นักวิจัยอิสราเอลผุดวิธีปลูกถ่ายผิวหนังแบบใหม่ สมานแผลเร็วจากเซลล์ผู้ป่วย

ศูนย์การแพทย์ชีบาของอิสราเอลเปิดเผยว่าคณะนักวิจัยได้พัฒนาการปลูกถ่ายผิวหนังที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพสุดล้ำที่ช่วยเร่งกระบวนการฟื้นฟูแผลไฟไหม้รุนแรง โดยใช้เซลล์ของผู้ป่วยเอง
นวัตกรรมดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ผ่านวารสารแอดวานซ์ ฟังก์ชันนัล แมททีเรียลส์ (Advanced Functional Materials) เกิดจากการพัฒนาร่วมกันกับมหาวิทยาลัยเทลอาวีฟ
รายงานระบุว่าวิธีการรักษาแบบเดิมอย่างการปลูกถ่ายผิวหนังแบบทั่วไป มักประสบปัญหาเรื่องการติดเชื้อ ผิวหนังหดตัว และการสมานแผลที่เปราะบาง ขณะที่วิธีการใหม่นี้ใช้วัสดุย่อยสลายได้ทางชีวภาพที่เรียกว่าพีซีแอล (PCL) ผสมกับเอฟม็อก-เอฟอาร์จีดี (Fmoc-FRGD) เปปไทด์กระตุ้นการสมานแผล เพื่อสร้างโครงร่างรองรับที่เลียนแบบโครงสร้างผิวหนังตามธรรมชาติ ช่วยส่งเสริมการฟื้นฟูเนื้อเยื่ออย่างมั่นคง
การทดสอบในห้องปฏิบัติการพบว่าโครงร่างดังกล่าวสามารถรองรับการเจริญเติบโตของผิวหนังที่แข็งแรงและมีหลายชั้น ขณะที่ผลการทดลองในหนูแสดงให้เห็นว่าแผลปิดสนิทและเกิดผิวหนังใหม่แบบเต็มชั้น โดยไม่พบการติดเชื้อหรือการหดตัว ทั้งยังให้ผลลัพธ์เหนือกว่าวิธีรักษาเดิมในแง่ความทนทานและความเร็วในการฟื้นตัว