ยอดใช้น้ำมัน2เดือนรูดเซ่นโควิด-19
ยอดใช้น้ำมัน2เดือนรูดเซ่นโควิด-19
น.ส.นันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน(ธพ.) เปิดเผยว่า ผลจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทำให้ยอดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้(มกราคม-กุมภาพันธ์2563) ลดลง 5.3% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน โดยกลุ่มดีเซล ลดลง 2% มาจากน้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี7 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 53.4 ล้านลิตรต่อวัน ลดลง 18.9% ขณะที่น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 มีปริมาณการใช้เฉลี่ยอยู่ที่ 3.9 ล้านลิตรต่อวัน หลังเริ่มจำหน่ายตั้งแต่ปลายเดือนพฤษภาคม 2562 โดยปริมาณการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็วดังกล่าวอยู่ในการปรับเปลี่ยนตามนโยบายของภาครัฐที่กำหนดให้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี10 เป็นน้ำมันดีเซลฐานของประเทศและใช้มาตรการราคาเป็นกลไกผลักดันให้เป็นไปตามเป้าหมาย
น.ส.นันธิกา กล่าวว่า น้ำมันอากาศยานเชิงพาณิชย์ ลดลง 4.4% เนื่องจากสถานการณ์การระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบิน น้ำมันเตา ลดลง 33.8% น้ำมันก๊าด ลดลง 9.2% ก๊าซหุงต้ม(แอลพีจี) ลดลง 12.9% ปริมาณการใช้ภาคปิโตรเคมีลดลงมากที่สุด 24.5% ขณะที่ภาคขนส่งลดลง 13.5% ภาคครัวเรือนลดลง 1.9% และภาคอุตสาหกรรมลดลง 1.8% และก๊าซธรรมชาติสำหรับยานยนต์(เอ็นจีวี) ลดลง 12.6% สาเหตุมาจากการปรับราคาเอ็นจีวีสำหรับรถยนต์ส่วนบุคคลสะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ประกอบกับนโยบายส่งเสริมการใช้น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว บี20 สำหรับรถบรรทุกขนาดใหญ่ทำให้ประชาชนและรถโดยสารหันไปใช้ดีเซลหมุนเร็วบี 20 ทดแทน
“มีเพียงกลุ่มน้ำมันเบนซิน ที่เพิ่มขึ้น 0.3% จากความต้องการใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์อี20 เพิ่มขึ้นมากที่สุด อยู่ที่ 6.7 ล้านลิตรต่อวัน คิดเป็นอัตราเพิ่มขึ้น 7.9% เนื่องจากมีราคาต่ำกว่าแก๊สโซฮอล์ 95 ถึง 3.01 บาทต่อลิตร แต่น้ำมันแก๊สโซฮอล์ชนิดอื่นทรงตัว เพราะประชาชนในเมืองเดินทางน้อยลง”น.ส.นันธิกากล่าว
น.ส.นันธิกา กล่าวว่า สำหรับการนำเข้าน้ำมันเชื้อเพลิง มีปริมาณรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน นำเข้าน้ำมันดิบอยู่ที่ 922,977 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 10.3% มูลค่า 59,406 ล้านบาทต่อเดือน เนื่องจากมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงกลั่น ขณะที่การส่งออกน้ำมันสำเร็จรูปมีปริมาณส่งออกลดลงเช่นกันอยู่ที่ 175,222 บาร์เรลต่อวัน ลดลง 6.7% มูลค่า 11,234 ล้านบาทต่อเดือน