คานก่อสร้างถล่ม! สุริยะ “สั่งเยียวยาผู้เสียชีวิตรายละ 1 ล้าน” หยุดก่อสร้าง 14 วัน
นายชาครีย์ บำรุงวงศ์ ผู้ตรวจราชการกระทรวงคมนาคม ในฐานะรองโฆษกกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์คานสะพานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ทรุดตัว ในช่องทางหลัก กม. ที่ 21+100 ตำบลนาดี อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร เมื่อวันที่ 29 พฤศจิกายน 2567 ทำให้ต้องปิดการจราจรในช่องทางหลักขาเข้า - ขาออกในบริเวณดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้ประชาชนสามารถสัญจรได้อย่างสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย และช่วยแบ่งเบาปริมาณการจราจรบนถนนพระราม 2 กระทรวงคมนาคม จึงขอประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้รถใช้ถนนใช้เส้นทางเลี่ยง ดังนี้
ขาเข้ากรุงเทพฯ
- รถจากภาคใต้ ให้ใช้ถนนเพชรเกษม เข้ากรุงเทพฯ
- รถจากจังหวัดสมุทรสงคราม/บางโทรัด ให้ใช้ ทล.375 มุ่งหน้าเข้าอำเภอบ้านแพ้ว ไปออก จังหวัดนครปฐม ขึ้นถนนเพชรเกษม เข้าถนนบรมราชชนนี เข้ากรุงเทพฯ
- รถจากมหาชัย - สมุทรสาคร ใช้ถนนเศรษฐกิจ - ถนนพุทธสาคร - ถนนพุทธมณฑลสาย 4 - ถนนบรมราชชนนี เข้ากรุงเทพฯ
ขาออกกรุงเทพฯ
- รถจากกรุงเทพฯ ใช้ถนนบรมราชชนนี เข้าถนนเพชรเกษม มุ่งหน้าลงภาคใต้
- รถจากต่างระดับบางขุนเทียน ใช้ถนนเลียบชายทะเลบางขุนเทียน เข้าตัวเมืองมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร เข้าถนนพระราม 2 มุ่งหน้าลงภาคใต้
พร้อมทั้งขอประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนเผื่อเวลาในการเดินทาง และหากสามารถหลีกเลี่ยงเส้นทางได้ขอแนะนำให้ใช้เส้นทางอื่นแทน เพื่อความสะดวกในการเดินทางของท่าน ทั้งนี้ ขอความร่วมมือผู้ใช้ทางขับขี่ด้วยความระมัดระวัง ปฏิบัติตามป้ายเตือน ป้ายแนะนำ และคำแนะนำของเจ้าหน้าที่อย่างเคร่งครัด สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง โทร. 1586
ขณะที่เมื่อวานนี้ ( 29 พ.ย.) นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายจากเหตุคานสะพานก่อสร้างบนถนนพระราม 2 ทรุดตัว เป็นเหตุให้ผู้เสียชีวิต จำนวน 6 ราย บาดเจ็บ 9 คน
นายสุริยะ กล่าวว่า เนื่องจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกระทบถึงความรู้สึกและความมั่นใจของประชานเป็นอย่างมาก ตนในนามกระทรวงคมนาคมขอแสดงความเสียใจอย่างสุดซึ้งกับครอบครัวผู้เสียชีวิต และผู้ที่ได้รับบาดเจ็บจากเหตุการณ์ในครั้งนี้
สำหรับการเยียวยาครอบครัวผู้เสียขีวิต และผู้ได้รับบาดเจ็บนั้น ทางกระทรวงสั่งการให้ดูแลเยียวยาอย่างเต็มที่ โดยสั่งการให้ผู้รับจ้างเยียวยารายละ 1 ล้านบาท พร้อมทั้งสั่งการให้บริษัทผู้รับผิดชอบโครงการหยุดงานก่อสร้างทันที 2 สัปดาห์ (14วัน) พร้อมทั้งให้กรมทางหลวงแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบสาเหตุข้อเท็จจริง และประเมินความปลอดภัยของโครงสร้าง ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมกรมทางหลวง สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ดำเนินการและสรุปรายงานผลต่อกระทรวงคมนาคมภายใน 15 วัน
สำหรับมาตรการลงโทษผู้ประกอบการที่ปฏิบัติงานก่อสร้างไม่เป็นไปตามมาตรฐานของหลักวิชาช่าง หรือประมาทเลินเล่อร้ายแรง ปัจจุบัน กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง ได้จัดทำร่างระเบียบฯ เพื่อเป็นหลักเกณฑ์ใช้ประเมินผลการปฏิบัติงานของผู้รับเหมา รวมถึงมาตรการลงโทษ โดยหากเกิดเหตุที่มีบุคคลถึงแก่ความตาย จะถูกตัดสิทธิ์ในการประมูลงาน 1 ปี และหากเข้าเกณฑ์ถูกตัดสิทธิ์จำนวน 3 สัญญาขึ้นไป จะถูกตัดสิทธิ์ในการประมูลงานโครงการถัดไปของหน่วยงานรัฐทั่วประเทศ รวมถึงจะมีมาตรการในการลดชั้นและถอดจากทะเบียนรายชื่อผู้รับเหมาที่มีสิทธิ์ประมูลงานของภาครัฐด้วย โดยกระทรวงคมนาคมได้มอบหมายให้กรมทางหลวงเป็นหลักในการพิจารณาร่างหลักเกณฑ์ดังกล่าวร่วมกับหน่วยงานอื่นในสังกัดของกระทรวงคมนาคมที่มีงานก่อสร้าง เพื่อเร่งหารือกับกรมบัญชีกลางในการพิจารณานำหลักเกณฑ์ดังกล่าวมาบังคับใชัอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
“ผมขอขอบคุณหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนที่ได้ร่วมกันช่วยเหลือและอำนวยความสะดวก พี่น้องประชาชนในทุกมิติทั้งนี้ ขณะนี้กรมทางหลวงและผู้รับจ้างได้เตรียมความพร้อม ทั้งวิศวกรผู้เชี่ยวชาญ เครื่องจักร และเจ้าหน้าที่ ร่วมกันวางแผนการเคลื่อนย้ายชิ้นส่วนโครงสร้างเหล็กและคอนกรีตออกจากพื้นที่ และเน้นย้ำการประเมินความปลอดภัย ป้องกันเกิดเหตุซ้อน พร้อมทั้งประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างให้เป็นไปตามมาตรฐานด้านวิศวกรรม ก่อนคืนพื้นที่ผิวจราจร เพื่อสร้างความรู้สึกและความมั่นใจในการเดินทางให้แก่ประชาชน” นายสุริยะ กล่าว