เปิดเรื่องจริง! "ครูณัฐ" ครูกลางป่าสอนชาวมานิ ลดความเหลื่อมล้ำของระบบการศึกษา
วันที่ 11 เมษายน 2565 เฟสบุ๊คชื่อ “ครูณัฐ จิตอาสาทำดีด้วยใจ” ได้โพสต์คลิปเด็ก ๆ กลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิที่ช่วยกันอ่านอักษรและพยัญชนะภาษาไทย ส่งเสียงกันแบบชัดถ้อยชัดคำ
ซึ่งเป็นผลงานที่สุดภาคภูมิใจของ “ครูณัฐ” หรือ ครูณัฐนันท์ โอมเพียร อายุ 56 ปี คุณครูสอนวิชาภาษาไทยโรงเรียนเอกชนแห่งหนึ่งในตัวเมืองละงู จังหวัดสตูล ที่ใช้ช่วงเวลาเสาร์ อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตกฤษขี่รถจักรยานยนต์คู่ใจไปกลับร่วม 100 กิโลเมตรไม่รวมการเดินเท้าเข้าป่าเพื่อไปหาเด็ก ๆ ชาวมานิ พร้อมอุปกรณ์การสอน ซึ่งอยู่บนเนินเขาในป่าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด ซึ่งต้องจอดรถและเดินเท้าเข้าไปสอนถึงทับ หรือที่พักของชาวมานิ โดยใช้พื้นที่ลานกลางที่พักชองชาวมานิ ภายในป่าเป็นห้องเรียนเคลื่อนที่ ซึ่งเป็นอยู่อย่างนี้ตลอด 4 ปีที่ผ่านมา
โดย “ครูณัฐ” มีความตั้งใจว่าอยากจะช่วยปูพื้นฐานด้านการศึกษาให้เด็ก ๆ ชาวมานิ เพื่อส่งต่อเข้าระบบการศึกษาในระดับชั้นต่อไป โดยเห็นศักยภาพของเด็ก ๆเหล่านี้ เพียงแค่เราต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้กับเขาก่อน โดยมีครอบครัวและเด็กก็จะให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี โดยสิ่งที่ครูณัฐมุ่งหวังคือ เด็ก ๆ เหล่านี้ได้เข้าสู่ระบบการศึกษาภาคบังคับเหมือนเด็ก ๆ ทั่วไป แต่นั่นมีถึงความจริงใจของทุกฝ่ายในการเข้ามาช่วยเหลือและรับรู้ข้อจำกัดของพวกเขาเท่านั้น
วิชาที่ “ครูณัฐ” สอน จะเป็นวิชาภาษาไทย และคณิตศาสตร์ เพื่อปูพื้นฐานในการอ่านออก และเขียนได้ รวมทั้งการนับเลขได้ เพื่อสื่อสาร และป้องกันการถูกหลอกจากคนไม่หวังดี นอกจากนี้ การละเล่นเพื่อละลายพฤติกรรม จะยิ่งสร้างความสนิทสนมและได้รับความร่วมมือกับครอบครัวและเด็ก ๆ ชาวมานิได้เป็นอย่างดี ซึ่งครูณัฐ บอกว่าจะสอนไปแบบนี้จนกว่าเรียวแรงจะหมดไป
นายคะนึง จันทร์แดง อายุ 71 ปี บุคคลอีกคนที่ชาวมานิให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ บอกว่า ยอมรับในน้ำใจของครูณัฐ ที่มีความมุ่งมั่นตั้งใจ โดยใช้เวลาเสาร์ อาทิตย์ ขี่รถจยย.มาจากตัวเมืองละงู ระยะทางไปกลับร่วม 100 กิโลเมตร โดยไม่มีค่าจ้าง มาด้วยหัวใจ ที่ต้องการช่วยเหลือด้านการศึกษาจากใจจริงเพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนหนังสือ ยอมรับและนับถือในน้ำใจว่าเป็นครูจิตอาสาตัวจริง ที่ทำเพื่อคนอื่น
สำหรับเด็ก ๆ เยาวชนกลุ่มชาติพันธุ์ชาวมานิ กลุ่มนี้น้อยมากจนแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้ ในการเข้าถึงระบบการศึกษา ด้วยจำกัดในเงื่อนไข สภาพทางครอบครัว พื้นที่ห่างไกล การจะส่งบุตรหลานเข้าโรงเรียนในหมู่บ้านจึงเป็นเรื่องยากทำสำหรับพวกเขา หากภาครัฐไม่จริงใจและยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือกลุ่มเปราะบางเหล่านี้ให้เข้าถึงระบบการศึกษา ที่พวกเขาควรจะได้รับเหมือนกับเด็ก ๆ ทั่วไป
ภาพ : ผู้สื่อข่าว จ.สตูล