รีเซต

มัดรวมนวัตกรรมแปลก ดูแลต้นไม้จากทั่วโลก | TNN Tech Reports

มัดรวมนวัตกรรมแปลก ดูแลต้นไม้จากทั่วโลก | TNN Tech Reports
TNN ช่อง16
10 เมษายน 2566 ( 15:29 )
275
มัดรวมนวัตกรรมแปลก ดูแลต้นไม้จากทั่วโลก | TNN Tech Reports


ปัจจุบันความก้าวหน้าของเทคโนโลยีได้ถูกนำไปใช้ในการพัฒนาและสร้างสรรค์นวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับมนุษย์เราในหลายด้าน หนึ่งในนั้นก็ คือ นวัตกรรมสำหรับคนที่ชื่นชอบการปลูกต้นไม้ แต่มีข้อจำกัดเรื่องเวลา ซึ่งไอเทมเหล่านี้จะเข้ามาช่วยลดขั้นตอนในการดูแล รดน้ำ รวมถึงให้แสงกับต้นไม้ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้พันธุ์พืชเจริญเติบโต  


Pico Max  


Pico Max คือกระถางต้นไม้อัจฉริยะขนาดกะทัดรัด มาพร้อมฟังก์ชันที่ช่วยดูแลต้นไม้ต้นโปรดของเรา สามารถรดน้ำได้อัตโนมัติ และยังให้แสงสว่างกับต้นไม้ ตัวกระถางติดตั้งแผงหลอดไฟ LED ที่อยู่ด้านบนสุดของกระถาง สามารถเปิดปิด หรือหรี่แสงไฟได้อัตโนมัติ ซึ่งแสงจากหลอดไฟนี้เปรียบเสมือนแสงแดดจากธรรมชาติ ที่จะช่วยในการสังเคราะห์แสงของพืช แม้ว่าจะปลูกในที่ร่มก็ตาม ตัวไฟสามารถปรับระดับให้สูงขึ้นตามการเติบโตของต้นไม้ได้ด้วย 



กระถาง Pico Max ใช้พลังงานจากแบตเตอรี ความจุ 10,000  มิลลิแอมป์ สามารถใช้งานได้เต็มที่ 4 วันต่อการชาร์จ 1 ครั้ง  แต่ละกระถางยังสามารถจ่ายไฟให้กันได้อีกด้วย ที่โดดเด่นไม่แพ้ฟังก์ชันการทำงานก็คือการออกแบบกระถางที่ดูล้ำกว่ากระถางทั่วไป  มีการติดตั้งแม่เหล็กที่สามารถนำไปวางประดับได้ในต่าง ๆ ของบ้าน หรือแม้กระทั่งติดตามตู้เย็นก็ได้เช่นกัน 


Pico Max รองรับการปลูกไม้ประดับทั่วไป ดอกไม้ สมุนไพร รวมถึงผักไมโครกรีน หรือต้นอ่อนที่งอกจากเมล็ด มีราคาอยู่ที่ 115 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 4,370 บาท 


Scythe


Scythe คือ หุ่นยนต์ตัดหญ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติที่มีชื่อว่า M.52 เป็นผลงานการพัฒนาจากบริษัท Scythe Robotics มาพร้อม กล้องไดนามิกสูง (HDR) จำนวน 8 ตัว ทำงานร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ ช่วยแยกแยะสิ่งกีดขวางและมนุษย์ได้ สามารถเคลื่อนที่บนทางชันหรือบนพื้นที่ที่ไม่สม่ำเสมอ รองรับการทำงานผ่านอินเทอร์เน็ตไร้สาย ใช้มอเตอร์ไฟฟ้าที่ให้แรงขับเคลื่อน 20 แรงม้า และทำความเร็วสูงสุดได้ที่ประมาณ 16 กิโลเมตรต่อชั่วโมง 



ที่น่าสนใจคือหุ่นยนต์ตัวนี้ บริษัทเคลมว่า ส่งเสียงรบกวนขณะทำงานเพียงแค่ 20 เดซิเบล ซึ่งถ้าเทียบแล้ว เบาประมาณเสียงกระซิบเท่านั้น นอกจากนั้นยังใช้พลังงานแบตเตอรีลิเธียมไอออน ซึ่งสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ทั้งวัน ตอบโจทย์การใช้งานได้เป็นอย่างดี


เป้าหมายสำคัญของบริษัทนี้ คือการสร้างหุ่นยนต์ตัดหญ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ สำหรับการใช้งานเชิงพาณิชย์ โดยมองว่า เอ็มดอท 52 จะช่วยแก้ปัญหาแรงงานขาดแคลนในสหรัฐอเมริกา โดยเฉพาะงานดูแลสวน  


อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการวางจำหน่ายแต่บริษัทเปิดให้เช่า โดยกำหนดขั้นต่ำในการเช่าเครื่องตัดหญ้าไม่ต่ำกว่าครั้งละ 10 ตัว ส่วนแผนการปัจจุบัน ตัวเครื่องยังคงอยู่ในระหว่างการผลิต และคาดว่าจะส่งมอบให้ลูกค้ากลุ่มแรกที่ต้องการเช่าได้ภายในปี 2023



โดรนปลูกป่า


โดรนปลูกป่าพัฒนาขึ้นโดยสตาร์ตอัปรักษ์โลกในเมืองโตรอนโต แคนาดา ที่ชื่อว่า "Flash Forest" ทางบริษัทบอกว่า การปลูกต้นไม้ด้วยโดรนนั้น มีประสิทธิภาพกว่าการปลูกต้นไม้แบบทั่วไป เพราะถ้าหากเทียบการใช้คน 1 คนปลูก โดรนจะปลูกได้เร็วกว่า 10 เท่า แถมยังใช้ต้นทุนที่ถูกกว่าการปลูกแบบเดิมถึงร้อยละ 80 


บริษัทได้ดัดแปลงและพัฒนาโดรนที่สามารถยิงเมล็ดลงไปในดินได้ ด้วยการผสมผสานเทคโนโลยีและกระบวนการวิทยาศาสตร์ทางนิเวศวิทยาเข้าด้วยกัน ซึ่งขั้นตอนแรกก็จะต้องเพาะเมล็ดกันก่อน จากนั้นใช้โดรนทำแผนที่เพื่อประเมินพื้นที่ ใช้ซอฟต์แวร์เพื่อระบุพื้นที่ที่เหมาะสมในการปลูกพืช เมื่อทราบพื้นที่ที่ต้องการแล้ว ก็จะใช้โดรนหย่อนฝักเมล็ดด้วยความแม่นยำสูง ทำได้อย่างรวดเร็วในระดับ 1 ฝักเมล็ด ต่อ 1 วินาที




โดรนเหล่านี้จะติดตั้งระบบการยิงแบบใช้ลมเอาไว้ ทำให้สามารถปล่อยฝักเมล็ดพันธุ์ลงในดินที่ระดับความลึกที่เหมาะสมได้  หลังจากนั้น ทีมงานก็จะติดตามกระบวนการเจริญเติบโตของพืช และใช้โดรนฉีดพ่นสารอาหารให้แก่ต้นกล้า จากรายงานระบุว่าในปี 2020 ทาง Flash Forest สามารถปลูกได้ 10,000 - 20,000 ฝักต่อวัน และมีเป้าหมายที่จะปลูกต้นไม้ให้ครบ 1 พันล้านต้นภายในปี 2028 นี้


Flying Autonomous Robots 


Flying Autonomous Robots  หรือ FAR คือหุ่นยนต์ที่จะเข้ามาช่วย สำหรับเกษตรกรที่มีข้อจำกัดในเรื่องเวลาและขาดแคลนแรงงานสำหรับการเก็บเกี่ยว นั่นก็คือ หุ่นยนต์เก็บผลไม้ในสวน โดยเป็นการพัฒนาจากสตาร์ตอัปในประเทศอิสราเอล  


มันถูกออกแบบให้สามารถเคลื่อนที่เข้าไปในสวนผลไม้ได้ โดยไม่รบกวนการเจริญเติบโตของต้นไม้  การทำงานจะแบ่งออกเป็น 2 ส่วนด้วยกัน คือ หุ่นยนต์หลัก ที่ทำหน้าที่เป็นฐาน และ หุ่นยนต์บินอัตโนมัติ 4 ตัว ซึ่งจะเป็นเหมือนกับทีมเก็บเกี่ยวผลไม้ที่เก็บได้อย่างแม่นยำ และทำงานได้ตลอด 24 ชั่วโมง




นอกจากนี้ ยังทำงานร่วมกันระหว่างปัญญาประดิษฐ์และอัลกอริทึมหลายตัว เช่น AI Perception Algorithms ที่ใช้รวบรวมข้อมูลของสวนผลไม้, Vision Algorithms ใช้ตรวจจับความแตกต่างของผลไม้ ใบไม้  จำแนกความสุกดิบ หรือแม้กระทั่งขนาดและสีสันของผลไม้ และ Balancing Algorithms ช่วยคำนวณแรงและพลังงานที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยว 


ซึ่งเจ้าของสวนผลไม้ยังสามารถตรวจสอบข้อมูลสรุปผลการทำงานต่าง ๆ ได้ผ่านทางแอปพลิเคชัน ส่วนข้อมูลที่เก็บรวมรวบมาจะถูกส่งเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ส่วนกลาง เพื่อประมวลผลการทำงาน กำหนดช่วงเวลา กำหนกปริมาณการเก็บเกี่ยวในครั้งต่อไปได้


ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง