รีเซต

พลังประชารัฐ : พล.อ.ประวิตรนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำภารกิจ “สลายมุ้งการเมือง” เป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” สมาชิกพรรค

พลังประชารัฐ : พล.อ.ประวิตรนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำภารกิจ “สลายมุ้งการเมือง” เป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” สมาชิกพรรค
บีบีซี ไทย
27 มิถุนายน 2563 ( 17:25 )
180
2
พลังประชารัฐ : พล.อ.ประวิตรนั่งหัวหน้าพรรคคนใหม่ ทำภารกิจ “สลายมุ้งการเมือง” เป็น “ศูนย์รวมจิตใจ” สมาชิกพรรค

แกนนำพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ประกาศสลายกลุ่มการเมืองภายใน เพื่อสนองนโยบาย พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้าพรรคคนใหม่วัย 74 ปี พร้อมปฏิเสธภาพลักษณ์ "พรรคทหาร"

การประชุมใหญ่สามัญประจำปี พปชร. เกิดขึ้นวันนี้ (27 มิ.ย.) ที่ห้องแกรนด์ไดมอนด์ บอลรูม เมืองทองธานี กทม. มีวาระสำคัญคือการปรับเปลี่ยนโครงสร้างคณะกรรมการบริหารพรรค (กก.บห.) จาก 34 คน เหลือ 29 คน

 

พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ผงาดเป็นหัวหน้าพรรคคนใหม่ด้วยมติเอกฉันท์และไร้การเสนอชื่ออื่นเข้าแข่งขัน โดยที่บรรดาลูกพรรคต่างให้เหตุผลว่านายพลนอกราชการวัย 74 ปีผู้นี้จะเป็น "ศูนย์รวมจิตใจ" ของทุกคนในพรรค แม้เจ้าตัวไม่ได้มาปรากฏตัวในที่ประชุมวันนี้ โดยให้เหตุผลว่า "เพื่อให้สมาชิกพรรคได้ใช้ดุลพินิจอย่างอิสระ" แต่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (โหวตเตอร์) ของ พปชร. ซึ่งประกอบด้วย กก.บห.ชุดรักษาการ, ผู้แทนสาขาของพรรค, ตัวแทนพรรคประจำจังหวัด และสมาชิกพรรค ก็พร้อมใจกันเทคะแนนให้เขาถึง 516 คะแนนส่วนตำแหน่งเลขาธิการพรรคตกเป็นของนายอนุชา นาคาศัย แกนนำกลุ่ม "สามมิตร" ตามคาดด้วยคะแนนเสียง 495 คะแนน

 

ที่น่าสนใจคือ สมาชิกกลุ่ม "สี่กุมาร" นักการเมืองคนสนิทของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไม่มีตำแหน่งใด ๆ ในฝ่ายบริหารชุดใหม่ของ พปชร. นี่จึงถือเป็นการปิดฉากอำนาจของพวกเขาอย่างชัดแจ้ง หลังเกิดความไม่ลงรอยภายในพรรคตั้งแต่ช่วงจัดโผคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2/1" เมื่อเดือน มิ.ย. 2562

นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง ในฐานะรักษาการหัวหน้า พปชร. กลุ่มสี่กุมาร กล่าวว่า ในระยะที่ผ่านมา ได้ร่วมกันจัดตั้งพรรค และสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นนายกรัฐมนตรีอีกสมัย แต่งานของพรรคย่อมไม่มีที่สิ้นสุด เราสามารถทำได้ในระดับหนึ่งโดยได้รัฐบาลตามที่มุ่งหวังไว้แล้ว

 

 

อย่างไรก็ตามเขาไม่ได้ตอบคำถามของสื่อมวลชนที่ว่ารู้สึกเสียใจหรือไม่กับสิ่งที่เกิดขึ้น โดยได้เดินออกจากวงให้สัมภาษณ์ทันที

ก่อนหน้านี้เมื่อ 1 มิ.ย. กก.บห.พปชร. จำนวน 18 คนได้พร้อมใจกันลาออกจากตำแหน่ง ยัดเยียดสถานะ "รักษาการ" ให้ กก.บห. ที่มีนายอุตตม เป็นหัวหน้าพรรค และนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รมว.พลังงาน จากกลุ่มสี่กุมาร เป็นเลขาธิการพรรค ท่ามกลางข้อวิเคราะห์ว่าปฏิบัติการ "ยึดพรรค" คือบันไดขั้นแรกที่นำไปสู่การ "ยึดเก้าอี้รัฐมนตรี" ในการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) "ประยุทธ์ 2/2" ที่จะเกิดขึ้นในวาระครบขวบปีของรัฐบาล

ผลที่เกิดขึ้นจากการลาออกของ กก.บห. เกินกึ่งหนึ่ง ทำให้ พปชร. ต้องจัดประชุมใหญ่สามัญเพื่อเลือก กก.บห. ชุดใหม่ภายใน 45 วันตามข้อบังคับพรรค โดยที่ประชุมใหญ่สามัญ พปชร. มีมติเลือก กก.บห. ชุดใหม่จำนวน 27 คน (ตั้งไม่เต็มจำนวนตามข้อบังคับพรรคซึ่งตั้งได้ 29 คน) ทว่าในส่วนของรองหัวหน้าพรรค 9 คน เป็นอำนาจหัวหน้าพรรคที่จะแต่งตั้งต่อไปโดยเลือกจากรายชื่อที่อยู่ใน กก.บห. ชุดใหม่

หนึ่งในนักการเมืองที่มีส่วนสำคัญในการเดินหมาก "ยึดพรรค" โดยอาศัยกลเกมทางกฎหมาย และประกาศตัวเป็นสมาชิกกลุ่ม "บิ๊กป้อม" อย่างนายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ ปฏิเสธกับบีบีซีไทยถึงการถูกเชื่อมโยงในปฏิบัติการดังกล่าว โดยบอกเพียงว่าเขาได้รับมอบหมายให้เป็นผู้จัดการประชุมใหญ่ของพรรค เพราะรับผิดชอบจัดข้อบังคับพรรคใหม่ พร้อมยืนยันด้วยว่าการปรับโครงสร้าง กก.บห.พปชร. เป็นเรื่องภายในพรรค ส่วนการปรับ ครม. เป็นอำนาจของนายกฯ

ส่วนความสำเร็จในการ "ยึดอำนาจ" กลุ่มสี่กุมารภายในพรรค จะส่งผลต่อสถานะในรัฐบาลที่พวกเขายึดครองเก้าอี้รัฐมนตรีอยู่ 3 ตำแหน่งอย่างไรนั้น นายอุตตมกล่าวกับสื่อเพียงสั้น ๆ ว่าการปรับ ครม. เป็นอำนาจของนายกฯ ส่วนตัวยืนยันเดินหน้าทำงานได้กับทุกคน

ขณะที่ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรและสหกรณ์ ให้ความเห็นว่าอดีตหัวหน้าพรรค อดีตเลขาธิการพรรค และอดีต กก.บห.ชุดเก่า "มีความเป็นสุภาพบุรุษพอ เมื่อถึงเวลาไปก็ต้องไป และเชื่อว่าทุกท่านยินดีไปเอง" และ "คนที่ต้องการเข้ามาเล่นการเมือง เมื่อถึงเวลาไปก็ต้องไป"

พปชร. ในฐานะ "พรรค 119 เสียง" เป็นแกนนำรัฐบาลผสม 20 พรรค โดยปัจจุบันมีโควต้ารัฐมนตรีอยู่ 18 คน 19 ตำแหน่ง ทว่ามีรัฐมนตรีอยู่ 6 คนที่เป็นโควต้ากลางของนายกฯ และไม่ได้เป็นสมาชิกพรรค (รวมนายกฯ ด้วย)

เผยเงื่อนไขหัวหน้าใหม่ให้สลายมุ้งย่อย

การผลักดันให้ "ประธานยุทธศาสตร์พรรค" ขึ้นแท่นเป็น "หัวหน้าพรรคคนที่ 2" เกิดขึ้นภายใต้ความเชื่อของคนการเมืองใน พปชร. ว่า "บารมี" ของ "พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์" จะช่วยให้นักการเมืองที่อกหักจากการจัดโผ ครม. "ประยุทธ์ 2/1" ถึงฝั่งฝันบนเก้าอี้รัฐมนตรีได้ โดยมีการคาดการณ์ในหมู่นักการเมืองขั้วรัฐบาลว่าการปรับ ครม. ครั้งนี้จะเป็นการ "ปรับใหญ่" และเกิดขึ้นภายหลังการจัดทำกฎหมายงบประมาณปี 2564 เสร็จสิ้น

อย่างไรก็ตาม "น้องรัก" อย่าง พล.อ.ประยุทธ์ประกาศผ่านสื่อมวลชนเมื่อ 22 มิ.ย. ว่า "ไม่มีใครสามารถต่อรองตำแหน่งรัฐมนตรีกับผมได้" พร้อมแจกแจงเหตุผลความจำเป็นแทน "พี่ใหญ่" ในการเข้ารั้งเก้าอี้หัวหน้า พปชร. ว่า "เพื่อไม่ให้มีการแบ่งกลุ่มแบ่งพวกเพื่ออำนาจการต่อรอง เพราะใครจะเป็นตำแหน่งใด ก็จะต้องเป็นเรื่องที่พรรคเสนอมา"

นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และประธาน ส.ส.พปชร. กล่าวกับบีบีซีไทยว่า หลังจาก พล.อ.ประวิตรขึ้นเป็นหัวหน้า พปชร. ภายในพรรคจะไม่มี "กลุ่ม" การเมืองย่อยอีกต่อไป จะมีแต่ "แกน" ที่คอยเป็นฟันเฟืองช่วยให้พรรคขับเคลื่อนไปได้

"นี่เป็นเงื่อนไขของท่านประวิตรเลยว่าถ้าจะให้ท่านมาเป็นหัวหน้าพรรค ต้องไม่มีกลุ่มอีก ท่านบอกเลยว่า 'อยู่ด้วยกัน ทำเพื่อบ้านเมือง ทำให้นายกฯ สบายใจ'" ประธาน ส.ส.พปชร. กล่าวอ้างคำพูดของหัวหน้า พปชร. คนใหม่

ทำไมต้อง "หัวหน้าป้อม"

บีบีซีไทยสนทนากับนักการเมืองที่เคยกางมุ้งย่อยภายใน พปชร. เพื่อหาคำตอบว่าทำไมหัวหน้าพรรคคนใหม่ต้องชื่อ พล.อ.ประวิตร

2 เหตุผลที่ถูกพูดถึงมากที่สุดคือ พล.อ.ประวิตรเป็น "ผู้มีบารมี" และจะเป็น "ศูนย์รวมจิตใจ" ของทุกคนในพรรค ซึ่งเหตุผลเหล่านี้เคยถูก พปชร. ใช้อธิบายมาแล้วหนหนึ่งในคราวที่ กก.บห. มีมติแต่งตั้ง พล.อ.ประวิตรเป็นประธานยุทธศาสตร์พรรคเมื่อ 13 ส.ค. 2562

  • นายสุชาติ ชมกลิ่น ส.ส.ชลบุรี และประธาน ส.ส. : "ท่านมีบารมีมาก พปชร. เป็นพรรคใหญ่ที่มี ส.ส. กว่า 100 คนโดยมาจากทุกภาคของประเทศซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมือง จึงมีคนจากหลายภาคและมีความเห็นแตกต่างกัน ถ้าท่านมาเป็นหัวหน้าพรรคก็จะเป็นศูนย์รวมจิตใจของทุกคนให้เป็นหนึ่งเดียว เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่เมตตาและให้โอกาสคนทุกคน ให้ค้นหาทั้งพรรค ไม่มีใครมีบารมีมากเท่าท่านประวิตรอีกแล้ว"
  • นายไพบูลย์ นิติตะวัน ส.ส.บัญชีรายชื่อ กลุ่มบิ๊กป้อม : "ท่านอยู่สูงกว่าตำแหน่งหัวหน้าพรรคแล้ว แต่เราไปเชิญท่านลงมาให้เป็นเสาหลัก มาเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อแก้ปัญหาภายในพรรค และทำให้เกิดประโยชน์อย่างแท้จริง"
  • ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า รมช.เกษตรฯ : "สถานการณ์บ้านเมืองอย่างนี้ เราเห็นความจำเป็นต้องมีผู้นำที่เข้มแข็ง เด็ดขาด กล้าตัดสินใจในการเดินหน้าประเทศ เพราะประเทศบอบช้ำมามากพอแล้ว... วันนี้ท่านจะทำให้ พปชร. เป็นหนึ่งเดียว"
  • นายพุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กลุ่มสามทหารเสือ กปปส. : "ท่านเป็นคนน่ารัก เข้ากับทุกคนได้ มีบารมี มีคนให้ความเกรงใจ และให้ความรัก เพราะพรรคเรามาจากความหลายหลาย จึงต้องการศูนย์รวมเป็นหัวเรือหลักให้ทุกคนพูดคุยกันไปในทิศทางเดียวกันได้ เชื่อว่าหลายอย่างที่ทุกคนกังวลจะดีขึ้นแน่นอน"
  • น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี กลุ่มภาคกลาง : "ส่วนตัวชื่นชอบและศรัทธาในตัวท่าน เพราะเป็นผู้ใหญ่ที่มีความเมตตา มีบารมี มีพื้นฐานจิตใจดี"

ที่มา : บีบีซีไทยรวบรวมจากคำให้สัมภาษณ์นักการเมืองสังกัด พปชร. ในระหว่างการประชุมใหญ่สามัญพรรค วันที่ 27 มิ.ย. 2563

ปฏิเสธภาพ "พรรคทหาร"

พล.อ.ประวิตร อดีตรองหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ถือเป็นแกนนำคณะรัฐประหารที่เข้าไปลุยทำพรรคการเมืองเต็มตัวในรอบ 9 ปี นับจาก พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน หัวหน้าคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ผู้ก่อรัฐประหารปี 2549 เปิดหน้าในฐานะหัวหน้าพรรคมาตุภูมิ และลงสมัคร ส.ส.บัญชีรายชื่อในการเลือกตั้งปี 2554 โดยได้เข้าไปทำหน้าที่ในสภาเกือบ 3 ปี

คำถามที่เกิดขึ้นคือ พปชร. กำลังจะกลายเป็น "พรรคทหาร+การเมืองวิถีเก่า" เต็มรูป และตอกย้ำวาทกรรม "สืบทอดอำนาจ" ที่เกิดขึ้นในช่วงเลือกตั้งหรือไม่

เกี่ยวกับเรื่องนี้ แกนนำ พปชร. ชี้แจงตรงกันว่า ถ้าดูโครงสร้าง กก.บห.พปชร. จะเห็นว่าไม่มีทหารสักคน อีกทั้งกระบวนการได้มาซึ่ง กก.บห. ก็เป็นไปตามที่คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) กำหนด จึงถือว่าทุกคนมาจากการเลือกตั้ง ไม่ใช่การแต่งตั้ง

"เรื่องการสืบทอดอำนาจ ผมว่าเราเลยจุดนั้นมานานมากแล้ว เพราะปีกว่า ๆ ที่ผ่านมา ได้แสดงให้เห็นแล้วว่าเราเป็นพรรคที่มีตัวแทนได้รับการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยจากทุกภาค เช่นเดียวกับการเลือกตั้ง กก.บห. ชุดใหม่ในวันนี้ก็ถูกต้องตามกติกาทุกอย่าง โดยสมาชิกพรรค ไม่ได้รับการแต่งตั้งจากใคร" นายพุทธิพงษ์กล่าว

"ถึงท่านประวิตรเคยเป็นทหาร แต่มันก็มาพร้อมกับการที่ท่านได้บริหารกองทัพมาก่อน มีประชากรตั้งเป็นแสน ๆ ซึ่งไม่ใช่ของง่ายนะ" นายสุชาติกล่าว

ย้อนกลับไปก่อนเลือกตั้ง 24 มี.ค. 2562 พปชร. หาเสียงด้วยการชูคำขวัญ "เลือกความสงบจบที่ลุงตู่" นั่นหมายความว่าบุคคลที่พรรคเชิด-ชูเป็นจุดขายคือ พล.อ.ประยุทธ์ หาใช่ พล.อ.ประวิตรไม่

อย่างไรก็ตามประธาน ส.ส.พปชร. เชื่อว่า การได้ "นายพลผู้พี่" เป็นหัวขบวนใหม่ของ พปชร. จะไม่นำไปสู่ความผิดหวังของบรรดากองเชียร์ "ลุงตู่" เพราะ พล.อ.ประวิตรเข้าเป็นหัวหน้าพรรคเพื่อดูแลฝ่ายนิติบัญญัติและดูแลพรรคที่สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์เป็นนายกฯ ให้เข้มแข็ง ก็จะทำให้ พล.อ.ประยุทธ์สามารถทำหน้าที่ฝ่ายบริหารได้อย่างสบายใจ

ส่วนการส่งนักการเมืองวัย 74 ปีขึ้นแท่นผู้นำสูงสุดของพรรค จะสวนทานกับกระแสคนรุ่นใหม่ที่เกิดขึ้นในการเมืองไทยหรือไม่นั้น น.ส.ปารีณา ไกรคุปต์ ส.ส.ราชบุรี กล่าวกับบีบีซีไทยว่าไม่ควรเอาเรื่องอายุมาเป็นเกณฑ์กำหนดว่าใครควรเป็นหัวหน้าพรรค เพราะเป็นเรื่องภายในของ พปชร. เท่านั้น คำว่า "คนรุ่นใหม่" เป็นนิยามที่คนรุ่นใหม่คิดขึ้นมา แต่การบริหารงานพรรคการเมืองถือเป็นเรื่องของสมาชิก พปชร. โดยที่ทุกคนก็เห็นเป็นเอกฉันท์ว่า พล.อ.ประวิตรเหมาะสมจะเป็นหัวหน้าพรรค

ข่าวที่เกี่ยวข้อง