รีเซต

สภาเภสัชฯยันร้านยา4,000 แห่งโครงการ 30 บาท ยังให้บริการประชาชนจนกว่าศาลมีคำสั่ง

สภาเภสัชฯยันร้านยา4,000 แห่งโครงการ 30 บาท ยังให้บริการประชาชนจนกว่าศาลมีคำสั่ง
TNN ช่อง16
20 พฤศจิกายน 2567 ( 14:07 )
22

รศ.(พิเศษ)เภสัชกร กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ นายกสภาเภสัชกรรม ระบุถึงกรณีศาลปกครองสูงสุดได้มีคำสั่งรับคำฟ้องของแพทยสภาต่อสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และสภาเภสัชกรรม กรณีโครงการจ่ายยา 16 อาการเจ็บป่วยเล็กน้อยในร้านยาคุณภาพที่ร่วมกับสปสช. ภายใต้โครงการ 30 บาทรักษาทุกที่ฯ ว่า ทางสปสช.ยืนยัน ยังสามารถดำเนินการต่อไปได้ ประชาชนสิทธิบัตรทองยังสามารถใช้บริการรับยาที่ร้ายยาคุณภาพได้ เนื่องจากศาลปกครองยังไม่มีคำตัดสินสิ้นสุดออกมา 


นายกสภาเภสัชกรรม มองว่า เรื่องนี้ต้องสร้างความเข้าใจกัน เพราะโดยหลักการดำเนินการของร้านยาได้ทำตามหลัก พ.ร.บ.วิชาชีพฯ อยู่แล้ว แต่ก็จะต้องมาหารือกันว่าขอบเขตไหนที่ต้องระวัง ขอบเขตไหนควรทำ เพื่อสนับสนุนและช่วยกันดูแลผู้ป่วยและให้เกิดระบบส่งต่อชัดเจน ซึ่งทางสภาเภสัชกรรม จะเตรียมข้อมูลให้ศาลปกครองเห็นภาพรวมทั้งหมด ทั้งในด้านกฎหมายที่ทางสภาเภสัชกรรมทำถูกต้อง พร้อมย้ำว่า16 อาการ ถือ เป็นอาการปกติที่ประชาชนไปรับบริการ้านยาอยู่แล้ว จึงมีการออกข้อกำหนดดังกล่าวขึ้น 


นายกสภาเภสัชกรรม ยังยืนยัน ความปลอดภัยในการให้บริการแก่ประชาชน โดยปัจจุบันมีร้านยาคุณภาพ ประมาณ 4,000 แห่งที่เข้าร่วมโครงการกับทางสปสช. ซึ่งตั้งแต่เริ่มโครงการเมื่อวันที่ 31 ตุลาคม 2566 จนถึงวันที่ 17 พฤศจิกายน 2567 มีประชาชนเข้ารับบริการกว่า 1 ล้าน 7 แสนคน รวม 4 ล้าน 9 แสนครั้ง ไม่มีผู้ป่วยรายได้รับอันตรายจากการเข้ารับบริการ


ด้านแพทยสภาได้ออกแถลงการณ์ทำความเข้าใจในกรณีการฟ้องดังกล่าว โดยมีใจความว่าแพทยสภามีความตระหนักถึงผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นกับประชาชน จึงมีความจำเป็นต้องขออำนาจศาลปกครองเพื่อให้เกิดการ "หยุดและทบทวน" โดยมองประเด็นปัญหาสำคัญว่าการให้เภสัชกรเป็นผู้วินิจฉัยและใช้ดุลพินิจในการจ่ายยาหลายประเภท ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่อาจนำอันตรายอย่างร้ายแรงมาสู่คนไข้โดยไม่คาดคิด เช่น กรณีปวดหัว ปวดท้อง อาจคิดว่าเป็นอาการเจ็บป่วยเล็กน้อยแต่อาจเป็นอาการนำของโรคไส้ติ่งแตก หรือเส้นเลือดแดงใหญ่ปริแตก อาการดังกล่าวจึงควรได้รับการตรวจและวินิจฉัยโดยผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมเพื่อให้ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและเร่งด่วน ซึ่งที่ผ่านมาแพทยสภาได้พยายามหาทางออกร่วมกับ สปสช. และสภาเภสัชกรรม เพื่อปรับเปลี่ยนรายละเอียดของประกาศที่อาจเป็นอันตรายต่อผู้ป่วยแต่ไม่ประสบผลสำเร็จ แพทยสภาจึงมีความจำเป็นต้องใช้กระบวนการยุติธรรมในการดำเนินการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง