รีเซต

เร่งระบายน้ำลุ่มปากพนังรับฝนระลอกใหม่

เร่งระบายน้ำลุ่มปากพนังรับฝนระลอกใหม่
TNN ช่อง16
22 ธันวาคม 2567 ( 11:11 )
18

สถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่นครศรีธรรมราช ยังไม่คลี่คลาย แม้ในพื้นที่ชั้นในระดับน้ำจะลดลงเข้าสู่ภาวะปกติแล้ว แต่ก็ทิ้งเศษซากความเสียหายไว้เป็นวงกว้าง โดยเฉพาะพื้นที่ต้นน้ำในแนวเทือกเขาหลวง


ที่ยังน่าเป็นห่วง คือพื้นที่ลุ่มรองรับน้ำก่อนระบายลงสู่อ่าวไทย มวลน้ำจากหลายอำเภอไหลมารวมกันอยู่ที่ฝั่งตะออกของจังหวัดนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะตำบลปากพูน ตำบลปากนคร, ตำบลท่าไร่, ตำบลบางจาก อำเภอเมือง, ตำบลไสหมาก, ตำบลเชียรเขา, ตำบลท้องลำเจียก, อำเภอเชียรใหญ่ และหนักสุดอยู่ทุกตำบลของอำเภอปากพนัง การระบายน้ำเป็นไปอย่างล่าช้าเนื่องจากภาวะน้ำทะเลหนุนสูง รวมทั้งเส้นทางน้ำในพื้นที่เต็มไปด้วยสิ่งกีดขวางจากวัชพืช และสิ่งปลูกสร้างจำนวนมาก


ข้อมูลการระบายน้ำจากสำนักชลประทานที่ 15 พบว่า ลุ่มน้ำปากพนัง มีพื้นที่ประมาณ 2 ล้านไร่ ขณะนี้มีปริมาณน้ำในพื้นที่ประมาณ 600 ล้านลูกบาศก์เมตร ระบายตามปกติได้ประมาณวันละ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร มีการระดมเครื่องสูบน้ำที่ติดตั้งในพื้นที่ รวมเครื่องผลักดันน้ำจำนวน 61 เครื่อง สามารถระบายน้ำเพิ่มได้อีกวันละ 3 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมแล้วสามารถระบายน้ำได้วันละ 63 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่ยังคงมีปริมาณน้ำที่หลากเข้าพื้นที่อย่างต่อเนื่อง 


ขณะเดียวกันมีภาวะน้ำทะเลหนุนสูงทำให้การระบายเป็นไปอย่างล่าช้า ส่งผลให้พื้นที่เกษตรกรรมโดยเฉพาะสวนส้มโอทับทิมสยาม พืชเศรษฐกิจของจังหวัดเสี่ยงได้รับความเสียหาย นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มจะเกิดฝนระลอกใหม่ ทำให้พื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังอยู่ในสภาพวิกฤตหลายด้าน 


ด้าน นายอนุกูล พฤกษานุศักดิ์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เผยว่า รัฐบาลโดยกรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เร่งส่งเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่สำรวจความเสียหายจากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ พร้อมลดระยะเวลาขั้นตอนการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2562 ให้เสร็จภายใน 30 วัน พร้อมกำชับทุกจังหวัดลงพื้นที่บูรณาการการทำงาน เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรให้ทันสถานการณ์ 


สำหรับความช่วยเหลือตามระเบียบดังกล่าว เกษตรกรต้องขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรกรกับกรมส่งเสริมการเกษตรก่อนเกิดอุทกภัย โดยจะช่วยเหลือครัวเรือนละไม่เกิน 30 ไร่ แบ่งเป็น ข้าว ไร่ละ 1,340 บาท พืชไร่-พืชผัก ไร่ละ 1,980 บาท ไม้ผลไม้ยืนต้นและอื่น ๆ ไร่ละ 4,048 บาท เกษตรกรสามารถยื่นเอกสารขอรับความช่วยเหลือเพียงครั้งเดียว และหลังได้รับการอนุมัติ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) จะโอนเงินเข้าบัญชีให้เกษตรกรโดยตรง ภายใน 10 วันทำการ 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง