นายกฯ พร้อมหารือ นายกฯ กัมพูชา ร่วมกันผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์

วันนี้ (วันพุธที่ 23 เมษายน 2568) เวลา 10.10 น. (ตามเวลาท้องถิ่นกรุงพนมเปญ ซึ่งเท่ากับกรุงเทพฯ) ณ วิมานสันติภาพ (Peace Palace) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ร่วมพิธีต้อนรับอย่างเป็นทางการ จากนั้น ได้มีการหารือแบบเต็มคณะกับสมเด็จมหาบวรธิบดี ฮุน มาแนด (Samdech Moha Borvor Thipadei HUN Manet) นายกรัฐมนตรีแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา
ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือ นายจิรายุ ห่วงทรัพย์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี สรุปสาระสำคัญดังนี้ นายกรัฐมนตรีขอบคุณสำหรับการต้อนรับที่อบอุ่นจากนายกรัฐมนตรีกัมพูชาและรัฐบาลกัมพูชา ในโอกาสการเยือนกัมพูชาอย่างเป็นทางการ เพื่อเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันในปีนี้ พร้อมเน้นย้ำว่า รัฐบาลไทยให้ความสำคัญต่อมิตรภาพและความร่วมมือที่เป็นรูปธรรมกับกัมพูชา เชื่อมั่นว่า ท่ามกลางสถานการณ์ความไม่แน่นอนทั้งทางการเมืองและเศรษฐกิจในระดับโลก ไทยและกัมพูชาในฐานะเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดจะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันให้แน่นแฟ้น และใช้โอกาสนี้ ผลักดันความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้ก้าวหน้ายิ่งขึ้น
โอกาสนี้ ผู้นำทั้งสองได้หารือประเด็นความสัมพันธ์และความร่วมมือที่สำคัญระหว่างกัน ดังนี้
1. ความสัมพันธ์ทวิภาคี
ทั้งสองฝ่ายมีการแลกเปลี่ยนการเยือนในระดับสูงระหว่างกันอย่างสม่ำเสมอ และมีการจัดกิจกรรมเพื่อเฉลิมฉลองโอกาสครบรอบ 75 ปี การสถาปนาความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างกันตลอดทั้งปี และพร้อมร่วมกันขับเคลื่อนความเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์ระหว่างกันให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น
โอกาสนี้ นายกรัฐมนตรีกัมพูชาเสนอให้ทั้งสองฝ่ายเป็นประธานร่วมกันในพิธีเปิดสะพานมิตรภาพไทย – กัมพูชาแห่งแรก (บ้านหนองเอี่ยน - สตึงบท) อย่างเป็นทางการในปลายปีนี้
2. ความมั่นคง
นายกรัฐมนตรีเสนอให้หน่วยงานทหารและความมั่นคงของทั้งสองประเทศมีการหารือร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อส่งเสริมความไว้เนื้อเชื่อใจ ป้องกันความเข้าใจผิด และรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในพื้นที่ชายแดน โดยเฉพาะเพิ่มพูนความร่วมมือกับกัมพูชา เพื่อสนับสนุนความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชนทั้งสองประเทศ โดยเฉพาะการยกระดับความร่วมมือเพื่อปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ (Online Scams) ระหว่างหน่วยงานตำรวจและฝ่ายปกครอง โดย ผ่านการแบ่งปันพยานหลักฐาน การป้องกันไม่ให้มีการนำสัญญาณอินเทอร์เน็ตและโทรคมนาคมไปใช้ในกิจกรรมผิดกฎหมาย เพิ่มมาตรการควบคุมบริเวณชายแดน และป้องกันการลักลอบเข้าเมืองผิดกฎหมาย รวมถึง การยกระดับความร่วมมือเพื่อแก้ปัญหาหมอกควันข้ามแดน ผ่านการพัฒนาระบบติดตามและเฝ้าระวังร่วมกัน ส่งเสริมการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดีระหว่างกัน โดยเฉพาะด้านการตรวจวัด PM2.5 และการทำเกษตรปลอดการเผา (Zero burn Farming )
3. เศรษฐกิจ
- การค้าและการลงทุน ทั้งสองฝ่ายยินดีที่การค้าระหว่างกันในปี 2567 มีมูลค่ากว่า 10,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และเห็นพ้องร่วมกัน ที่จะวางแนวทางเพิ่มมูลค่าการค้าระหว่างกัน โอกาสนี้ ซึ่งไทยและกัมพูชาจะส่งเสริมความร่วมมือระหว่างหอการค้าของทั้งสองด้วย ทั้งนี้ ไทยและกัมพูชา ยังเห็นพ้องให้มีการเร่งรัดการประชุม Joint Trade Commission ระหว่างกันด้วย และส่งเสริมเขตเศรษฐกิจพิเศษบริเวณชายแดน ความร่วมมือระหว่างหอการค้าของทั้งสองประเทศ รวมถึงการอำนวยความสะดวกให้กับการดำเนินธุรกิจของภาคเอกชนไทยในกัมพูชา ตลอดจนความร่วมมืออย่างใกล้ชิดระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน เพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจของภูมิภาคให้สามารถรับมือกับความท้าทายจากภายนอก
- การพัฒนาพื้นที่ชายแดน นายกรัฐมนตรีเห็นถึงศักยภาพในการเติบโตและการพัฒนาพื้นที่ชายแดนระหว่างไทยกับกัมพูชา เสนอให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันวางแนวทางเชื่อมโยงเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดนของทั้งสองประเทศ พร้อมเร่งรัดการจัดตั้งกลไกร่วม (Joint Mechanism) ภายใต้คณะกรรมการชายแดนทั่วไป (General Border Committee: GBC) เพื่อเร่งรัดการเก็บกู้ทุ่นระเบิดบริเวณชายแดนไทย - กัมพูชาให้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่
- ความเชื่อมโยง ให้ทั้งสองฝ่ายร่วมกันพัฒนาบริการขนส่งสินค้าทางรางระหว่างสองประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพด้านการขนส่ง ตลอดจนให้มีการรื้อฟื้นการเจรจาความตกลงว่าด้วยการขนส่งข้ามแดนทางถนน เพื่อให้รถยนต์ส่วนบุคคลสามารถข้ามพรมแดนได้อย่างสะดวก รวมถึงเร่งรัดการพัฒนาและปรับปรุงโครงการทางหลวงหมายเลข 67 และ 68 ของกัมพูชา ซึ่งจะเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการค้าและการท่องเที่ยวระหว่างกัน
- การท่องเที่ยว ทั้งสองฝ่าย ยังมีศักยภาพที่จะเพิ่มพูนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยวระหว่างกันได้อีกมาก อาทิ การปรับปรุงความตกลงว่าด้วยการข้ามแดน เพื่อให้สามารถพำนักอยู่ในประเทศได้นานขึ้น การเพิ่มบัตรผ่านแดนชั่วคราว (Temporary Border Pass) รวมถึงกัมพูชายินดีเดินหน้าตามแนวคิด Six Countries, One Destination จัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวข้ามแดน โดยอาจเริ่มที่การท่องเที่ยวชายฝั่งไทย – กัมพูชา - เวียดนาม ด้วย
- แรงงาน ไทยให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของแรงงานกัมพูชาในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย และรัฐบาลได้ประกาศยกเว้นค่าธรรมเนียมการขออนุญาตกลับเข้ามาในราชอาณาจักร (Re - Entry Permit) สำหรับแรงงานกัมพูชาที่ต้องการเดินทางกลับประเทศในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ซึ่งหน่วยงานด้านแรงงานของทั้งสองประเทศจะทำงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด เพื่อให้แน่ใจว่าแรงงานกัมพูชาได้รับการจ้างงานผ่านช่องทางที่ถูกกฎหมาย เพื่อให้สามารถเข้าถึงสิทธิประโยชน์และสวัสดิการต่าง ๆ
4. ความร่วมมือเพื่อการพัฒนา
ไทยพร้อมให้ความร่วมมือเพื่อการพัฒนาแก่กัมพูชาอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยเฉพาะด้านการศึกษา การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยนายกรัฐมนตรีย้ำการจัดทำแผนงานความร่วมมือเพื่อการพัฒนา ระยะ 3 ปี ฉบับต่อไป ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว และยืนยันว่า ไทยพร้อมสนับสนุนการก่อสร้างอาคารเรียนภาควิชาภาษาไทย ณ มหาวิทยาลัยภูมินท์พนมเปญ และอาคารอบรมของศูนย์พัฒนาฝีมือแรงงานไทย – กัมพูชา รวมทั้ง ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องที่จะสนับสนุนความร่วมมือด้าน soft power ซึ่งจะช่วยกระชับความสัมพันธ์และมิตรภาพในระดับประชาชนกับประชาชนด้วย
5. ความร่วมมือในระดับภูมิภาค
นายกรัฐมนตรีเห็นว่า อาเซียนควรเสริมสร้างการบูรณาการทางเศรษฐกิจในภูมิภาคให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น พร้อมเพิ่มขีดความสามารถในการรับมือกับความท้าทายจากภายนอก โดยไทยต้องการให้การค้าและการลงทุนภายในอาเซียนเพิ่มมากขึ้น รวมถึงความเป็นหุ้นทางเศรษฐกิจที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้นกับหุ้นส่วนระดับภูมิภาค โดยเฉพาะจีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี และอินเดีย นอกจากนี้ ไทยพร้อมร่วมมือกับกัมพูชา เพื่อเสริมสร้างการเชื่อมโยงทางเศรษฐกิจภายในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง ซึ่งเป็นจุดยุทธศาสตร์เชื่อมโยงกับจีนและภูมิภาคเอเชียใต้
ในตอนท้าย ทั้งสองฝ่ายได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในเมียนมา โดยเห็นพ้องกันว่าการมีปฏิสัมพันธ์กับเมียนมาที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นอาจนำไปสู่พัฒนาการในเชิงบวกที่สอดคล้องกับฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน โดยไทยได้ให้ความช่วยเหลือการแพทย์และสนับสนุนการฟื้นฟูในเมียนมาจากสถานการณ์แผ่นดินไหวที่เกิดขึ้น และพร้อมร่วมมือกับกัมพูชาเพื่อเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับความขัดแย้งในเมียนมามีการพูดคุยกันเพื่อหาทางออกด้วยสันติวิธี