รีเซต

2 จังหวัดภาคอีสานแล้งรุนแรง ‘โคราช - มหาสารคาม’ ปริมาณน้ำวิกฤตส่อไม่มีใช้

2 จังหวัดภาคอีสานแล้งรุนแรง ‘โคราช - มหาสารคาม’ ปริมาณน้ำวิกฤตส่อไม่มีใช้
TNN ช่อง16
9 พฤษภาคม 2567 ( 11:11 )
29
2 จังหวัดภาคอีสานแล้งรุนแรง ‘โคราช - มหาสารคาม’ ปริมาณน้ำวิกฤตส่อไม่มีใช้

ผู้สื่อข่าวรายงานสถาการณ์ภัยแล้งหลังเข้าสู่ฤดูฝน ในพื้นที่ภาคอีสานยังมีพื้นที่ที่ภัยแล้งยังไม่คลี่คลาย วันนี้ ( 9 พ.ค. 67 ) ที่บ้านโคกเพชร ตำบลหลุ่งประดู่ อำเภอห้วยแถลง จังหวัดนครราชสีมา ประสบปัญหาภัยแล้งรุนแรงกว่าทุกปี หลังเกิดภาวะฝนทิ้งช่วงจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้น้ำในแหล่งกักเก็บน้ำต่างๆ มีปริมาณลดลงอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะแหล่งกักเก็บน้ำผิวดินมีน้ำเหลือน้อย ส่งผลให้น้ำดิบใช้ผลิตน้ำประปาไม่เพียงพอ 


จากการลงพื้นที่พบว่า สระเก็บน้ำดิบผลิตประปาอยู่ในสภาวะแห้งขอดเหลือน้ำติดก้นสระเพียงเล็กน้อย เป็นฝุ่นตะกอนแดงแขวนลอยอยู่ ชาวบ้านจำต้องใช้น้ำไปผลิตประปาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะเป็นแหล่งน้ำแห่งสุดท้ายที่เหลือพอจะดึงมาผลิตประปาให้ชาวบ้านได้ใช้  ส่วนน้ำสำหรับบริโภคก็ต้องซื้อจากรถบรรทุกน้ำที่นำมาส่ง  ถ้าสถานการณ์ภัยแล้งยังคงดำเนินต่อไปอีก คงไม่เหลือน้ำใช้ผลิตประปาอีกต่อไปแล้ว  


นอกจากนี้ ผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปที่บ้านกู่ศิลาขันธ์ ตำบลหลุ่งประดู่ ที่อยู่ใกล้เคียงกัน ก็พบว่า หมู่บ้านแห่งนี้ ไม่เหลือน้ำดิบใช้ผลิตประปาเลย ชาวบ้านต้องอาศัยน้ำที่องค์การบริหารส่วนตำบลหลุ่งประดู่ นำรถบรรทุกน้ำมาเติมลงถังพักน้ำกลางหมู่บ้าน  แล้วให้ชาวบ้านนำถังหรือแกลลอนน้ำมารองน้ำไปใช้ที่บ้าน 


จากการสอบถาม นายมนูศักดิ์ แสงสุข ผู้ใหญ่บ้าน เปิดเผยว่า หมู่บ้านกู่ศิลาขันธ์ ประสบปัญหาการขาดแคลนน้ำเป็นครั้งแรกในรอบ 30 ปี ตั้งแต่ปีที่แล้วไม่มีฝนตกลงในพื้นที่เลย ประกอบกับหมู่บ้านไม่มีทางน้ำธรรมชาติไหลผ่าน ต้องอาศัยน้ำฝนเพียงอย่างเดียว แม้ อบต.จะนำน้ำมาส่งแจกจ่ายให้ชาวบ้านใช้อุปโภคบริโภค แต่ก็ไม่เพียงพอกับจำนวนประชากรกว่า 160 ครัวเรือน 


เบื้องต้นได้ปรึกษาหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้มีการขุดลอกเพิ่มเส้นทางน้ำ จะได้ผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำฉมวกที่อยู่ไม่ไกลกันนัก ดึงน้ำมาใช้ในพื้นที่ใน่วงที่ประสบปัญหาขาดแคลนน้ำ รวมถึง ในฤดูน้ำหลากก็จะสามารถเป็นแก้มลิงกักเก็บน้ำได้อีกทางหนึ่ง  ดีกว่าปล่อยฝนตกน้ำท่วมพื้นที่ท้ายน้ำ เหมือนเช่นทุกปีที่ผ่านมา .


ขณะที่สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้มีแนวโน้มจะรุนแรงกว่าทุกปี  เนื่องจากฝนตกมาน้อย  ปริมาณน้ำฝนต่ำกว่าเกณฑ์ และสภาพอาการที่ร้อนจัดโดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทานและพื้นที่นอกเขตลุ่มน้ำชีอาจประสบปัญหาอย่างมาก เพราะขณะนี้แหล่งน้ำธรรมชาติตามลำห้วย คลอง และหนองน้ำปริมาณน้ำลดลงอย่างชัดเจน จนมองเห็นคันดินขุดขึ้นมาในอ่างนํ้า 


  ขณะที่จังหวัดมหาสารคามภาพรวมของอ่างเก็บน้ำขนาดกลางทั้ง 17 แห่ง จากความจุรวม 81.42 ล้านลูกบาศก์ลูกเมตร มีน้ำเก็บกักเหลือเพียง 37.062 ล้านลูกบาศก์เมตร  หรือร้อยละ 45.52   น้ำใช้การได้  28.31 ล้านลูกบาศก์เมตร    

ทั้งนี้พบว่ามี 2 อ่างเก็บน้ำ ที่มีปริมาณต่ำกว่าร้อยละ 30 ความจุ อ่างเก็บน้ำห้วยคะคาง อ.เมือง ร้อยละ 25.70  อ่างเก็บน้ำหนองกระทุ่ม อ.เมือง ร้อยละ 15.32  

ส่วนที่มีปริมาณน้ำต่ำกว่าครึ่งจำนวน 9 อ่าง  เช่นอ่างเก็บน้ำห้วยค้อ อ.นาเชือก เหลือร้อยละ40.86   


อ่างเก็บน้ำแก่งเลิงจาน อ.เมือง เหลือร้อยละ 40.16 อ่างเก็บนํ้าร่องหัวช้าง อ.บรบือ  เหลือ ร้อยละ 38 .40  อ่างเก็บนํ้าเอกสัตย์สุนทร  อ.บรบือ เหลือร้อยละ 38.13 และ อ่างเก็บนํ้าห้วยประดู่ อ่างเก็บนํ้าหนองคูขาด และ อ่างเก็บนํ้าหนองบ่อ อ.บรบือเหลือร้อยละ 42 และ สวนอีก 6 อ่าง มีปริมาณเกินครึ่งเฉลี่ยร้อยละ 60   


ทั้งนี้ชลประทานจังหวัดมหาสารคาม  ได้ประชาสัมพันธ์เพื่อขอความร่วมมือทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด รักษาแหล่งน้ำให้สะอาด รวมทั้งสำรองน้ำไว้ใช้อุปโภคบริโภค การผลิตประปาหมู่บ้าน และเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้น้ำมีเพียงพอไปตลอดฤดูแล้ง 


ส่วนนอกเขตชลประทานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการประชาหารือกันเพื่อเตรียมการช่วยเหลือผู้ประสบภัยเรียบร้อยแล้วเพื่อให้ประชาชนได้รับผลกระทบน้อยที่สุด


ข้อมูลจาก: ผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมามหาสารคาม 

ภาพจากผู้สื่อข่าวภูมิภาคจังหวัดนครราชสีมา

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง