รีเซต

โควิด-19 : ไม่ใช่แค่ปอด แต่เข้าถึงหัวใจ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำลายอวัยวะอื่น ๆ ในบางกรณีได้อย่างไร

โควิด-19 : ไม่ใช่แค่ปอด แต่เข้าถึงหัวใจ ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ ทำลายอวัยวะอื่น ๆ ในบางกรณีได้อย่างไร
บีบีซี ไทย
13 เมษายน 2563 ( 17:36 )
127
Getty Images

แม้จะทราบกันดีว่าโรคทางเดินหายใจโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดหนัก สร้างความเสียหายให้กับปอดเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็ยังมีอวัยวะอื่น ๆ ที่ถูกทำลายไปด้วยในบางกรณีและเป็นเหตุให้ถึงแก่ชีวิตได้

รายงานวิจัยล่าสุดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์ JAMA Cardiology เผยว่ามีผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หัวใจได้รับความเสียหายมากถึง 1 ใน 5 ของผู้ป่วยทั้งหมดในเมืองอู่ฮั่นของจีน ผู้ป่วยที่เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวหรือกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลันหลายคน ไม่ได้มีประวัติอาการของโรคหัวใจมาก่อน

นักวิทยาศาสตร์การแพทย์ยังไม่ทราบถึงสาเหตุแน่ชัดที่ทำให้โรคโควิด-19 สามารถเข้าทำลายหัวใจได้ แต่มีการสันนิษฐานไว้สามกรณีด้วยกันคือ 1) หัวใจล้มเหลวเพราะทำงานหนักในการสูบฉีดเลือดให้ร่างกายที่ขาดออกซิเจน 2) ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ SARS-CoV-2 เข้าไปทำลายเซลล์หัวใจโดยตรง 3) ภูมิคุ้มกันร่างกายเกิดปฏิกิริยาต้านไวรัสอย่างรุนแรงจนทำลายเซลล์หัวใจเสียเอง

สำหรับข้อสันนิษฐานแรกนั้น ผศ.ดร. โมฮัมหมัด มาดจิด จากศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งมหาวิทยาลัยเทกซัสของสหรัฐฯ (UTHealth) บอกว่าในกรณีของผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ทั่วไปนั้น โอกาสที่จะเกิดภาวะหัวใจล้มเหลวจะพุ่งสูงขึ้นกว่าเดิมถึง 6 เท่า และในการระบาดของโรคไข้หวัดใหญ่หลายครั้งที่ผ่านมา ส่วนใหญ่ผู้ป่วยจะเสียชีวิตเพราะอาการแทรกซ้อนที่เกิดกับหัวใจมากกว่าจากปอดอักเสบ จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่โรคโควิด-19 จะส่งผลลบต่อหัวใจได้เช่นเดียวกัน เพราะการติดเชื้อไวรัสจะไปขัดขวางการไหลเวียนของเลือดเข้าสู่หัวใจ ทำให้หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะและหัวใจวายได้

ส่วนข้อสันนิษฐานที่ว่าไวรัส SARS-CoV-2 อาจเข้าโจมตีเซลล์หัวใจโดยตรงนั้น ดร.อีริน ไมคอส จากคณะแพทยศาสตร์มหาวิทยาลัยจอห์นส์ฮอปกินส์อธิบายว่า กรณีความเสียหายต่อหัวใจนั้น ส่วนใหญ่จะพบในคนไข้โรคโควิด-19 ที่มีอาการรุนแรง โดยไวรัสที่อยู่ในกระแสเลือดซึ่งไหลเวียนไปตามส่วนต่าง ๆ ของร่างกาย สามารถจะเข้าโจมตีอวัยวะใดก็ได้ รวมทั้งหัวใจด้วย

ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่มีโปรตีนที่ส่วนหนาม อันเป็นเสมือน "กุญแจ" ไขประตู ผ่านเข้าสู่เซลล์ปอดและเซลล์หัวใจของคนเราได้ โดยโมเลกุลของโปรตีนอีกชนิดหนึ่งที่เรียกว่า ACE2 ซึ่งเคลือบอยู่ที่ผิวเซลล์ จะถูกไวรัสแทรกเข้าไปและทำให้มันไม่สามารถทำหน้าที่ปกป้องเซลล์ได้ตามปกติ

ยิ่งไปกว่านั้น ในกรณีที่ภูมิคุ้มกันร่างกายของผู้ป่วยมีปฏิกิริยาตอบโต้ไวรัสอย่างรุนแรง จนหลั่งสารไซโตไคน์ (Cytokine) ที่ทำให้เกิดการอักเสบออกมาในปริมาณมาก หรือที่เรียกว่า "พายุไซโตไคน์" (Cytokine storm) ในขณะที่โปรตีน ACE2 ก็อยู่ในภาวะที่ไม่สามารถปกป้องเซลล์หัวใจจากการอักเสบได้ สภาพวิกฤตนี้จะทำให้ภูมิคุ้มกันร่างกายตกเป็นฝ่ายทำลายอวัยวะสำคัญเสียเอง

"หากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบเพราะภูมิคุ้มกันร่างกาย ซ้ำยังถูกไวรัสทำลายจากข้างในเซลล์พร้อมกันด้วย หัวใจก็ไม่อาจจะทำหน้าที่ของมันต่อไปได้" ดร.ไมคอสกล่าว

อย่างไรก็ตาม แพทย์ยังไม่ทราบชัดว่าอะไรคือสาเหตุที่ทำให้ผู้ป่วยบางรายมีการทำงานของภูมิคุ้มกันที่รุนแรงเกินปกติ แต่ที่ผ่านมางานวิจัยบางชิ้นชี้ว่าอาจมีความเกี่ยวข้องกับพันธุกรรม

ดร. ไมคอสยังบอกอีกว่า การรักษาผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่หัวใจได้รับความเสียหายนั้นยากมาก เพราะต้องจำแนกให้ได้เสียก่อนว่าแต่ละกรณีได้รับความเสียหายเพราะเหตุใด ถ้ามีการติดเชื้อไวรัสที่หัวใจโดยตรงก็จะต้องใช้ยาต้านเชื้อ แต่ถ้าเกิดจากการอักเสบรุนแรงก็ต้องใช้ยากดภูมิคุ้มกันร่างกายเข้าช่วย ซึ่งทั้งหมดเป็นการรักษาแบบประคับประคองอาการเท่าที่ทำได้ เนื่องจากยังไม่มียารักษาโรคนี้โดยตรง

ส่วนผู้ที่มีอาการความดันโลหิตสูงและผู้ป่วยโรคหัวใจชนิดต่างๆ ที่ใช้ยาจำพวก ACE Inhibitors หรือ ARBs ซึ่งยับยั้งการทำงานของโปรตีนต้านการอักเสบที่ผิวเซลล์ ACE2 อยู่นั้น วงการแพทย์ยังไม่สามารถสรุปได้ว่า ผู้ใช้ยากลุ่มดังกล่าวที่มีความเสี่ยงติดโรคโควิด-19 ควรจะหยุดยาเพื่อหลีกเลี่ยงภาวะหัวใจล้มเหลวดีหรือไม่

อย่างไรก็ตาม คำแนะนำล่าสุดจากวิทยาลัยหทัยวิทยาอเมริกัน (American College of Cardiology) และสมาคมหัวใจอเมริกัน (AHA) ได้ระบุให้ผู้ใช้ยากลุ่มที่อาจมีผลต่อหัวใจหากติดโรคโควิด-19 ยังคงรับประทานยาชนิดเดิมอยู่ต่อไป เว้นแต่จะมีคำแนะนำจากแพทย์ประจำตัวเป็นอย่างอื่น

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง