รีเซต

นายกฯ เตรียมร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คู่ขนานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี และลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น

นายกฯ เตรียมร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คู่ขนานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี และลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น
มติชน
10 พฤศจิกายน 2563 ( 18:58 )
82
นายกฯ เตรียมร่วมประชุมสุดยอดผู้นำอาเซียน คู่ขนานความร่วมมือลุ่มน้ำโขง-เกาหลี และลุ่มน้ำโขง-ญี่ปุ่น

เมื่อเวลา 13.30 น. วันที่ 10 พฤศจิกายน ที่ทำเนียบรัฐบาล น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการสร้างภาคีเครือข่ายระหว่างประเทศและในหลายเวที ที่ผ่านมานายกรัฐมนตรีและรัฐบาลได้นำเสนอประเด็นที่น่าสนใจและเป็นที่ยอมรับจากต่างชาติ ครม.เห็นชอบเอกสารที่จะมีการลงนามหรือรับรองในการประชุมสุดยอดอาเซียนครั้งที่ 37 ประชุมระหว่างวันที่ 12- 15 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งประเทศเวียดนามเป็นเจ้าภาพ โดยเอกสารที่จะมีการรับรองในการประชุมครั้งนี้ มีจำนวนหลายฉบับ ครอบคลุมประเด็นสำคัญ เช่น 1)การจัดทำวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียนภายหลังปี ค.ศ. 2025 2)การวางแนวทางการฟื้นตัวและสร้างความแข็งแกร่งในระยะยาวให้แก่อาเซียนหลังการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 3)การเสริมสร้างขีดความสามารถและความยืดหยุ่นของระบบสาธารณสุข การศึกษา และ SMEs 4)การอำนวยความสะดวกการเดินทางด้านธุรกิจที่จำเป็นในภูมิภาค โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยด้านสาธารณสุข 5)การส่งเสริมความร่วมมือด้านการพัฒนาทุนมนุษย์ระหว่างผู้นำอาเซียนกับผู้นำสหรัฐฯ ในเรื่องการศึกษา สาธารณสุข เศรษฐกิจ เป็นต้น 6)การรับรองโคลอมเบียและสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์เข้าร่วมเป็นอัครภาคีอย่างเป็นทางการในสนธิสัญญามิตรภาพ และความร่วมมือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

 

น.ส.รัชดา กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ ยังมีการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุมน้ำโขง-เกาหลี ครั้งที่ 2 และการประชุมระดับผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 ในวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ซึ่งเป็นการจัดประชุมคู่ขนานกับการประชุมผู้นำอาเซียนครั้งที่ 37 โดยร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุมน้ำโขง-เกาหลี ครั้งที่ 2 แสดงถึงความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างความร่วมมือบนพื้นฐาน 3 เสาหลัก ได้แก่ ประชาชน ความเจริญรุ่งเรือง และสันติภาพ รวมถึง 7 สาขาที่มีความสำคัญ เช่น 1)วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว โดยเสริมสร้างความเข้าใจร่วมกันผ่านการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม 2)การพัฒนาทรัพย์มนุษย์ สร้างขีดความสามารถในระดับอุดมศึกษา การเรียนรู้ทางอิเล็กทรอนิสก์และอาชีวศึกษา 3)ข้อมูลเทคโนโลยี โดยเสริมสร้างความร่วมมือด้านปัญญาประดิษฐ์และข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) ส่วนร่างถ้อยแถลงร่วมการประชุมผู้นำกรอบความร่วมมือลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่น ครั้งที่ 12 จะเป็นการดำเนินการภายใต้ 3 เสาหลัก ของยุทธศาสตร์กรุงโตเกียว ค.ศ.2019 ครอบคลุมประเด็นสำคัญ อาทิ 1)การพัฒนาความเชื่อมโยงที่ดีและมีประสิทธิภาพ เช่น การก่อสร้างระเบียงเศรษฐกิจตะวันออก-ตะวันตกในเมียนมา 2)การสร้างสังคมที่มีประชาชนเป็นศูนย์กลาง เช่น ความร่วมมือทางวิชาการเพื่อลดช่องว่างทางทักษะของผู้เชี่ยวชาญประเทศลุ่มน้ำโขง รวมถึงการสานต่อความสัมพันธ์ อาทิ 1)ข้อริเริ่มลุ่มน้ำโขงกับญี่ปุ่นเพื่อเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 เช่น การสนับสนุนเงินจำนวน 1 พันล้านเยนของญี่ปุ่น สำหรับโครงการส่งเสริมความมั่นคงของมนุษย์ในระดับฐานรากในปี ค.ศ.2020 2) ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี-เจ้าพระยา-แม่โขง (ACMECS) เช่น การเร่งรัดเพื่อบรรลุแผนแม่บทACMECS (ค.ศ.2019-2030)

 

อีกทั้ง ยังมีการประชุมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 ในวันที่ 16 พฤศจิกายน 2563 และการประชุมผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 ในวันที่ 20 พฤศจิกายน 2563 ผ่านการประชุมทางไกล ซึ่งประเทศมาเลเซียเป็นเจ้าภาพ โดยในการประชุมทั้ง 2 ครั้งนี้จะมีการรับรองร่างเอกสาร รวม 3 ฉบับ ได้แก่ 1)ร่างถ้อยแถลงร่วมรัฐมนตรีเอเปค ครั้งที่ 31 เป็นการสรุปความร่วมมือในการฟื้นฟูเศรฐกิจภายหลังโควิด-19 เช่น ส่งเสริมการค้าและการลงทุนเสรีเปิดกว้าง รักษาการเคลื่อนย้ายสินค้าที่จำเป็น ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชน 2)ร่างปฏิญญาผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ครั้งที่ 27 (ปฏิญญากัวลาลัมเปอร์ ค.ศ.2020) เป็นเอกสารแสดงเจตนารมณ์ของผู้นำเขตเศรษฐกิจเอเปค ซึ่งมีสมาชิก 21 ประเทศ เพื่อรับมมือและฟื้นฟูเศรษฐกิจภายหลังโควิด-19 เช่น การบรรเทาผลกระทบของโควิด-19 การกำหนดกรอบดำเนินงานตามปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ.2020 การมีส่วนร่วมทางเศรษฐกิจผ่านเสรษฐกิจดิจิทัลและเทคโนโลยี 3)ร่างปฏิญญาผู้นำว่าด้วยวิสัยทัศน์เอเปคภายหลังปี ค.ศ.2020 เป็นเอกสารกำหนดวิสัยทัศน์และกรอบการดำเนินงานใน 20 ปีข้างหน้า โดยมุ่งเน้นประเด็นสำคัญ เช่น การค้าและการลงทุนเสรี นวัตกรรมและกระบวนการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล การเติบโตที่สมดุลและยั่งยืน สำหรับประเด็นสำคัญที่ไทยจะผลักดันให้มีการบรรจุอยู่ในร่างปฏิญญาฯ นี้ คือ การส่งเสริมและสนับสนุนวิสาหกิจขนาดย่อม ขนาดเล็ก และขนาดกลาง (MSME) และแนวทางการทำธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง