SAKติดเครื่องสินเชื่อโดรน ปี65พอร์ตรวมแตะหมื่นล.
ทันหุ้น - SAK เร่งเครื่องผลักดัน Smart Farmer ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนฐานรากสู่ความยั่งยืน วางเป้ายอดปล่อยสินเชื่อโดรนเพื่อการเกษตรปี 2565 กว่า 1 พันลำ มูลค่าราว 200 ล้านบาท ปักธงพอร์ตมูลหนี้ยืนเหนือ 1.15 หมื่นล้านบาท โต 35% จากปีก่อน มั่นใจคุ้มเข้ม NPL ต่ำระดับ 2-2.5%
นายศิวพงศ์ บุญสาลี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ศักดิ์สยามลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ SAK ผู้ให้บริการสินเชื่อรายย่อยภายใต้แบรนด์ ‘ศักดิ์สยามลิสซิ่ง’ เปิดเผยว่า แผนการดำเนินงานในปี 2565บริษัทมีความมุ่งมั่นที่จะให้การสนับสนุนให้เกษตรกรเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรและผลักดันเกษตรกรสู่การเป็น Smart Farmer มากขึ้น เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนฐานรากสู่ความยั่งยืน โดยจะรุกขยายธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตร ทั้งการผลิต การจจัดจำหน่าย และการให้บริการพ้นยา ให้แก่เกษตรกร
รุกสินเชื่อโดรน
โดยที่ผ่านมา SAK ได้ลงนามบันทึกข้อตกลง (MOU) ร่วมทุน กับนาย ปภังกร โชคทวีชัยเจริญ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในธุรกิจโดรนเพื่อการเกษตรมายาวนาน เพื่อจัดตั้งบริษัท ศักดิ์สยาม เมกเกอร์ โดรน จำกัด ซึ่ง SAK ถือหุ้นสัดส่วน 70% และถือหุ้นในนามบุคคล 30%เบื้องต้นคาดว่าจะจัดตั้งบริษัทร่วมทุนดังกล่าวภายในไตรมาส 1/2565เบื้องต้นบริษัทวางเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อโดรนปี 2565 ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 1,000 ลำ หรือคิดเป็นมูลค่ากว่า 200 ล้านบาท และด้วยความต้องการที่ขยายตัวมากทำให้มีโอกาสเห็นการเติบโตเป็นเท่าตัวจากเป้าหมายที่วางไว้ในปีหน้า
นอกจากนี้ บริษัทยังมีความสนใจและอยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ในการเพิ่มไลน์ผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่ๆ โดยเฉพาะสินเชื่อที่ดินเพื่อการทำมาหากิน และสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเพิ่มเติม เบื้องต้นคาดว่าจะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนในช่วงกลางไตรมาส 1/2565โดยมองว่าผลิตภัณฑ์สินเชื่อใหม่จะเข้ามาเป็นอีกแหล่งเงินทุนในการประกอบอาชีพต่างๆ โดยเฉพาะภาคการเกษตร ซึ่งบริษัทพร้อมสนับสนุนสินเชื่อเป็นแหล่งเงินทุนให้เกษตรกรที่สนใจผ่านเครือข่ายสาขา ครอบคลุมภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตสินเชื่อคงค้างในปี 2565 ไว้ที่ไม่น้อยกว่า 25-30% หรือแตะที่ระดับ 11,500 ล้านบาท เพิ่มขึ้นมากกว่า 2,500-3,000 ล้านบาท จากสิ้นปี 2564 นี้ ที่คาดว่าจะทำได้ไม่ต่ำกว่า 8,400 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 35% จากปีก่อน โดยในช่วง 9เดือนแรกของปีนี้บริษัทมีพอร์ตมูลหนี้คงค้าแล้วที่ 8,222 ล้านบาท
อย่างไรก็ดี ด้วยความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการขยายสาขาใหม่ทำให้คาดว่าในปีหน้าบริษัทจะมีการทำสัญญาใหม่กับลูกค้าเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 80,000สัญญา จากสิ้นปีนี้ที่คาดว่าจะอยู่ที่ประมาณ 60,000 สัญญา และสัดส่วนลูกค้ากว่า 60% เป็นเกษตรกร
คลอดสาขาใหม่
ส่วนแผนการขยายสาขาใหม่ในปี 2565 นั้น บริษัทวางเป้าหมายนับตั้งแต่ไตรมาส 1-3/2565 จะทยอยเปิดให้บริการสาขาใหม่รวมกว่า 200 สาขา โดยแผนเปิดสาขาใหม่นั้น ในปีหน้าบริษัทจะมุ่งเน้นขยายเข้าไปในจังหวัดที่ยังไม่มีพื้นที่ให้บริการเพื่อสร้างฐานลูกค้าใหม่ และทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งวงเงินทุนมากขึ้น ดังนั้นแล้วให้ภายในไตรมาส 4/2565 จะมีสาขารวมทั้งสิ้นกว่า 930 สาขา ขณะเดียวกันบริษัทยังคงความสามารถในการควบคุมสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ณ สิ้นปี 2564 และเฉลี่ยรวมในปี 2565 ไว้ที่ไม่เกินระดับ 2-2.5%
ขณะเป้าหมายการเติบโตของพอร์ตมูลหนี้คงค้างในอนาคตนั้น บริษัทคาดว่าในปี 2566-2567 พอร์ตมูลหนี้จะเติบโตขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 12,000 ล้านบาท และ 17,000 ล้านบาท ตามลำดับ สอดคล้องไปตามการขยายสาขาใหม่และมีฐานลูกค้าใหม่ที่เพิ่มขึ้น พร้อมคาดว่าปีหน้ากำไรจะเติบโตก้าวกระโดด จากปีนี้ที่ทำฐานลูกค้าเพิ่มเข้ามา ส่วนธุรกิจนายหน้าประกันภัยปีนี้คาดว่าสามารถสร้างรายได้ที่ประมาณ 1 ล้านบาท และมองว่าปี 2565 จะสร้างรายได้จะมากกว่านี้อีกหลายเท่า