เผย นร.สนใจฉีด "ไฟเซอร์" ทะลุ 80% สะท้อน "เรียนออนไลน์" ไม่รู้เรื่อง ล้มเหลว
รมว.ศึกษาฯ ‘ตรีนุช’ เผยเด็กสนใจฉีดวัคซีนละทุ 80% ด้านผู้ปกครอง-นักเรียน สะท้อนตัดสินใจฉีดไฟเซอร์ เพราะอยากกลับมาเรียน on site เหตุเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง
เมื่อเวลา 08.00 น. วันที่ 4 ตุลาคม ที่โรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ ถนนลาดพร้าว เขตห้วยขวาง กรุงเทพมหานคร นายประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานในพิธี “Kick off สร้างเกราะป้องกันด้วยวัคซีน เด็กปลอดภัย เรียนอุ่นใจ ต้อนรับเปิดเทอม” โดยมี น.ส.ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการ ศธ. นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และผู้บริหารระดังสูง ของ ศธ. และ สธ. เข้าร่วม โดยสำหรับวัคซีนที่ฉีดให้กับนักเรียนทุกสังกัด ที่มีอายุ 12-18 ปี เป็นวัคซีนชนิด mRNA ไฟเซอร์
น.ส.ตรีนุช กล่าวว่า วันนี้เป็นการคิกออฟฉีดวัคซีนวันแรก โดยรัฐบาล และนายกรัฐมนตรีเป็นห่วงนักเรียน จึงให้ ศธ.เตรียมความพร้อมเปิดภาคเรียนที่ 2 ปีการศึกษา 2564 ภายใต้ความปลอกภัย จึงจัดสรรวัคซีนอย่างเร่งด่วนให้นักเรียนทุกสังกัด ที่มีอายุ 12-18 ปีบริบูรณ์ ศธ.และทำหน้าที่เก็บรวบรวมรายชื่อนักเรียนที่ยินยอมประสงค์ฉีดวัคซีน ให้กับ สธ. โดยการกระจายวัคซีนนั้น สธ.จะกระจายสู่สาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้กระบวนการฉีดมีความรวดเร็ว ครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งตนได้รับรายงานเบื้องต้นว่าบางจังหวัดได้รับวัคซีนแล้ว
น.ส.ตรีนุช กล่าว โดยวันนี้จะดำเนินการฉีดให้กับนักเรียน ใน 13 เขตสุภาพ กระจายไป 15 จังหวัด โดยสธ.จะเป็นผู้จัดสรรโซนการฉีดวัคซีนโดยตรง ส่วนภาพรวมที่ผู้ปกครองและนักเรียนแจ้งความประสงค์ยินยอมรับวัคซีน มีมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งขณะนี้มีผู้ปกครองแจ้งความประสงค์มามากกว่า 80% แล้ว คาดว่าจะมีผู้ปกครองทยอยแจ้งความประสงค์ให้นักเรียนฉีดวัคซีนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในส่วนของการตัวเลขที่เพิ่มขึ้นมานั้น ศธ.จะประสานกับ สธ.อีกครั้งเพื่อดำเนินการฉีดวัคซีนรอบเก็บตกให้นักเรียนต่อไป ในส่วนของโรงเรียนพิบูลอุปถัมภ์ มีนักเรียนที่มีสิทธิรับวัคซีนทั้งหมด 799 ราย แสดงความประสงค์ฉีดวัคซีน 695 ราย โดยวันนี้จะเริ่มฉีดให้นักเรียน 200 รายก่อน
“หากนักเรียนได้รับวัคซีนครบหมด ก็จะเปิดเทอม 2 ในวันที่ 1 พฤศจิกายนแน่นอน เพียงแต่ว่าจะเปิดเรียนรูปแบบไหนนั้น ขึ้นอยู่กับการพิจารณาของคณะกรรมการโรคติดต่อจังหวัด ที่จะเป็นผู้พิจารณาอนุมัติว่าสถานศึกษาแต่ละแห่งควรจะเปิดเรียนในรูปแบบไหน การฉีดวัคซีนเป็นเพียงการป้องกันให้ผู้เรียนมีความปลอดภัยในระดับหนึ่ง เพราะการฉีดวัคซีนให้นักเรียนก็เป็นการยืนยันว่าแม้นักเรียนจะติดเชื้อเกิดขึ้น แต่จะมีอาการไม่รุนแรงต่อนักเรียน แต่การที่จะเปิดเรียนในโรงเรียนต้องมีมาตรการอื่นๆ ประกอบการพิจารณาด้วย เช่น การเว้นระยะห่าง มีเจลแอลกอฮอล์ให้นักเรียน เป็นต้น” น.ส.ตรีนุช กล่าว
รัฐมนตรีว่าการ ศธ. กล่าวต่อว่า ขณะนี้ ศธ.ได้รับการประสานจาก สธ. ในการฉีดวัคซีนให้ครูที่ตกหล่นไป เบื้องต้นได้ทำการฉีดวัคซีนให้ครูไปกว่า 70% แล้ว ซึ่งนากยรัฐมนตรีกำชับไว้ว่าไม่ใช่แค่นักเรียนเท่านั้น แต่ครูจะต้องได้รับการฉีดวัคซีนคู่ขนานไปด้วย ตลอดจนครอบครัวของนักเรียนต้องได้รับวัคซีนพร้อมๆกัน สำหรับเด็กอายุที่ต่ำกว่า 12 ปี อาจจะไม่รับการฉีดวัคซีน แต่ขณะนี้ สธ.อยู่ระหว่างการรับรองและศึกษาว่าจะมีวัคซีนตัวไหนที่สามารถฉีดให้เด็กที่ต่ำกว่า 12 ปีบ้าง หากเปิดเรียนแล้ว อาจจะให้นักเรียนเหล่านี้สลับวันมาเรียน โดยจะต้องมีมาตรการรักษาความสะอาดที่เข้มข้นด้วย
นางวิไล อินทร์ไชย อายุ 46 ปี กล่าวว่า สาเหตุที่ตัดสินใจให้ลูกฉีดวัคซีน เนื่อจากต้องการให้ลูกตนปลอดภัย ส่วนตัวไม่มีความกัลวลเพราะจากการติดตามข่าวและหาข้อมูล พบว่าวัคซีนมีความปลอดภัยระดับหนึ่ง ส่วนตัวอยากให้ลูกกลับมาเรียนในโรงเรียน ดังนั้นต้องเร่งให้ลูกได้รับวัคซีน เพื่อความปลอดภัยหากต้องกลับมาเรียนในโรงเรียนอีกครั้ง
"ใจจริงอยากให้เปิดเทอมเร็วๆ เพราะที่ผ่านมาลูกเรียนออนไลน์ แล้วได้รับความรู้ไม่เต็มที่ ถ้าลูกยังไม่ได้รับวัคซีนแล้วมาเรียนในโรงเรียนซึ่งจะต้องเจอคนเยอะ อาจจะมีความเสี่ยงติดเชื้อโควิด-19 ได้ หากลูกติดเชื้อคนในครอบครัวอาจจะมีความเสี่ยงตามไปด้วย ก็กลัวไปติดน้องเล็กอายุประมาณ 10 ขวบด้วย จึงอยากให้รัฐบาลขยายผลมาฉีดให้เด็กที่อายุต่ำกว่า 12 ปีด้วย" นางวิไล กล่าว
ด้าน ด.ญ.วิสารัช วาจางาม นักเรียนระดับชั้น ม.3 กล่าวว่า การรับมาวัคซีนวันนี้ไม่มีความกังวล เพราะได้ศึกษาผลกระทบและผลข้างเคียงมาแล้ว ส่วนตัวต้องการฉีดวัคซีนเอง เพราะอยากมาเรียนในโรงเรียนแล้ว ที่ผ่านมาโรงเรียนกำหนดให้นักเรียน เรียนออนไลน์ตลอดเวลา ซึ่งการเรียนก็มีเสียงรบกวนตลอดเวลา เพราะเพื่อนแย่งกันพูด ทำให้ไม่มีสมาธิอย่างมาก จึงต้องการกลับมาเรียนที่โรงเรียนเหมือนเดิม
“ที่ผ่านมาการเรียนออนไลน์ส่งผลกระทบกับนักเรียนมาก เช่น เพื่อนในห้อง ไม่มีอุปกรณ์ที่เพียงพอ ไม่สามารถเรียนออนไลน์ได้ ส่งผลให้เพื่อนเรียนช้า ไม่ทันเพื่อนในห้อง เพื่อนๆและครูต้องช่วยเหลือกันเพื่อนคนนี้โดยการให้ใบงานบ้าง ช่วยกับอธิบายเนื้อหาบ้าง” ด.ญ.วิสารัช กล่าว
ตัวแทนนักเรียนระดับชั้น ม.5 กล่าวว่า ที่มาฉีดวัคซีน เพราะแม่ต้องการให้ฉีด ส่วนตังก็สองจิตสองใจ เพราะยังกลัว เพราะจากที่หาข้อมูลมา พบว่ามีเด็กบางคนเมื่อฉีดวัคซีนแล้วมีอาการแทรกซ้อน เช่น กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง เป็นต้น แต่อีกใจก็อยากฉีด เพื่อจะได้กลับมาเรียนในโรงเรียนเหมือนเดิม เพราะเรียนออนไลน์ไม่รู้เรื่อง การบ้านเยอะ งานหนัก บางครั้งก็มีปัญหาเรื่องอินเตอร์เน็ต