รีเซต

สถานทูตสวีเดน-ออสเตรเลีย ยกเหตุผลดีๆ หากใครอยากย้ายประเทศ

สถานทูตสวีเดน-ออสเตรเลีย ยกเหตุผลดีๆ หากใครอยากย้ายประเทศ
TNN ช่อง16
5 พฤษภาคม 2564 ( 12:43 )
174

วันนี้ (5พ.ค.64) เรียกว่ากลายเป็นกระแสส่งต่อกันในโลกโซเชียลมีเดีย รวมไปถึงมีการวิพากวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางในช่วงสองสามวันที่ผ่านมาเลยก็ว่าได้ สำหรับคำว่า “ย้ายประเทศกันเถอะ”


ขณะเดียวกันเฟซบุ๊ก Embassy of Sweden in Bangkok ของสถานทูตสวีเดน ณ กรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความระบุว่า "ท่านกำลังฝันจะย้ายประเทศอยู่หรือเปล่า เราขอนำเสนอเหตุผลว่าเหตุใดประเทศสวีเดน อาจเป็นจุดหมายปลายทางที่ดี ดังนี้ สิทธิและการคุ้มครองแรงงานที่เข้มแข็ง ความเท่าเทียมกัน เราให้คุณค่ากับนวัตกรรม ระบบสวัสดิการของเราครอบคลุม ทุกคน"

ในเว็บไซต์ที่สถานทูตสวีเดนแนะนำ "WORKING IN SWEDEN" พบว่าได้แนะนำเว็บไซต์จัดหางานในประเทศสวีเดน ในหัวข้อ "FINDING A JOB IN SWEDEN" คำแนะนำในการสมัครงานที่ประเทศสวีเดน ในห้วข้อ "HOW TO APPLY FOR A JOB IN SWEDEN" และการขอรับใบอนุญาตทำงานในหัวข้อ "OBTAINING A WORK PERMIT" เบื้องต้นคนที่จะไปทำงานที่ประเทศสวีเดนต้องขอใบอนุญาตทำงานก่อนเข้าประเทศ โดยรับข้อเสนอการจ้างงานที่ได้รับการอนุมัติจากองค์กรที่เกี่ยวข้อง โดยในข้อตกลงต้องจ่ายเงินเดือนขั้นต่ำ 13,000 โครนาสวีเดน (หรือประมาณ 47,900 บาทไทย) ก่อนหักภาษี



ขณะที่สถานเอกอัครราชทูตออสเตรเลียประจำประเทศไทย ได้โพสต์ข้อความเช่นกัน โดยระบุว่า ก่อนที่จะย้ายมาเป็น #ทีมออสเตรเลีย ก็ต้องมาเรียนรู้สแลงที่คนออสซี่พูดกันดูหน่อยครับ วันนี้เพจขอนำเสนอศัพท์สแลงเกี่ยวกับอาหาร 5 คำที่คนออสซี่เท่านั้นจะเข้าใจ โดยเราจะทยอยนำเสนอเรื่อย ๆ 

ถ้าใครมั่นใจว่าอยู่ออสเตรเลียมานาน เรียนรู้มาพอสมควรแล้ว หรือเป็นทีมออสเตรเลีย เราขอท้าให้คุณทำควิซนี้ดู https://www.australiaday.com.au/.../take-the-aussie.../ ได้คะแนนเท่าไหร่มาเล่าสู่กันฟังได้ในช่องคอมเมนต์เลย 



ทางด้านนายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวถึงกรณีเรื่องการย้ายประเทศกันเถอะ ที่กำลังเป็นกระแสในสังคมออนไลน์ขณะนี้ว่า กระทรวงดีอีเอส เท่าที่ติดตามเบื้องต้นพบว่า เนื้อหาส่วนใหญ่เป็นไปในเชิงแนะแนวการศึกษา และแนะนำแนวทางประกอบอาชีพในต่างประเทศ ซึ่งจริงๆ ก็เป็นเรื่องที่ดี และหน่วยงานภาครัฐเองก็มีการให้ข้อมูล และให้การสนับสนุนผู้ที่มีความพร้อมมาโดยตลอดอยู่แล้ว ทั้งในแง่การไปศึกษาต่อในต่างประเทศ ทั้งกระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงการต่างประเทศ เช่นเดียวกับการประกอบอาชีพที่มี กระทรวงแรงงาน เป็นผู้กำกับดูแล

อย่างไรก็ตาม หากเป็นการแลกเปลี่ยนข้อมูลด้านการศึกษา หรืออาชีพในต่างประเทศ รัฐบาลคงไม่ปิดกั้น เพราะถือเป็นสิทธิเสรีภาพของบุคคลที่ได้รับการคุ้มครองโดยรัฐธรรมนูญ แต่ยังเป็นห่วงว่า กลุ่มดังกล่าวอาจเป็นช่องทางของขบวนการมิจฉาชีพ ที่ใช้สังคมออนไลน์หลอกลวงให้มีการไปทำงานต่างประเทศที่ระบาดอย่างหนักในระยะหลัง โดยทราบจากสถิติของกรมการจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ว่าช่วงปี 2561-2563 ได้รับเรื่องราวร้องทุกข์เกี่ยวกับการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศแล้วมากกว่า 1,500 เรื่อง ดังนั้น ผู้ที่สนใจควรศึกษาข้อมูลให้รอบด้าน ไม่หลงเชื่อขบวนการเหล่านี้

ข่าวที่เกี่ยวข้อง