รีเซต

เอ็กซิม แบงก์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี'65 สูง 1.65 แสนล้านบาท ผลกำไร 1.5 พันล้าน สูงสุดรอบ 5 ปี

เอ็กซิม แบงก์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี'65 สูง 1.65 แสนล้านบาท ผลกำไร 1.5 พันล้าน สูงสุดรอบ 5 ปี
มติชน
9 กุมภาพันธ์ 2565 ( 15:56 )
56
เอ็กซิม แบงก์ ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อปี'65 สูง 1.65 แสนล้านบาท ผลกำไร 1.5 พันล้าน สูงสุดรอบ 5 ปี

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) กล่าวว่า ทิศทางดอกเบี้ยในปี 2565 เป็นทิศทางขึ้น แต่ในส่วนของเอ็กซิม แบงก์ จะพยายามปรับขึ้นดอกเบี้ยให้ช้าที่สุดเพื่อไม่ให้กระทบกับลูกหนี้ของธนาคาร เช่นเดียวกับทิศทางของหนี้เสีย หรือเอ็นพีแอลในปี 2565 จะเป็นปีที่เป็นหนี้เสียของจริง เพราะมาตรการพักชำระหนี้ของหลายสถาบันการเงินได้สิ้นสุดไปแล้ว และเริ่มให้ลูกหนี้กลับมาผ่อนชำระหนี้ตามปกติ ดังนั้น จะเห็นตัวเลขเอ็นพีแอลในระบบเพิ่มขึ้นตามลำดับ

 

“เอ็นพีแอลปี 2564 ของเอ็กซิม แบงก์ จบที่ 2.73% ต่ำกว่าหนี้เสียในระบบที่อยู่ที่ 5% เนื่องจากได้ขายหนี้ที่แก้ไม่ได้ออกไป ขณะที่เอ็นพีแอลในปี 2565 นี้ ถ้ามีไม่มาตรการรัฐเพิ่มก็คาดว่าจะไม่เกิน 3% เพราะส่วนหนี้ส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นหนี้ดี” นายรักษ์กล่าว

 

นายรักษ์กล่าวอีกว่า เอ็กซิม แบงก์ มีนโยบายมุ่งเน้นบทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน โดยตั้งเป้าเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ ปีละไม่ต่ำกว่า 2,500 ราย หรือเพิ่มขึ้นจากเดิม 5 เท่าต่อปี และมีพอร์ตสินเชื่อปี 2565 จำนวน 1.65 แสนล้านบาท และภายในปี 2567 ตั้งเป้าขยายเป็น 2 แสนล้านบาท ภายใต้หนี้เสียไม่เกิน 3% ของพอร์ต โดยแบ่งสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อ 75% เป็นสินเชื่อที่เกี่ยวกับบีซีจี ได้แก่ อุตสาหกรรมสีเขียว อุตสาหกรรมดิจิทัล และอุตสาหกรรมเพื่อสุขภาพ และอีก 25% จะเป็นสินเชื่อสำหรับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ส่งออก

 

นายรักษ์กล่าวว่า ขณะที่ผลดำเนินงานในปี 2564 เอ็กซิม แบงก์ มีกำไรสุทธิอยู่ที่ 1.5 พันล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี มาจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ทั้งจากกลุ่มพลังงานทางเลือก กลุ่มดิจิทัล และเฮลท์แคร์ ซึ่งทั้งสามกลุ่มนี้มีอัตราการเติบโตที่ดี ปัจจุบันได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้วประมาณ 7.5 หมื่นล้านบาท ส่วนสินเชื่อคงค้างทั้งหมด มีจำนวน 1.52 แสนล้านบาท เติบโตจากปีก่อนหน้าถึง 1.7 หมื่นล้านบาท หรือ 12.97%

 

นายรักษ์กล่าวด้วยว่า ขณะเดียวกันยังเดินหน้าขยายวงเงินสินเชื่อ หรือการให้สินเชื่อแบบใหม่ โดยการพิจารณาสินเชื่อผ่านระบบเทคโนโลยี โดยใช้ระบบเครดิต สกอริ่ง เพื่อเพิ่มความสะดวกและรวดเร็ว ลดเวลาในการอนุมัติสินเชื่อเหลือเพียง 3 ชม. จากรูปแบบเดิมที่ต้องยื่นเอกสารและใช้การพิจารณาจากเจ้าหน้าที่ ประมาณ 3 วัน ซึ่งปัจจุบันได้ดำเนินการอนุมัติสินเชื่อผ่านระบบแล้ว สำหรับสินเชื่อวงเงินไม่เกิน 15 ล้านบาท โดยในปี 65 จะขยายวงเงินอนุมัติสินเชื่อเป็น 20 ล้านบาท ก่อนจะขยายเพิ่มเป็น 25 ล้านบาท และ 30 ล้านบาทตามลำดับ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง