นายกฯ ยันปชช.ต้องได้รับประโยชน์จากงบประมาณ
วันนี้ (1 ก.ค.63) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ชี้แจงร่าง พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2564 ต่อสภาผู้แทนราษฎร ย้ำรัฐบาลตระหนักถึงการใช้งบประมาณที่ยังมีอยู่อย่างรอบคอบ ทั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2563 งบประมาณจาก พ.ร.บ.โอนงบประมาณฯ และงบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ที่จะต้องดำเนินตามกรอบยุทธศาสตร์ชาติ
นายกรัฐมนตรีชี้แจงต่อรัฐสภาว่า งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ ราว 4 แสนล้านบาทที่จะทยอยนำมาใช้ในการเยียวยาประชาชนและฟื้นฟูเศรษฐกิจอยู่ในช่วงของการพิจารณาโครงการที่จะต้องผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการ รวมถึงต้องผ่านการคัดกรองจากคณะรัฐมนตรี ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดแผนงานที่ชัดเจนในการเบิกจ่ายงบประมาณ หากแผนงานโครงการไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ก็จะไม่ผ่านการอนุมัติ แต่วงเงินยังคงอยู่
นายกรัฐมนตรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เป้าหมายส่วนหนึ่งของการใช้งบประมาณจาก พ.ร.ก. กู้เงินฯ เพื่อให้ภาคธุรกิจ SMEs ขนาดกลางและขนาดย่อมสามารถดำเนินต่อไปได้ เนื่องจากทุกคนต่างได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในครั้งนี้รัฐบาลจึงต้องร่วมมือกับภาคธุรกิจในการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนส่งเสริมให้มีการจ้างงานต่อไปรวมถึงคำนึงถึงธุรกิจฐานราก ประชาชนที่มีรายได้น้อย ไม่มีหลักประกัน ให้สามารถเข้าถึงเงินทุนผ่านการกู้ยืมจึงได้จัดทำมาตรการ Soft Loan พร้อมระมัดระวังหนี้ที่อาจไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) หนี้สาธารณะไม่ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะเงินทุกบาทของกองทุนหรือธนาคารเป็นเงินที่ประชาชนนำมาฝาก จึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบและระมัดระวัง
นายกรัฐมนตรี ยังย้ำต่อที่ประชุมรัฐสภาว่า ที่ผ่านมารัฐบาลได้ทำงานเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตขั้นพื้นฐานของประชาชน ปรับปรุงระบบโลจิสติกส์ ถนน ลงทุนก่อสร้างรถไฟความเร็วสูง การลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการลงทุนในพื้นที่เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน การสนับสนุนเกษตรกร ทำการเกษตรเพื่อเป็นแหล่งอาหารโลก เน้นลดค่าใช้จ่ายในการลงทุน ขยายตลาดในการขายสินค้า ทั้งนี้ประเทศไทยจะต้องเตรียมเปิดรับการลงทุนของชาวต่างชาติ และการเปิดรับแรงงาน ซึ่งจะต้องเป็นไปตามกฎหมาย และไม่กระทบต่อทรัพยากรของคนไทย
พร้อมกันนี้ รัฐบาลได้เตรียมจัดหางบประมาณ การจัดเก็บภาษี ด้วยระบบระบบดิจิทัลเพื่อให้สามารถตรวจสอบได้ รวมถึงอาจมีการปรับ/เพิ่ม หน่วยงานที่มีความจำเป็นและมีประสิทธิภาพในการทำงาน เพื่อรองรับสิ่งใหม่ ๆ ในประเทศไทย นายกรัฐมนตรีย้ำว่ารัฐบาลได้เตรียมฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 คือ การพัฒนาเศรษฐกิจแบบองค์รวม (BCG Model) ประกอบไปด้วย เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจของภาคอุตสาหกรรมประเทศด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
สภาฯถกร่างพรบ.งบปี64 วันแรก-นายกฯลั่นใช้จ่ายงบฯฟื้นฟูศก.
ประชุมสภา เพิ่มมาตรการสแกนแอปฯ 'จริงใจ' บันทึกประวัติเข้า-ออก
นายกฯเข้าร่วมประชุมสภาฯแจงร่างพ.ร.บ.โอนงบรายจ่ายปี63
รัฐจัดทีมวอร์รูมเกาะติด ประชุมสภา เตือนฝ่ายค้านอย่านอกประเด็น
website: www.TNNThailand.com
facebook : TNNThailand
facebook live : TNN Live
twitter : @TNNThailand
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNThailand
Instagram : @tnn_online
TIKTOK : @tnnonline