รีเซต

ศบค. เผย ยอดป่วยโอมิครอน กระจายทั่ว 71 จังหวัดแล้ว สะสม 5,397 คน

ศบค. เผย ยอดป่วยโอมิครอน กระจายทั่ว 71 จังหวัดแล้ว สะสม 5,397 คน
มติชน
10 มกราคม 2565 ( 14:41 )
58

ศบค. เผย ยอดผู้ติดเชื้อโควิด “โอมิครอน” สะสม 5,397 ราย กระจาย 71 จังหวัดทั่วประเทศ ผู้ป่วยนำเข้าพุ่งถึง 412 ราย ชลบุรี ยังแชมป์ป่วยสูงสุด พบคลัสเตอร์ปีใหม่แล้วหลายจังหวัด

 

เมื่อเวลา 12.40 น.วันที่ 10 มกราคม ที่ทำเนียบรัฐบาล พญ.สุมณี วัชระสินธุ์ ผู้อำนวยการสำนักสื่อสารความเสี่ยงและพัฒนาพฤติกรรมสุขภาพ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข แถลงว่า สำหรับสถานการณ์การติดเชื้อวันนี้จะเริ่มรายงานเป็นระลอกของเดือนมกราคม 2565 โดยวันนี้ พบผู้ติดเชื้อวันนี้ 7,926 ราย หายป่วยกลับบ้าน 3,612 ราย ผู้เสียชีวิต 13 คน ผู้ป่วยรักษาอยู่ 58,159 อาการหนัก 495 ราย ใส่เครื่องช่วยหายใจ 115 ราย จะเห็นว่ายอดผู้หายป่วยน้อยกว่าจำนวนผู้ที่ยังรักษาตัวอยู่ ซึ่งเป็นผลมาจากจำนวนผู้ติดเชื้อที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นด้วย สำหรับรายละเอียดผู้เสียชีวิต 13 ราย แบ่งเป็น เพศชาย 4 ราย เพศหญิง 9 ราย อายุ 30-89 ปี ทั้งหมดเป็นกลุ่มเสี่ยงคือเป็นผู้มีอายุมากกว่า 60 ปีและมีโรคเรื้อรัง โดยมี 10 รายไม่ได้รับวัคซีนเลยหรือได้รับวัคซีนยังไม่ครบโดส

 

พญ.สุมณี กล่าวต่อว่า ส่วนสัดส่วนการตรวจ Antigen test kit (ATK) เมื่อวันที่ 9 มกราคม ตรวจจำนวน 52,329 ราย พบผลบวก 1,262 ราย คิดเป็น 1.23 % โดยผลบวกจากการตรวจ ATK มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากสถานการณ์ช่วงก่อนหน้านี้ ทั้งนี้ มีรายงานจากกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เกี่ยวกับการจำแนกสายพันธุ์เฝ้าระวังและการกลายพันธุ์ ขณะนี้ผลจากการสุ่มตรวจกลายพันธ์ พบสายพันธุ์โอมิครอน 5,397 ราย กระจาย 71 จังหวัดทั่วประเทศ และตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 – วันที่ 9 มกราคม 2565 พบสัดส่วนเชื้อสายพันธุ์เดลต้า 64.71 % โอมิครอน 35.17 % ส่วนที่เหลือเป็นอัลฟ่า 0.10 % และเบต้า 0.03 %

 

พญ.สุมณี กล่าวต่ออีกว่า การพิจารณาสุ่มตรวจรายสัปดาห์วันที่ 2-8 มกราคม พบสัดส่วนโอมิครอน 70.3 % เดลต้า 29.7 % ถ้าพิจารณาเป็นรายสัปดาห์การแพร่กระจายของสายพันธ์ุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยสัปดาห์ล่าสุด พบโอมิครอน 91.3 % เป็นการสุ่มตรวจจากผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ ขณะที่โอมิครอนในประเทศ พบ 57.9 % สำหรับผู้ติดเชื้อที่เดินทางมาจากต่างประเทศที่รายงานวันนี้จำนวน 412 ราย พบว่า 61 % เป็นนักเที่ยวระบบ Test&Go 36 % ระบบ Sandbox และ Quarantine อีก 3 % จากการวิเคราะห์ ผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ แม้จะมีจำนวนลดลงแต่สัดส่วนของการติดเชื้อกลับมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกวัน

 

พญ.สุมณี กล่าวด้วยว่า สำหรับ 10 อันดับจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศรายใหม่สูงสุด 10 อันดับ 1.ชลบุรี 767 ราย 2.สมุทรปราการ 693 ราย 3.กรุงเทพมหานคร 534 ราย 4.ภูเก็ต 513 ราย 5.อุบลราชธานี 383 ราย 6.นนทบุรี 261 ราย 7.นครศรีธรรมราช 227 ราย 8.ขอนแก่น 203 ราย 9.เชียงใหม่ 200 ราย และ 10.อุดรธานี 182 ราย โดยจังหวัดที่มีผู้ติดเชื้อจำนวนหลักร้อย 18 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นจังหวัดที่อยู่ในเขตเศรษฐกิจนำร่องการท่องเที่ยว ดังนั้น จึงต้องมีการเข้มงวดมาตรการป้องกันกิจกรรมที่เปิดรับนักท่องเที่ยวเข้ามาในจังหวัด

 

พญ.สุมณี กล่าวอีกว่า สำหรับคลัสเตอร์พื้นที่ต่างๆ เริ่มจากตลาด มีรายงานพบที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ชลบุรี ปทุมธานี พิษณุโลก แคมป์คนงาน พบที่จ.นครราชสีมา โรงเรียน สถานศึกษา พบที่จ.นครปฐม ค่ายทหาร พบที่จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่วนคลัสเตอร์สถานพยาบาล บุคลากรทางการแพทย์ พบที่ กทม. ปทุมธานี และพบมากตั้งแต่ช่วงปีใหม่เป็นต้นมาคือ คลัสเตอร์ร้านอาหาร/สถานบันเทิง โดยวันนี้พบที่ จ.ขอนแก่น จ.บุรีรัมย์ จ.พะเยา จ.นนทบุรี จ.ชลบุรี จ.นครราชสีมา จ.นครปฐม จ.น่าน จ,ศรีสะเกษ จ.ร้อยเอ็ด และ จ.อุบลราชธานี ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่มีรายงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีลักษณะคล้ายกัน เป็นร้านอาหารกึ่งสถานบันเทิง ยังไม่ได้มีการดำเนินการภายใต้มาตรการความปลอดภัย จึงทำให้เกิดการแพร่ระบาดได้มากขึ้น และแพร่เชื้อลงในระดับชุมชนและครอบครัว

 

“เราได้เฝ้าระวังคลัสเตอร์ปีใหม่ ซึ่งวันนี้มีการรายงานจากหลายจังหวัด คลัสเตอร์งานสังสรรค์ งานเลี้ยงปีใหม่ เป็นไปตามคาดการณ์ โดยพบที่ จ.อุบลราชธานี 33 ราย จ.ขอนแก่น 25 ราย จ.ประจวบคีรีขันธ์ 22 ราย นครศรีธรรมราช 13 ราย จ.ราชบุรี 8 ราย จ.ลพบุรี 7 ราย จ.พะเยา 6 ราย จ.น่าน 8 ราย จ.อำนาจเจริญ 5 ราย จ.ชลบุรี 5 ราย จ. ยโสธร 6 ราย จ.มหาสารคาม 4 ราย นอกจากนี้ พบคลัสเตอร์ งานเลี้ยงวันเกิดที่ จ.จันทบุรี โดยปัจจัยความเสี่ยงต่อการแพร่ระบาด คือการดื่มกินในสถานที่ที่มีความหนาแน่น มีคนจำนวนมาก อากาศไหลเวียนไม่ดี เมื่อดื่มสุราก็จะมีการพูดเสียงดัง และใช้เวลายาวนาน ”

 

พญ.สุมณี กล่าวอีกว่า กรณีที่พบว่ามีการติดเชื้อ ควรรีบแยกกักตัวเองออกจากผู้อื่น เข้าสู่ระบบการดูแลรักษา ส่วนผู้สัมผัสเสี่ยงสูงให้รีบแยกตัวเองและสังเกตว่ามีอาการเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจหรือไม่ โดยสายพันธุ์โอมิครอน อาการไข้จะไม่มากเหมือนสายพันธุ์เดลต้า ดังนั้น หากมีอาการทางเดินหายใจแม้ไม่มีไข้ แต่ไปสถานที่เสี่ยง ควรรีบตรวจเช็กตัวเองด้วย ATK เพราะเป็นข้อแนะนำในการตรวจคัดกรองหลัก และหากพบผลเป็นบวก ต้องเข้าสู่ระบบการแยกกักรักษาที่บ้าน หรือเข้าสู่ระบบการรักษาดูแลในชุมชน

 

พญ.สุมณี ยังกล่าวอีกว่า สำหรับแนวโน้มการคาดการณ์จำนวนผู้ติดเชื้อ ขณะนี้จำนวนผู้ติดเชื้อประจำวันจะเห็นว่าไต่อยู่ในระดับกราฟเส้นสีเทาแล้ว หากขึ้นไปตามเส้นกราฟสีเทาเรื่อยๆ คาดว่าช่วงปลายเดือนมกราคม จะมีผู้ติดเชื้อระดับ 2หมื่นกว่าราย/วัน และช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ อาจจะแตะที่ 3 หมื่นราย/วัน ส่วนการเสียชีวิต ยังเป็นไปแนวเดียวกันกับสถานการณ์โลก แต่การที่มีแนวโน้มผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้น ทางศบค.และกระทรวงสาธารณสุข มีการเตรียมยกระดับการจัดการไว้แล้ว จะต่างจากการระบาดหนักในระลอกเดือนเมษายน 2564 เพราะขณะนั้นประชาชนยังได้รับวัคซีนไม่ครอบคลุม

 

พญ.สุมณี กล่าวด้วยว่า สำหรับจังหวัดที่ต้องเตรียมพร้อมคือจังหวัดที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อจำนวนมาก โดยมีแนวทางว่าหากผลตรวจ ATK เป็นบวก และมีอาการน้อย เน้นการกักตัวรักษาที่บ้าน – ชุมชน แต่ถ้าผลเป็นบวก และมีอาการหนักหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง พิจารณาตามเกณฑ์ส่งตัวเข้ารักษาที่โรงพยาบาล ส่วนผู้ป่วยเด็กกลุ่ม 5-11 ปี ได้มีการเตรียมยาต้านไวรัสชนิดน้ำ จัดผู้เชี่ยวชาญเป็นที่ปรึกษาในการดูแลเด็ก เป็นต้น ทั้งนี้ สำหรับอาการโควิดสายพันธุ์โอมิครอน ส่วนใหญ่ ไม่มีอาการ 48% ส่วนอาการของผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอมิครอนในประเทศไทย 41 ราย 1.อาการไอ 54 % 2. เจ็บคอ 37 % 3. มีไข้ 29 % 4. ปวดกล้ามเนื้อ 15 % 5. มีน้ำมูก 12 % 6. ปวดศีรษะ 10 % 7. หายใจลำบาก 5 % 8. ได้กลิ่นลดลง 2 %

ข่าวที่เกี่ยวข้อง