รีเซต

"เอ็กซิม แบงก์" พร้อมช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน"

"เอ็กซิม แบงก์" พร้อมช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน"
มติชน
2 มีนาคม 2565 ( 15:04 )
88
"เอ็กซิม แบงก์" พร้อมช่วยเหลือผู้ส่งออกไทย ที่ได้รับผลกระทบจากความขัดแย้ง "รัสเซีย-ยูเครน"

นายรักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (เอ็กซิม แบงก์) เปิดเผยว่า สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนเริ่มทวีความรุนแรงขึ้น ไทยอาจจะยังไม่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์ในปัจจุบันเท่าไรนัก เนื่องจากไทยส่งออกไปรัสเซีย เพียง 0.4% และยูเครน 0.05% ของมูลค่าส่งออกรวมทั้งหมด สินค้าส่งออกสำคัญของไทยไปรัสเซียและยูเครน ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์ และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ผลไม้กระป๋องและแปรรูป อาหารทะเลกระป๋องและแปรรูป และเม็ดพลาสติก

 

นายรักษ์ กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม ในทางอ้อม ผู้ส่งออกไทยอาจประสบปัญหาต้นทุนการผลิตสูงขึ้นเนื่องจากรัสเซียซึ่งเป็นมหาอำนาจด้านพลังงานของโลก โดยเฉพาะการเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติ น้ำมันดิบ และสินแร่ต่าง ๆ ถูกมาตรการลงโทษ ทำให้ส่งออกสินค้าดังกล่าวยากลำบาก เช่นเดียวกับสินค้าเกษตร โดยเฉพาะข้าวสาลี ข้าวบาร์เลย์ และธัญพืชชนิดต่าง ๆ ซึ่งรัสเซียและยูเครนเป็นผู้ผลิตอันดับต้น ๆ ของโลก เมื่อเกิดปัญหาความตึงเครียดส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ พลังงาน และวัตถุดิบปรับตัวสูงขึ้น กระทบต่อต้นทุนการผลิตและต้นทุนโลจิสติกส์สูงขึ้นตาม ซึ่งในที่สุดอาจกระทบต่อกำไรของผู้ประกอบการอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

 

นายรักษ์ กล่าวว่า ผู้ส่งออกไทยควรต้องบริหารความเสี่ยงทางการค้าระหว่างประเทศและบริหารจัดการต้นทุนการผลิตและการขนส่ง เพื่อป้องกันผลกระทบจากความไม่แน่นอนของสถานการณ์การค้าและการเมืองระหว่างประเทศ ตลอดจนความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งล่าสุดเงินรูเบิลของรัสเซียอ่อนค่าลงถึงราว 30% จากต้นปี 2565 ผู้ประกอบการไทยจึงควรบริหารจัดการความเสี่ยงดังกล่าว รวมถึงการปรับวิธีการชำระเงินค่าสินค้า เป็นต้น โดย เอ็กซิม แบงก์ มีบริการให้คำปรึกษาแนะนำเครื่องมือป้องกันความเสี่ยงที่เหมาะสมให้แก่ผู้ส่งออก

 

“เอ็กซิม แบงก์ ติดตามสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียกับยูเครนอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการไทยที่ค้าขายและลงทุนระหว่างประเทศ ทั้งในตลาดรัสเซีย ยูเครน และทวีปยุโรปโดยรวม ซึ่งไทยส่งออกไปยุโรปคิดเป็น 10% ของมูลค่าการส่งออกรวม แม้ว่าปัจจุบันผลกระทบยังอยู่ในวงจำกัด แต่หากสถานการณ์รุนแรงขึ้น อาจส่งผลต่อภาพรวมการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ตลอดจนการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด เนื่องจากนักท่องเที่ยวในประเทศเหล่านี้อาจชะลอการเดินทาง เหล่านี้ล้วนส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของไทยและการส่งออก ท่ามกลางสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ยังเกิดขึ้นในปีนี้” นายรักษ์กล่าว

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง