รีเซต

‘รู้จักการประชุมสองสภาจีน’ จับตานโยบายสำคัญ-เปิดตัวนายกฯ ใหม่ รับรองสถานะ ‘สี จิ้นผิง’ เป็นปธน.สมัยที่ 3

‘รู้จักการประชุมสองสภาจีน’ จับตานโยบายสำคัญ-เปิดตัวนายกฯ ใหม่ รับรองสถานะ ‘สี จิ้นผิง’ เป็นปธน.สมัยที่ 3
TNN ช่อง16
6 มีนาคม 2566 ( 11:33 )
69
‘รู้จักการประชุมสองสภาจีน’ จับตานโยบายสำคัญ-เปิดตัวนายกฯ ใหม่ รับรองสถานะ ‘สี จิ้นผิง’ เป็นปธน.สมัยที่ 3

ก่อนหน้านี้ การประชุมที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติของจีน หรือ CPPCC ได้เปิดฉากไปแล้วตั้งแต่วันที่ 4 มีนาคม ซึ่งถือเป็นการประชุมที่มีการคาบเกี่ยวกันกับการประชุม NPC ทำให้หลายคนเรียกการประชุมสำคัญของจีนครั้งนี้ว่า เป็น “การประชุมสองสภา” 


---ประชุมสองสภาคืออะไร ?---


เหตุผลของการที่เรียกการประชุมทั้ง 2 ส่วน ว่าเป็น “การประชุมสองสภา” เนื่องจากการประชุมประจำปีสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติ และการเปิดการประชุมที่ปรึกษาทางการเมืองแห่งชาติ เป็นการประชุมประจำปีที่ถูกจัดแยกกัน แต่อยู่ในช่วงเวลาเดียวกัน  โดยการประชุม NPC จัดขึ้นตั้งแต่วันที่ 5-13 มีนาคม พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ NPC จำนวน 2,948 คน ซึ่งทำหน้าที่คล้ายฝ่ายนิติบัญญัติ หรือ รัฐสภา ส่วน CPPCC ซึ่งมีสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีนจำนวน 2,132 คน จัดขึ้นวันที่ 4-11 มีนาคม ทำหน้าที่เป็นคณะที่ปรึกษา 


ทั้งนี้ ผู้แทนในการประชุมสองสภา ยังรวมไปถึงผู้บริหารธุรกิจ บุคคลที่มีชื่อเสียง โดยสื่อของรัฐบาลจีน รายงานเมื่อวันจันทร์ (27 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมาว่า นักบินเครื่องบินขับไล่หญิงคนแรกของประเทศ ได้รับเลือกให้เป็นผู้แทนการประชุมครั้งนี้ด้วย 


ผู้แทนเกือบ 3,000 คน จะต้องเดินทางมาที่กรุงปักกิ่ง เพื่อให้สัตยาบันกฎหมาย การปรับเปลี่ยนบุคลากร และกำหนดงบประมาณประจำปีของรัฐบาล ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์นี้


การประชุมสองสภาในปีนี้ ไม่ค่อยได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 หลังจากนโยบายโควิดเป็นศูนย์ถูกยกเลิกเมื่อเดือนธันวาคมที่ผ่านมา โดยเมื่อปี 2020 การประชุมต้องล่าช้าไปนานหลายเดือน ขณะที่ ปี 2021 และ 2022 การประชุมมีขึ้นเพียงแค่ 1 สัปดาห์ แทนระยะเวลาปกติ ซึ่งอยู่ที่ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวที่ต้องมาทำข่าวการประชุมครั้งนี้ จำเป็นต้องกักตัวอยู่ในโรงแรมที่กำหนดไว้ตั้งแต่เวลา 20.00 น. ของคืนวันศุกร์ (3 มีนาคม) ซึ่งแสดงให้เห็นว่า จีนยังคงมีข้อกังวลบางอย่างเกี่ยวกับการแพร่ไวรัส


การประชุมสองสภามักจะเป็นช่วงเวลาที่ทั่วโลกจะได้เห็นการประกาศนโยบายที่สำคัญของจีน เช่น เมื่อปี 2021 จีนได้ขยายการควบคุมเขตกึ่งปกครองตนเองอย่าง ฮ่องกง และประกาศยกเครื่องทางการเมือง เพื่อทำให้แน่ใจว่า ฮ่องกงจะถูกปกครองโดยผู้รักชาติเท่านั้น ซึ่งในอีกแง่หนึ่งก็หมายความว่า เป็นบุคคลที่จงรักภักดีต่อพรรคคอมมิวนิสต์ ขณะที่ ปี 2020 การประชุมสองสภาได้ผลักดันกฎหมายความมั่นคงแห่งชาติของฮ่องกง ซึ่งกลายเป็นกฎหมายหลักที่ถูกใช้ในการควบคุมฝ่ายตรงข้าม และผู้เห็นต่าง 


นอกจากนี้ ปี 2018 ยังได้มีการยกเลิกข้อจำกัดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งของผู้นำประเทศ ซึ่งปูทางให้สี จิ้นผิง สามารถดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีจีนได้ตลอดชีวิต 


---อะไรที่ต้องจับตามอง ?---


ทั้งนี้ มีการคาดว่า ในการประชุม NPC จะมีพิธีการรับรองสถานะของ สี จิ้นผิง ดำรงตำแหน่งเป็นประธานาธิบดีจีนอย่างเป็นทางการสมัยที่สาม ตลอดจนจะมีการ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี และรองนายกรัฐมนตรีคนใหม่ รวมไปถึงรัฐมนตรีกระทรวงต่าง ๆ ซึ่งเป็นการการปรับคณะรัฐมนตรีจีนครั้งใหญ่ที่สุดในรอบ 10 ปี


หัวข้อหลัก ๆ ที่จะนำมาหารือกันในระหว่างการประชุมประจำปีของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติของจีนที่เริ่มต้นในวันที่ 5 มีนาคม และดำเนินการต่อเนื่องไปจนถึงช่วงเช้าของวันที่ 13 มีนาคม กินระยะเวลานาน 8 วันครึ่ง มีทั้งหมด 9 หัวข้อ ได้แก่


1.การพิจารณารายงานการทำงานของรัฐบาล

2.ทบทวนรายงานการดำเนินการตามแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติของปีที่แล้ว รวมถึงร่างแผนที่จะดำเนินการในปีนี้

3.ทบทวนรายงานการดำเนินการบริหารงบประมาณส่วนกลางและส่วนท้องถิ่นในปีที่แล้ว รวมถึงร่างแผนงบประมาณใหม่สำหรับปีนี้

4.พิจารณาร่างกฎหมายที่เสนอโดยคณะกรรมการสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน เกี่ยวกับการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายของจีน

5.พิจารณารายงานการทำงานของคณะกรรมการสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน

6.พิจารณารายงานการทำงานของศาลประชาชนสูงสุด

7.พิจารณารายงานการทำงานของอัยการประชาชนสูงสุด

8.พิจารณาแผนปฏิรูปสภาแห่งรัฐ

9.คัดเลือกสมาชิกที่จะเข้ามาทำงานในภาคส่วนสำคัญของรัฐ


การประชุมยังมีขึ้น เพื่อทบทวนแผนปฏิรูปสำหรับพรรคคอมมิวนิสต์จีน และสถาบันต่างๆของรัฐ ซึ่งที่การเปลี่ยนแปลงนั้น ครอบคลุมทั้งในด้านการเงิน และเทคโนโลยี รวมถึงการเพิ่มสถานะของพรรคคอมมิวนิสต์ในธุรกิจที่ไม่ใช่ของรัฐ 


แม้จะยังไม่แน่ชัดว่า ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จะส่งผลอย่างไรต่อเศรษฐกิจระยะสั้น แต่บรูซ แปง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์และหัวหน้าฝ่ายวิจัยของ Greater China ที่ JLL กล่าวว่า ผลกระทบจะเป็นเรื่องของธรรมาภิบาลมากกว่า


แปง ชี้ให้เห็นว่า นโยบายเศรษฐกิจขนาดใหญ่ของปีนี้ กำหนดไว้ตั้งแต่ปลายปี 2022 และในช่วง 2 เดือนแรกของปีนี้ ฝ่ายต่าง ๆ ของรัฐบาลได้เริ่มส่งสัญญาณดำเนินการตามแผนของพวกเขาแล้ว 


นักวิเคราะห์หลายคน คาดว่า การปฏิรูปครั้งนี้ จะมีการเพิ่มหน่วยงานของรัฐให้เข้าไปอยู่ในสังกัดของพรรคคอมมิวนิสต์ โดยมีแนวโน้มที่จะมุ่งเน้นไปที่ภาคการเงิน และด้านความมั่นคงของรัฐ 


---อำนาจที่เพิ่มขึ้นของ ‘สี จิ้นผิง’---


การประชุมในสัปดาห์นี้ ถูกจับตามองจากทั่วโลกว่า เป็นการประชุมเชิงสัญลักษณ์ของมหากาพย์การกระชับอำนาจของสี จิ้นผิง โดยที่ผ่านมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงเจ้าหน้าที่ระดับสูงของพรรคคอมมิวนิสต์ ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบุคคลที่ภักดีต่อผู้นำจีน


นอกจากนี้ จะมีการการเปลี่ยนตัวนายกรัฐมนตรี ซึ่งในทางทฤษฎีแล้วมีอำนาจรองเพียงจากสี จิ้นผิงเท่านั้น 


หลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนปัจจุบัน จะขึ้นเวทีในการประชุมวันแรก แล้วหลังจากนั้นจะเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่ ซึ่งแน่นอนแล้วว่า บุคคลที่จะได้รับการดำรงตำแหน่งต่อคือ หลี่ เฉียง อดีตเจ้าหน้าที่ระดับสูงพรรคคอมมิวนิสต์ สาขามหานครเซี่ยงไฮ้ และเคยทำงานใกล้ชิดกับสี จิ้นผิง 


การประชุมครั้งนี้ ยังจะมีการปรับเปลี่ยนตัวบุคคลที่จะดำรงตำแหน่งต่าง ๆ เช่น ผู้คุมกระทรวง กรม และตำแหน่งระดับรัฐมนตรี และมีการคาดการณ์ว่า ผู้ที่ได้รับการแต่งตั้งจะมาจากสายเดียวกัน


นอกจากนี้ เมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้ว ในการประชุมสภาพรรคคอมมิวนิสต์จีน ได้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการโปลิตบูโรชุดใหม่ 7 คน นั่นหมายความว่า หน่วยงานที่มีอำนาจที่สุดในประเทศตอนนี้ มีแต่ผู้ภักดีของสี จิ้นผิงเท่านั้น 


---จีนประกาศตั้งเป้าเศรษฐกิจปีนี้โต 5% เดินหน้าสู่ความทันสมัย--- 


รายงานการปฏิบัติงานของรัฐบาลจีน ระบุ เป้าหมายตัวเลขเติบโตทางเศรษฐกิจประจำปี 2023 อยู่ที่ 5% ลดลงเล็กน้อยจากปีที่แล้วที่ตั้งไว้ที่ 5.5% เมื่อจีนเริ่มกลับมาฟื้นตัวจากการบังคับใช้มาตรการเข้มงวด เพื่อควบคุมการระบาดของไวรัสโควิด-19 มาเป็นระยะเวลา 3 ปี รายงาน ยังระบุด้วยว่า จีนได้ตั้งเป้าหมายการขาดดุลงบประมาณปี 2023 อยู่ที่ 3% และตั้งเป้าดัชนีราคาผู้บริโภคอยู่ที่ราว 3% ขณะที่ เศรษฐกิจจีนในปีที่แล้ว ขยายตัวที่ 3% ซึ่งไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้อยู่ที่ 5.5% และนับเป็นการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอัตราต่ำที่สุดของจีนในรอบเกือบครึ่งศตวรรษ


สำนักข่าว CCTV รายงานว่า นักธุรกิจ และนักวิจัยทั่วโลกได้ติดตามอย่างใกล้ชิดถึงการประชุมสองสภาของจีน พร้อมตระหนักถึงบทบาทที่สำคัญของจีนในการสนับสนุนความเจริญรุ่งเรืองกัน และผลักดันนวัตกรรมเทคโนโลยี เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจโลก โดยบรรดาผู้สังเกตการณ์ เห็นถึงบทบาทที่สำคัญของจีนบนเวทีโลก ในการผลักดันการพัฒนาระดับโลก และมุ่งมั่นในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ


“จีนมีความก้าวหน้าอย่างมากในการพัฒนาด้านต่าง ๆ ทั้งหมด โดยเฉพาะกับการเปิดสู่ส่วนอื่น ๆ ของโลก และเดินหน้าสู่ความทันสมัย ทั้งหมดนี้เกิดขึ้นตามที่ ปธน.สี จิ้นผิง เรียกว่า อยู่ภายใต้แนวคิดเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และพัฒนาร่วมกัน หนึ่งในความสำเร็จที่ยิ่งใหญ่สุดที่จีนทำคือการสนับสนุน เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนของสหประชาชาติ” เซดริก โทมัส โฟลิค ประธานสภาผู้แทนราษฎรของแอฟริกาใต้ กล่าวกับผู้สื่อข่าว CCTV 


“เรามีความคาดหวังสูงต่อการประชุมสองสภาปีนี้ของจีน มาตรการที่จะประกาศออกมา และการตัดสินใจที่เกิดขึ้นในการประชุมสองสภา จะกลายเป็นแหล่งอ้างอิงสำคัญสำหรับเราในการเพิ่มการลงทุนในจีน เบื้องหลังการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืนของจีน คือ แผนการที่ชัดเจนของรัฐบาล“ นอร์เบิร์ต เจมเมก กรรมการผู้จัดการของ Harting Electric กลุ่มเทคโนโลยีชั้นนำของเยอรมนี กล่าว


---มุ่งรวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน--- 


นายกรัฐมนตรี หลี่ เค่อเฉียง ของจีน ประกาศคำมั่นในการเดินหน้ารวมชาติอย่างสันติกับไต้หวัน ระหว่างเปิดประชุมของสภาผู้แทนประชาชนแห่งชาติจีน กล่าวว่า จีนยึดมั่นในหลักการจีนเดียวซึ่งระบุว่าไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งของจีน แม้ว่าจะไม่มีการระบุถึงการคุกคามโดยใช้การปฏิบัติการทางทหารโดยตรง แต่นายกรัฐมนตรีจีนย้ำว่า รัฐบาลควรใช้นโยบายของพรรคในการไขข้อข้องใจเกี่ยวกับไต้หวัน ดำเนินการอย่างเฉียบขาดเพื่อต่อต้านการประกาศเอกราชของไต้หวันและส่งเสริมการรวมชาติ


หลี่ กล่าวด้วยว่า จีนควรส่งเสริมการพัฒนาความสัมพันธ์ข้ามช่องแคบอย่างสันติ และพัฒนากระบวนการรวมชาติจีนอย่างสันติ นอกจากนี้ เขายังแสดงความเห็นแยกเกี่ยวกับประเด็นด้านความมั่นคงว่า กองทัพควรเพิ่มการเตรียมพร้อมในการสู้รบ แม้ว่าจะไม่ได้ระบุถึงไต้หวันภายใต้บริบทดังกล่าวก็ตาม


ด้านสภากิจการแผ่นดินใหญ่ของไต้หวัน ซึ่งดูแลนโยบายของไต้หวันต่อจีนได้ตอบโต้สิ่งที่ถูกเรียกว่า เป็นการยืนยันนโยบายต่อไต้หวันของจีนว่า จีนควรเผชิญหน้ากับความจริงที่ว่า ทั้งสองฝ่ายในช่องแคบไต้หวันไม่ได้อยู่ใต้บังคับบัญชาของกันและกัน และควรเคารพคำมั่นสัญญาของชาวไต้หวันต่อแนวคิดหลักที่ยึดมั่นในอำนาจอธิปไตย ประชาธิปไตย และเสรีภาพของสาธารณรัฐจีน ซึ่งเป็นการระบุถึงชื่ออย่างเป็นทางการของไต้หวัน และว่า จีนควรจัดการกับเรื่องข้ามช่องแคบไต้หวันด้วยการปฏิบัติที่มีเหตุมีผล เสมอภาค และให้เกียรติซึ่งกันและกัน เพื่อสร้างเงื่อนไขสำหรับการมีปฏิสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน


ทั้งนี้ ไต้หวันจะจัดการเลือกตั้งประธานาธิบดีและรัฐสภาในต้นปี 2024 ซึ่งเชื่อว่าประเด็นความตึงเครียดกับจีนจะครอบงำการหาเสียงในการเลือกตั้งดังกล่าว

—————

แปล-เรียบเรียง: สุภาพร เอ็ลเดรจ และพรวษา ภักตร์ดวงจันทร์ 

ภาพ: AFP


ข้อมูลอ้างอิง:

Guardian, CNBC, BBC, Reuters, Xinhua


ข่าวที่เกี่ยวข้อง