ซื้อรถยนต์ 1 คันมีค่าใช้จ่ายอะไรบ้าง คุ้มไหม?ถ้าหักลดหย่อนภาษีได้
มาตรการหักลดหย่อนภาษีรถยนต์ใหม่ป้ายแดง นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยก่อนการประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจร กลุ่มภาคตะวันออก 1 (จังหวัดอีอีซี) ที่ระยองที่ผ่านมา (25 ส.ค.25632) ว่าจะเสนอมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กับผู้ซื้อรถยนต์คันใหม่ หรือมาตรการอื่นๆ เพื่อรักษาฐานผลิตรถยนต์ในไทยรวมทั้ง กระตุ้นกำลังซื้อรถยนต์หลังจากซบเซาเพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ถือว่าได้สร้างกระแสให้กับตลาดรถยนต์อย่างมาก แต่ก็มีทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วยแตกต่างกันไป
การที่จะซื้อรถใหม่ป้านแดงสักคันนั้น เชื่อว่าหลายคนจะต้องวางแผนและพิจารณากันอย่างรอบคอบ อีกทั้งการซื้อรถใหม่แต่ละรุ่น แต่ละยี่ห้อก็จะมีโปรโมชันแตกต่างกันออกไปแล้วแต่ละค่าย และบริษัทที่เราจะจัดไฟแนนซ์ด้วย รวมถึงความจำเป็นที่จะซื้อรถควรสอดคล้องกับเงินในกระเป๋าและเงินที่เราจะได้รับในอนาคต เพราะรถยนต์ 1 คันนั้นไม่ได้มีแค่ค่าผ่อนรายเดือนเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆที่หลายคนอาจจะมองข้ามไป
แน่นอนว่าค่าผ่อนรถรายเดือน เป็นรายจ่ายก้อนใหญ่ที่เราจะต้องจ่ายทุกเดือน จำนวนเงินผ่อนในแต่ละเดือนนั้นจะคิดแบบอัตราดอกเบี้ยคงที่ คือ เงินต้นรวมกับดอกเบี้ยแล้วหารจำนวนเดือนที่จะผ่อน
ตัวอย่าง เช่น ต้องการซื้อรถคันใหม่ ราคา 600,000 บาท มีเงินดาวน์ 300,000 บาท ผ่อน 60 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5% เมื่อคำนวณออกมาจะได้ตัวเลขยอดจัดเช่าซื้อ (กู้ยืมเงิน)จากธนาคาร คือ 300,000 บาท ผ่อน 60 เดือน ๆ ละ 6,250 บาท เป็นต้น ซึ่งยอดเช่าซื้อหรือเงินที่เราจะต้องผ่อนกับไฟแนนซ์ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยของแต่ละแบงก์
นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายอื่นๆอีก ได้แก่
- ค่าต่อ พ.ร.บ. ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายทุกปี เป็นการทำประกันภัยตามพระราชบัญญัติคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ พ.ศ. 2535 จ่ายปีละ 600 บาท
- รายจ่ายค่าต่อทะเบียน ค่าภาษีรถยนต์เป็นรายจ่ายที่จะต้องจ่ายทุกปี โดยมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ย 1,500-6,000 บาทต่อปี ขึ้นอยู่กับขนาดรถ ถ้ารถขนาดใหญ่ต้องเสียภาษีแพงขึ้น
- ค่าประกันภัยรถยนต์ เป็นการโอนความเสี่ยงให้กับบริษัทประกันภัยรับผิดชอบ โดยมีให้เลือกประกันชั้น 1-3 ซึ่งรายละเอียดนั้นขึ้นอยู่กับโปรโมชั่นของแต่ละบริษัท ยิ่งรถมีราคาแพง ค่าเบี้ยประกันก็แพงเช่นกัน (จากตัวอย่างราคารถยนต์ 600,000 บาท ค่าเบี้ยประกันชั้น 1 ประมาณปีละ 15,000 บาท)
- ค่าค่าน้ำมันหรือค่าแก๊ส ซึ่งจะขึ้นอยู่กับราคาในขณะนั้นและลักษณะการใช้งาน ส่วนใหญ่จะเฉลี่ยอยู่ที่ 3,000 บาทต่อเดือน
cr:Pixabay
ดังนั้นหากเราจะซื้อรถคันใหม่ราคา 600,000 บาท เช่าซื้อ (กู้เงินมาซื้อ) 300,000 บาท ผ่อน 60 เดือน อัตราดอกเบี้ย 5% จะสามารถประมาณค่าใช้จ่ายรายเดือนคร่าวๆ ดังนี้
ค่าผ่อนรถยนต์เดือนละ 6,250 บาท+ค่าน้ำมันเดือนละ 3,000 บาท+ค่า พ.ร.บ. + ค่าต่อทะเบียน + ค่าประกันภัยรถยนต์ จ่ายรายปีแต่เราเฉลี่ยเดือนละ 1,450 บาท =จะต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือน คือ 10,700 บาท (ยังไม่รวมรายจ่ายทั่วไป)
ส่วนมาตรการลดหย่อนภาษีเงินได้ให้กับผู้ซื้อรถยนต์ใหม่นั้น แม้จะยังไม่มีความชัดเจนจากกระทรวงอุตสาหกรรม แต่หากจะลดหย่อนจริง บรรดาค่ายรถยนต์ก็คาดว่า จะขึ้นอยู่กับฐานการเสียภาษีของแต่ละคน ยกตัวอย่างในกรณีที่ซื้ออีโคคาร์ ราคาประมาณ 7 แสนบาท เมื่อนำมารวมกับรายได้ส่วนบุคคล อาจจะเสียภาษีอยู่ที่ 20% ก็นำไปหักลดหย่อน ซึ่งจะไม่เกิน 1 แสนบาท โดยจะสามารถนำไปหักลดหย่อนได้ในช่วงปลายปี ตามรอบภาษีของปีนั้นๆ
สำหรับการคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา แบบคร่าวๆ ให้นำรายได้ทั้งปีมาหักค่าใช้จ่ายส่วนตัว แยกตามประเภทของรายได้ และหักลดหย่อนตามรายการต่าง ๆ เพื่อหารายได้สุทธิ
ตัวอย่างที่ เช่น หาก A มีรายได้ทั้งปี 600,000 บาท จะต้องหักค่าใช้จ่ายเบื้องต้น ให้หักค่าใช้จ่าย 50% ของเงินได้ (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท) = 100,000 บาท จะเหลือรายได้สุทธิ 500,000 บาท
จากนั้น ลองสำรวจดูว่าเรามีค่าลดหย่อนอะไรบ้าง แล้วนำค่าลดหย่อนนั้นมาลบออกจาก 500,000 บาท เช่น หากปีนี้ A ซึ่งมีภรรยา 1 คน มีรายได้ไม่ถึง 30,000 บาท ทั้งคู่จดทะเบียนสมรสกันแล้ว แต่ไม่มีบุตร จ่ายประกันสังคมไป 9,000 บาท, มีพ่ออายุ 60 ปีขึ้นไป ที่ต้องเลี้ยงดู 1 คน, ซื้อ LTF ไป 10,000 บาท ก็สามารถนำค่าลดหย่อนทั้งหมดมาหักออกจาก 500,000 บาท ดังนี้
- หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนคู่สมรส 60,000 บาท
- หักค่าประกันสังคม 9,000 บาท
- หักค่าลดหย่อนเลี้ยงดูบิดา 1 คน จำนวน 30,000 บาท
- หักค่าซื้อ LTF ไป 10,000 บาท
- หักค่าซื้อรถยนต์ใหม่ 50,000 บาท (จำนวนสมมติ)
รวมหักไป 219,000 บาท
จะเหลือรายได้สุทธิ 281,000 บาท ให้นำรายได้สุทธิที่ได้ มาเทียบอัตราภาษี ซึ่งปัจจุบันใช้วิธีเสียภาษีแบบขั้นบันได ซึ่งอัตราภาษีในปี 2562 กรณีของ A มีรายได้สุทธิอยู่ที่ 281,000 บาท เท่ากับต้องเสียภาษีในอัตราสูงสุดที่ 5% (รายได้ 150,001-300,000 บาท อัตราภาษี 5%) แต่ในจำนวนนี้ 150,000 บาทแรก ได้รับการยกเว้นภาษี จึงคงเหลือส่วนที่ต้องเสียภาษีอยู่ที่ (281,000-150,000) = 131,000 บาท ซึ่งรายได้ในช่วง 0-150,000 บาท จะได้รับยกเว้นอัตราภาษี อย่างนี้เป็นต้น
***หมายเหตุ: การคำนวณเป็นเพียงตัวอย่างคร่าวๆเท่านั้น การเสียภาษีจริงต้องขึ้นอยู่กับสรรพากรเป็นผู้คำนวณ***
cr:Pixabay
อย่างไรก็ดี ล่าสุด นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า แผนงานเร่งด่วนที่กำลังเตรียมผลักดันคือ โครงการรถเก่าแลกรถใหม่ โดยการนำรถเก่าที่มีอายุการใช้งานมากกว่า 15 ปี ขึ้นไป มาเปลี่ยนเป็นยานยนต์ไฟฟ้า เพื่อเป็นการส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า และเป็นการบริหารจัดการซากยานยนต์ ซึ่งความคืบหน้าในขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษารายละเอียดด้านต่างๆ
เบื้องต้นจะให้ประชาชนนำรถเก่าที่อายุมากกว่า 15 ปี นำมาแลกสิทธิประโยชน์การหักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและนิติบุคคล ไม่เกิน 1 แสนบาทต่อคัน ส่วนรายละเอียดยังไม่มีข้อสรุป โดยในเดือนกันยายนจะเริ่มประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะ กระทรวงการคลัง คาดว่าจะใช้เวลา 2-3 เดือนจะได้ข้อสรุปเกี่ยวกับมาตรการและเงื่อนไขรายละเอียดของโครงการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เปิดขั้นตอนยื่นภาษีออนไลน์ โค้งสุดท้ายก่อน 31 ส.ค.63
เช็กเลย!รายละเอียดสินเชื่อช่วยน้ำท่วม 3 ธนาคาร ที่นี่!!
ช่วยได้แค่ไหน? รัฐคง VAT 7% ต่ออีก 1 ปี!!
เปิด 9 ระบบ 'Easy Tax' ช่วยให้เรื่องภาษีง่ายขึ้น
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE