จีนรัดเข็มขัด ลดเงินข้าราชการ หวังฟื้นฟูภาวะเศรษฐกิจในประเทศ
สำนักข่าว SCMP รายงานภาวะเศรษฐกิจในจีน กับมาตรการรัดเข็มขัดครั้งล่าสุด ด้วยการ “ลดค่าตอบแทนข้าราชการ” ถึงกระนั้น ก็ไม่อาจลดความนิยมของอาชีพที่มั่นคงนี้แต่อย่างใด
---คุมรายจ่ายหลังรายได้ลด---
สำหรับ ทิโมธี เถียน เทศกาลตรุษจีนที่กำลังจะมาถึงนี้ เขาให้คำมั่นว่าจะใช้จ่ายอย่างรัดกุม เช่นเดียวกับข้าราชการจีนคนอื่น ๆ อีกหลายคน หลังเจ้าหน้าที่รัฐต่างต้องเผชิญกับการรัดเข็มขัดที่หนักหน่วงที่สุดในรอบทศวรรษ
แม้ยังไม่มีมาตรการโควิดที่คุมเข้มอะไรเพิ่มเติม แต่ข้าราชการเมืองเจ้อเจียงก็ยังไม่สามารถเดินทางไปไหนมาไหนได้ดั่งใจ เนื่องจากทางการรัดเข็มขัด ลดเงินค่าตอบแทนลงประมาณ 2,000-5,000 หยวน (ราว 10,490-26,250 บาท)
“ค่าจ้างลดลงราว 25% เพราะฉะนั้น ตอนนี้ผมเลยไม่ได้คาดหวังโบนัสปลายปีมากนัก” เถียน กล่าว โดยอ้างถึงคำเตือนของเจ้าหน้าที่ระดับสูงที่ระบุว่า จำเป็นต้องมีมาตรการรัดเข็มขัดเพิ่มเติมสำหรับข้าราชการ
เช่นเดียวกับข้าราชการส่วนใหญ่ เถียน ได้รับเงินเดือนขั้นพื้นฐาน รวมถึงสวัสดิการและได้โบนัสตามผลงาน ซึ่งขณะนี้กำลังลดลงเรื่อย ๆ
---มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจีน---
ขณะที่การตัดเงินดังกล่าว ทำให้เกิดการร้องเรียนนับไม่ถ้วนบนโซเชียลมีเดีย ด้านหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน กล่าวเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า จีนจำเป็นต้องรัดเข็มขัด เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจที่กำลังตกต่ำ
หลี่ ระบุว่า จีนลดภาษีและค่าธรรมเนียมมากถึง 8.6 ล้านล้านหยวน (ราว 45 ล้านล้านบาท) ตั้งแต่ปี 2016 และว่า กระบวนการนี้ต้องดำเนินต่อไป เพื่อรักษาเสถียรภาพช่วยภาคธุรกิจและกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ
ทั้งนี้ จากสถิติล่าสุดของรัฐบาลจีน พบว่า ในช่วงสิ้นปี 2015 ข้าราชการในประเทศจีน มีจำนวนกว่า 7.1 ล้านคน
ข้าราชการคนหนึ่งในโรงไฟฟ้าเศรษฐกิจของมณฑลกวางตุ้ง กล่าวว่า ค่าตอบแทนของเขาและเพื่อนร่วมงานอีกหลายคนทั่วทั้งจังหวัด ลดลงอย่างมาก
“แน่นอนว่า ทางการรัดเข็มขัดจริง จากที่ผมได้ยินมาหลายคนต้องเผชิญกับค่าตอบแทนที่ลดลง 20-30%” ข้าราชการในกวางตุ้งซึ่งไม่เปิดเผยชื่อ กล่าว
---โบนัสที่ต้อง “ส่งคืน”---
“ส่วนที่ลดมักไม่ใช่เงินเดือน แต่จะเป็นสวัสดิการ อาทิ เงินอุดหนุนด้านที่อยู่อาศัย” เขา กล่าว “เนื่องจากอัตราค่าจ้างข้าราชการทั่วมณฑลกวางตุ้งไม่เท่ากัน จึงมีผลมากน้อยตามแล้วแต่เมือง”
ฐานเงินเดือนของข้าราชการพลเรือนค่อนข้างต่ำ แม้แต่ข้าราชการระดับรัฐมนตรีชั้นนำได้รับเงิน 9,000 หยวนต่อเดือน (ราว 47,120 บาท) ขณะที่ข้าราชการระดับกรมส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นกระดูกสันหลังของคณะกรรมการบริหาร มีรายได้ประมาณ 5,000 หยวนต่อเดือน (ราว 26,180 บาท)
อย่างไรก็ดี ยังมีสวัสดิการเพิ่มเติม อาทิ เงินอุดหนุนสำหรับที่อยู่อาศัย, การคมนาคม, การศึกษา, โทรคมนาคม, การดูแลบุตร และสวัสดิการทางการแพทย์ รวมถึงโบนัสปลายปีที่ไม่ได้เปิดเผยต่อสาธารณชน เป็นต้น
แต่สิ่งที่เจ็บปวดที่สุดของการลดค่าตอบแทน คือ ข้าราชการบางคนได้รับการร้องขอให้ “คืน” โบนัสที่พวกเขาได้รับไปแล้ว
เถียน กล่าวว่า หน่วยงานรัฐบางแห่งในมณฑลเจ้อเจียง บ้านเกิดของเขา ให้เงินช่วยเหลือค่าที่พักอาศัยแก่พนักงานล่วงหน้า 11 เดือน แต่สั่งให้พวกเขาคืนเงินภายในเดือนนี้
---โรคระบาดครั้งใหญ่กระทบหนักหน่วง---
อัลเฟรด อู๋ รองศาสตราจารย์จาก Lee Kuan Yew School of Public Policy ประเทศสิงคโปร์ กล่าวว่า ปัจจัยที่อยู่เบื้องหลังการรัดเข็มขัดอย่างที่ไม่เคยปรากฏมาก่อนนี้ คือ สภาพการเงินของรัฐบาลท้องถิ่นที่ถดถอย หลังต้องเผชิญกับความเลวร้ายจากการระบาดของโควิด-19 ถึงสองรอบ รวมถึงรายได้ที่ลดลงจากภาวะตลาดในประเทศซบเซา
อู๋ ซึ่งตีพิมพ์ผลการศึกษาหลายฉบับเกี่ยวกับ ค่าจ้างข้าราชการพลเรือนจีน กล่าวว่า “รายได้ที่แท้จริงของเจ้าหน้าที่จีนแทบไม่เกี่ยวข้องกับผลงานและความรับผิดชอบ ซึ่งกำหนดแค่ค่าจ้างพื้นฐานเท่านั้น แต่กลับเกี่ยวข้องกับสถานการณ์ทางการเงินของหน่วยงานและภูมิภาคเสียมากกว่า”
“ขณะที่รัฐบาลระดับมณฑลหรือเทศบาลในจีนจำนวนมาก ต่างชักหน้าไม่ถึงหลัง และตอนนี้ยังเหลือเงินเพียงน้อยนิดในการจ่ายเบี้ยเลี้ยงด้านต่าง ๆ ให้กับข้าราชการ”
ก่อนการประกาศรัดเข็มขัดครั้งล่าสุดของนายกรัฐมนตรี หลี่ เขาได้เตือนผ่านรายงานการทำงานประจำปี 2020 ของรัฐบาล ที่รายงานต่อสภาประชาชนแห่งชาติจีน โดยอ้างถึงความท้าทายทางเศรษฐกิจที่ “ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน” จากโควิด-19, หลี่ เรียกร้องให้รัฐบาลทุกระดับ ลดการใช้จ่าย และลดรายจ่ายที่ “ไม่เร่งด่วน และไม่จำเป็น” ลงครึ่งหนึ่ง
---ความมั่นคงที่ยังตอบโจทย์คนทำงาน---
แม้จะโดนลดเงินเดือน แต่อู๋กล่าวว่า อาชีพข้าราชการในจีนยังคงเป็นตัวเลือกลำดับต้น ๆ ของใครหลายคน เนื่องจากตลาดการจ้างงานของจีนเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจที่ชะลอตัวและการเข้มงวดด้านกฎระเบียบของรัฐบาล
“แรงงานรุ่นใหม่จำนวนมาก ต่างเลิกขวนขวายที่จะทำงานในบริษัทเอกชน โดยเฉพาะในแวดวงธุรกิจอินเทอร์เน็ตในภาคเอกชน ซึ่งเคยเป็นที่ต้องการอย่างมาก”
“พวกเขาไขว่คว้าอาชีพที่มีความมั่นคงกว่าเดิม อย่างเช่นข้าราชการ เพราะมีสวัสดิการดีกว่า ไม่ว่าจะเป็นทุนการศึกษาบุตรข้าราชการ ค่ารักษาพยาบาล และที่สำคัญที่สุด คือ สถานะทางสังคม และคอนเนกชันที่พลอยได้ไปด้วย” อู๋ กล่าว
ทั้งนี้ ปี 2021 มีผู้สมัครสอบข้าราชการพลเรือนจีน มากกว่า 2.1 ล้านคน เพิ่มขึ้นเกือบ 1 ใน 3 จากผู้สอบ 1.6 ล้านคนในปีที่ 2020
“ด้วยการที่ภาคเอกชนลดค่าใช้จ่ายเป็นจำนวนมาก ตอนนี้ผมเลยคิดว่า อาชีพที่มั่นคงอย่างข้าราชการเป็นตัวเลือกที่ดีที่สุด แม้จะมีการร้องเรียนเรื่องการลดสวัสดิการหรือเงินอุดหนุน แต่ผมก็ไม่เคยเห็นใครลาออกจากราชการนะ” เถียน กล่าว
—————
แปล-เรียบเรียง: พัชรี จันทร์แรม
ภาพ: Reuters