” นพ.สุชาติอธิบาย

 

 

ภูเก็ต

นพ.เฉลิมพงษ์ สุคนธผล ผู้อำนวยการ รพ.วชิระภูเก็ต เผยว่า ผู้ติดเชื้อในภูเก็ตยังเพิ่มต่อเนื่อง เข้ารับการรักษาใน รพ.ต่างๆ ทั้งของรัฐและเอกชน ส่วน รพ.สนามแห่งแรกอยู่ภายในอาคารสปอร์ตคอมเพล็กซ์ของมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตภูเก็ต 150 เตียง เบื้องต้นใช้เป็นที่ดูแลผู้ติดเชื้อโควิดที่อาการไม่รุนแรง ขณะนี้มีผู้ป่วย 70-80 คน โดยจะมีแพทย์สับเปลี่ยนเวรมาติดตามอาการจากซีซีทีวีตลอด 24 ชั่วโมง

 

“ภูเก็ตเคยมีประสบการณ์เปิดใช้ รพ.สนามมาแล้ว บุคลากรจึงมีความรู้ความเข้าใจ ขณะเดียวกันประชาชนในพื้นที่เชื่อมั่นในมาตรการความปลอดภัยจึงไม่มีเสียงคัดค้าน แถมยังให้ความช่วยเหลือ โดยนำสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ รวมทั้งอาหารเครื่องดื่มมาให้เป็นกำลังใจให้เจ้าหน้าที่ไม่ขาดสาย นอกจากนี้ยังมีคนจำนวนมากจากหลายภาคส่วนร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยเหลืองานต่างๆ เพื่อที่จะผ่านวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกัน” นพ.เฉลิมพงษ์สรุป

 

 

สมุทรสาคร

โรงพยาบาลสนามเป็นหัวใจหลักในการต่อสู้กับสถานการณ์โควิด-19 เป็นคำกล่าวของ “วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี” ผู้ว่าฯสมุทรสาคร ที่กล่าวไว้เมื่อครั้งเดินทางกลับมาปฏิบัติหน้าที่อีกครั้งหลังจากติดเชื้อโควิดและรักษาจนหาย จึงกลับมานำทัพสู้โควิดระลอกใหม่

 

นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์ สสจ.สมุทรสาคร ย้ำว่า รพ.สนามเป็นเรื่องสำคัญ ไม่เฉพาะการแยกผู้ติดเชื้อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการบริหารจัดการแบบครบองค์รวมทั้งหมด เพื่อความปลอดภัยต่อบุคลากรที่อยู่ทั้งภายนอกและภายใน จ.สมุทรสาคร เป็นจังหวัดแรกที่ตั้ง รพ.สนามรองรับผู้ติดเชื้อ ตั้งแต่พบการระบาดระลอกที่ 2 โดยตั้ง รพ.สนาม หรือศูนย์ห่วงใยคนสาครถึง 10 แห่ง เมื่อสถานการณ์ดีขึ้นจึงลดเหลือแค่ 3 แห่งเท่านั้นเชื่อมั่นว่ารับมือไหว

 

 

นนทบุรี

นายสุจินต์ ไชยชุมศักดิ์ ผู้ว่าฯนนทบุรี ระบุว่า ตั้ง รพ.สนามที่โรงเรียนนนทบุรีวิทยาลัย อ.ปากเกร็ด เบื้องต้นใช้ 2 อาคาร รวม 700 เตียง แต่เปิด 350 เตียงก่อน และพร้อมจะขยายรองรับอีก 700 เตียง แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยเข้ามายังไม่ถึง 100 คน โดยได้รับความกรุณาจากหลายๆ หน่วยงานทั้งภาครัฐภาคเอกชนให้ความอนุเคราะห์เรื่องฟูก ที่นอนหมอนมุ้ง

 

“สิ่งที่เราระวังที่สุดก็คือทัศนคติของชุมชน ซึ่งมีความละเอียดอ่อน เราก็คิดว่าตรงนี้เป็นจุดที่แยกจากโซนอื่นๆ อย่างชัดเจนและมีความปลอดภัย” ผู้ว่าฯเมืองนนท์มั่นใจ

 

ด้าน นพ.สฤษดิ์เดช เจริญไชย รองนายแพทย์ สสจ.นนทบุรี เสริมว่า การรับผู้ป่วยที่ รพ.สนาม โดยปกติต้องไปนอนโรงพยาบาล 3 วันก่อนเพราะต้องเอกซเรย์ปอด เจาะเลือดตรวจ เพื่อคัดกรองภาวะแทรกซ้อน แต่จะทำให้ผู้ป่วยลำบาก เพราะต้องเคลื่อนย้ายไป รพ.สนามอีกต่อหนึ่ง ทาง สสจ.นนทบุรี และ รพ.ปากเกร็ด จึงวางระบบให้มานอน รพ.สนามเลย โดยให้มีรถเอกซเรย์เคลื่อนที่

“การรับเข้าในโรงพยาบาลสนามต้องผ่านศูนย์ประสานงานของ สสจ.นนทบุรีก่อน จะมีเจ้าหน้าที่คอยคัดแยกอาการว่าคนไข้ควรจะไปที่ไหนตามระดับความรุนแรง เมื่อรับเข้าระบบแล้วจะมีรถโรงพยาบาลไปรับถึงที่พัก ไม่ต้องมาโรงพยาบาลเอง เนื่องจากจะเสี่ยงแพร่เชื้อโรค” นพ.สฤษดิ์เดชให้ข้อมูล

 

 

ประจวบคีรีขันธ์

นพ.สุริยะ คูหะรัตน์ นายแพทย์ สสจ.ประจวบคีรีขันธ์ เผยว่า ขณะนี้มีผู้ป่วยติดเชื้อสะสม 897 ราย ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง 14 ราย อาการปานกลาง 17 ราย ขณะนี้มี รพ.สนามที่มหาวิทยาลัยราชมงคลรัตนโกสินทร์ วิทยาเขตวังไกลกังวล อ.หัวหิน รพ.ค่ายธนะรัชต์ อ.ปราณบุรี และโรงแรมประจวบสามอ่าว รับผู้ป่วยได้ 1,100 เตียง

 

“ที่ผ่านมาโรงพยาบาลสนามทุกแห่งได้รับคำชมจากสังคมโซเชียลว่าบริหารจัดการดี เพราะมีอาหารครบ 3 มื้อ นอนในห้องปรับอากาศ มีสัญญาณไวไฟให้เล่นเกมลดความเบื่อหน่าย ไม่มีปัญหาเรื่องระเบียบวินัย เพราะมีกล้องวงจรปิดติดตามตลอดเวลา รพ.สนามบางแห่งเปิดภาพยนตร์รอบค่ำให้ผู้ป่วยชมเพื่อผ่อนคลาย” นพ.สุริยะสรุป

 

 

สงขลา

นพ.อุทิศศักดิ์ หริรัตนกุล นายแพทย์ สสจ.สงขลา ให้ข้อมูลว่าใน อ.หาดใหญ่ พบผู้ติดเชื้อโควิดมากที่สุดในจังหวัด จึงปรับ รพ.ในแต่ละอำเภอและสถานที่บางแห่งเป็น รพ.สนาม เช่น รพ.หาดใหญ่-นาหม่อม, สวนประวัติศาสตร์พลเอกเปรม ติณสูลานนท์, ศูนย์ประชุมนานาชาติมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์, ค่ายมหาจักรีสิรินธร อ.นาทวี, ค่ายลพบุรี
ราเมศวร์ อ.เทพา, ศูนย์พักพิงอำเภอระโนด รองรับได้กว่า 1,000 เตียง

 

“โรงพยาบาลสนามส่วนใหญ่จะตั้งอยู่ในโรงพยาบาลเดิม ส่วนหนึ่งเป็นค่ายทหาร ที่ไม่ได้อยู่ในชุมชน ชาวบ้านจึงไม่กังวล อีกทั้งเชื่อมั่นในการดูแลของเจ้าหน้าที่” นพ.อุทิศศักดิ์มั่นใจ รพ.สนามใน จ.สงขลาไม่มีปัญหา

 

เป็นการแจกแจงข้อมูลถึงการตั้ง รพ.สนามในจังหวัดต่างๆ แม้จะมีดราม่าบ้าง แต่ก็ไม่เป็นอุปสรรคในการดูแลผู้ป่วยโควิดเพื่อที่จะฝ่าวิกฤตนี้ไปได้โดยเร็ว

ข่าวที่เกี่ยวข้อง