ชาวม้ง ทำพิธี‘ไจ๋’ เชื่อปกป้องครอบครัวพ้นภัยโรค โควิด ระบาด
ชาวม้งในไทย ร่วมใจทำพิธี ไจ๋ ติดหน้าบ้าน นำผ้าแดงมาผูกแขนคนในครอบครัว โดยมีความเชื่อว่าปกป้องคนในครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19
วันที่ 8 เม.ย. ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ทำให้มีประชาชนเสียชีวิต และยังติดเชื้อโรคกันเป็นจำนวนมาก กระทั่งทางรัฐบาลและจังหวัดมีการประกาศใช้มาตรการต่างๆ รวมถึงขอความร่วมมือให้ทุกคน"อยู่บ้าน หยุดเชื้อ เพื่อชาติ" สกัดกั้นการแพร่กระจายเชื้อไวรัสโควิด-19
ที่ชุมชนราษฎรชาวเขาเผ่าม้งทั้งที่ ต.เข็กน้อย อ.เขาค้อ และที่บ้านทับเบิก ต.วังบาล อ.หล่มเก่า จ.เพชรบูรณ์ มีราษฎรชาวม้งในหมู่บ้านส่วนใหญ่ ต่างทำสัญลักษณ์หรือของขลังที่เรียกว่า "ไจ๋" โดยเป็นไม้ไผ่สานขัดแตะ มีใบไม้เสียบติดหรือมีผ้าแดงเป็นริ้วผูกติดไว้ มาติดไว้ที่บริเวณหน้าบ้าน และนำผ้าแดงมาผูกแขนคนในครอบครัว โดยมีความเชื่อว่าสัญลักษณ์ดังกล่าวนี้สามารถปกป้องคนในครอบครัวไม่ให้ติดเชื้อโควิด-19 ที่กำลังแพร่ระบาดอยู่ในขณะนี้
กดติดตามไลน์ ข่าวสด official account ได้ที่นี่
นายวันชัย ชยารมย์ ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ที่ 16 บ้านทับเบิก กล่าวว่า เป็นความเชื่อของชาวม้งที่มีมายาวนานแล้วว่า สัญลักษณ์นี้หากครอบครัวไหนติดตั้งไว้หน้าบ้าน คนในครอบครัวนั้นก็จะได้รับการปกป้องจากผีบรรพบุรุษ ไม่ให้วิญญาณที่ไม่ดีหรือเชื้อโรคร้ายเข้ามากล้ำกรายคนในครอบครัวได้ อาทิ เชื้อโควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่ในเวลานี้ ในขณะที่เพื่อนบ้านหรือใครก็ตามหากเป็นชาวม้ง เมื่อเห็นสัญลักษณ์ก็จะเข้าใจได้ทันทีว่า ครอบครัวนี้ปิดบ้านไม่ต้อนรับแขกหรือใครก็ตามที่จะมาเยือน ซึ่งเวลานี้ที่บ้านทับเบิกชาวบ้านส่วนใหญ่ แขวนหรือวางสัญลักษณ์นี้ไว้บริเวณหน้าบ้านแทบทุกครัวเรือน
นายสุวิทย์ แสนยากุล นายก อบต.เข็กน้อย กล่าวว่า สัญลักษณ์นี้เปรียบเสมือนของขลังที่ชาวม้งนับถือ เมื่อเจ้าของบ้านหรือคนในครอบครัวเกิดไม่เจ็บป่วยขึ้น ก็จะให้หมอผีในหมู่บ้านช่วยทำพิธี"ไจ๋"หรือ"อยู่กรรม" จึงต้องมีการทำเรียกขวัญ หรือ อั๊วเน้ง เพื่อรักษาคนป่วยและป้องกันไม่ให้วิญญาณที่ไม่ดี มาเอาขวัญของคนป่วยหรือคนในครอบครัวไป หลังทำพิธีแล้วหมอผีจะให้อยู่กรรมโดยจะมีไม้หรือกิ่งไม้แขวนไว้ที่หน้าประตู เพื่อเป็นการเตือนหรือบอกให้ผู้อื่นหรือแขกที่จะมาเยี่ยมรับรู้ ซึ่งแขกที่มาเยี่ยม เมื่อเห็นสัญลักษณ์นี้จะเข้าใจทันทีว่า บ้านนี้ใจ๋ ซึ่งคำว่า"ไจ๋"หากแปลตรงๆก็คือ การ”ห้าม“นั่นเอง