รีเซต

จับตา โอมิครอนลูกผสม BA.1+BA.2 น่าสนใจกว่าเดลตาครอน ฮูชี้อาจมีเวฟ 6

จับตา โอมิครอนลูกผสม BA.1+BA.2 น่าสนใจกว่าเดลตาครอน ฮูชี้อาจมีเวฟ 6
มติชน
18 มีนาคม 2565 ( 13:45 )
89
จับตา โอมิครอนลูกผสม BA.1+BA.2 น่าสนใจกว่าเดลตาครอน ฮูชี้อาจมีเวฟ 6

เมื่อวันที่ 18 มีนาคม ศ.เกียรติคุณ วสันต์ จันทราทิตย์ หัวหน้าศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาล (รพ.) รามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ให้สัมภาษณ์ถึงการพบเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์ลูกผสม (Recombination) ระหว่างเดลต้า กับ โอมิครอน เป็น “เดลตาครอน” และลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง สายพันธุ์ย่อย BA.1 กับ BA.2 ว่า สำหรับเดลตาครอนนั้น ขณะนี้ส่วนใหญ่พบในฝรั่งเศส เนเธอแลนด์ อังกฤษมีบ้าง เท่าที่ดูข้อมูล ยังไม่พบการแพร่กระจายอย่างรวดเร็ว คนที่ติดเชื้อนี้ ไม่มีอาการรุนแรง ไม่ต่างจากเชื้อโอมิครอนทั่วไป ข้อมูลในฐานข้อมูลกลางโควิด-19 โลก หรือ จีเสด (GISAID) พบสายพันธุ์เดลตาครอนมากบ้าง น้อยบ้าง ในแต่ละพื้นที่ จำนวนไม่ได้เพิ่มอย่างมีนัยสำคัญ แสดงว่า เดลตาครอนเปรียบเสมือนเด็กที่เกิดมาเป็นเด็กไม่แข็งแรงสมบูรณ์หรือพิการ เพราะฉะนั้น ก็จะแพร่ระบาดสืบทอดลูกหลานได้ไม่ดี ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกไม่ได้จัดให้อยู่ในกลุ่มสายพันธุ์ที่น่ากังวล (Variants of concern-VOC) เพียงแต่องค์การอนามัยโลก ออกมาเตือนล่วงหน้าว่า มีสายพันธุ์ลูกผสมนี้เกิดขึ้น เพื่อให้ระมัดระวังเท่านั้น

 

“สำหรับประเทศไทย ส่วนใหญ่เป็นเชื้อโอมิครอนที่ครองพื้นที่ส่วนใหญ่ อาจจะเกิดเชื้อเดลตาครอนได้ยาก หรือหากจะมีเกิดขึ้น น่าจะเป็นการนำเข้ามาจากประเทศอื่นมากกว่า แต่ไม่ว่าจะเกิดในประเทศใดก็ตาม หากมีการระบาดก็สามารถแพร่กระจายได้ทั่วโลก แม้แต่สาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีการล็อกดาวน์ เชื้อก็ยังหลุดเข้าไปได้ผ่านสิ่งของวัสดุภัณฑ์ เพราะเชื้อไวรัสสามารถอยู่บนพื้นผิวได้ 7-8 วัน เป็นธรรมชาติ แม้จะควบคุมอย่างไรก็สามารถหลุดเข้าไปได้ เพราะไวรัสเป็นนักฆ่าเพื่อความสมดุล” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

 

ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวอีกว่า ส่วนลูกผสมโอมิครอนด้วยกันระหว่าง BA.1+BA.2 เป็นตัวที่น่าจับตามากกว่า ข้อมูลเบื้องต้นที่มีการคำนวณผ่านระบบคอมพิวเตอร์คร่าวๆ จากรหัสพันธุกรรมที่ถอดได้ กับระยะเวลาที่พบเชื้อ พบอัตราการติดเชื้อที่แพร่ได้มากขึ้นจาก BA.2 ในสัดส่วนร้อยละ 126 แต่การคาดการณ์ดังกล่าวจะเป็นจริงหรือไม่ ในธรรมชาติหรือหน้างานต้องใช้เวลาศึกษาอีกสักระยะ อย่างไรก็ตาม นอกจากพบในประเทศอิสราเอลตามที่ปรากฏข่าวในจีเสดแล้ว ยังมีรายงานการพบที่อังกฤษและไอร์แลนด์ 267 ราย

 

“เท่าที่ดูข้อมูลรหัสพันธุกรรม ยังไม่มีการนำส่วนสำคัญที่สร้างโปรตีนหนามสไปก์มาแลกเปลี่ยนกันเป็นลูกผสม ความรุนแรงก็อาจจะยังไม่ต่างจากสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน ยังต้องจับตามองว่า ท้ายที่สุดจะกลายเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ส่งผลให้เกิดการระบาดระลอกที่ 6 หรือไม่ โดยพิจารณา หากผสมกันแล้วมีอัตราการติดเชื้อได้ง่ายขึ้นเหนือกว่าตัวอื่นอย่างมากจนชนะ ขณะเดียวกัน ก็ยังไม่สามารถระบุเป็นฆาตกรหรือคนดี จนกว่าจะเห็นพฤติกรรมความรุนแรง” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าว

 

ทั้งนี้ ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวว่า ล่าสุด องค์การอนามัยโลกได้ออกมาเตือนถึงการมองเชื้อโอมิครอนจะเป็นสายพันธุ์สุดท้าย ทำให้ประชาชนการ์ดตก หรือมองว่ากำลังจะเป็นโรคประจำถิ่น ซึ่งองค์การอนามัยโลก มองว่า น่าจะมีสายพันธุ์ที่กลายพันธุ์ได้มากกว่าเชื้อโอมิครอนที่อาจจะเป็นการระบาดในระลอกที่ 6 ซึ่งเชื้อโอมิครอนกลายพันธุ์ไปจากเชื้ออู่ฮั่น ประมาณ 100 ตำแหน่ง

 

“และตัวที่ 6 จะต้องกลายพันธุ์มากกว่าเชื้อโอมิครอนหลายตำแหน่ง แต่จะร้ายกาจรุนแรงหรือไม่ยังไม่รู้ ทั้งนี้ ลูกผสม BA.1+BA.2 เป็นหนึ่งตัวที่ต้องจับตา อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทย ศูนย์จีโนมฯ ยังไม่พบลูกผสม BA.1+BA.2 แต่หากพบก็ไม่น่าประหลาด เพราะไวรัสสามารแพร่มาได้ทุกทางหากการ์ดตก จึงต้องพยายามฉีดวัคซีนป้องกันให้ครอบคลุมทั่วโลก” ศ.เกียรติคุณ วสันต์ กล่าวย้ำ

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง