ไตรมาส3 ยักษ์ไอทีพาเหรดทำกำไรอื้อซ่า อัลฟาเบท 18.9 หมื่นล., ไมโครซอฟท์ 20.5 หมื่นล.
สำนักข่าวเอเอฟพีรายงานเมื่อวันที่ 27 ตุลาคมนี้ว่า บริษัท อัลฟาเบท อิงค์. ที่เป็นบริษัทแม่ของ กูเกิล เผยแพร่ผลประกอบการรายไตรมาส ระหว่างเดือนกรกฎาคมไปสิ้นสุดในเดือนกันยายนที่ผ่านมา ระบุกำไรของบริษัทเติบโตแบบก้าวกระโดดเป็น 18,900 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาถึง 41 เปอร์เซ็นต์ ทั้งนี้เป็นเพราะรายได้จากการโฆษณาออนไลน์และการให้บริการคลาวด์ เป็นสำคัญ
นายสุนทร พิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (ซีอีโอ) ของอัลฟาเบท อิงค์และ กูเกิล อิงค์. ระบุว่า กำไรในไตรมาสที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่า การลงทุนในการพัฒนาปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ช่วยให้บริษัทสามารถสร้างผลิตภัณฑ์ที่ให้ความช่วยเหลือต่อประชาชนทั่วไปและหุ้นส่วนธุรกิจของเราได้มากขึ้นกว่าเดิม
ซีอีโอของอัลฟาเบท เสริมด้วยว่า การเปลี่ยนแปลงไปสู่โลกยุคดิจิทัลและการปรับตัวสู่ระบบการทำงานแบบไฮบริด ระหว่างการทำงานที่บ้านกับการทำงานในออฟฟิศ ซึ่งเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง บริการคลาวด์ของอัลฟาเบทก็เข้ามามีบทบาทในการสานความร่วมมือระหว่างองค์กรขึ้นอีกด้วย
บริการด้านวิดีโอของกูเกิลทำรายได้จากการโฆษณาสูงถึง 7,200 ล้านดอลลาร์ จากที่ระดับ 5,000 ล้านดอลลาร์ในช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ในขณะที่ธุรกิจบริการคอมพิวเตอร์ทางไกลก็ทำรายได้สูงถึง 5,000 ล้านดอลลาร์ เพิ่มขึ้น 45 เปอร์เซ็นต์เมื่อเทียบกันปีต่อปี
อย่างไรก็ตาม รายได้หลักของกูเกิล ได้จากการขายโฆษณาออนไลน์ ซึ่งขยายตัวสูงตามการขยายตัวของพาณิชยกรรมออนไลน์ (อีคอมเมิร์ซ) ทั่วโลก ทำให้กาาโฆษณาผ่าน ยูทูบ เพิ่มสูงขึ้นมา โดย อีมาร์เก็ตเตอร์ บริษัทวิจัยประเมินว่า ในปีนี้ กูเกิล จะครองตลาดการโฆษณาออนไลน์มากที่สุดถึง 28.6 เปอร์เซ็นต์ของตลาดรวม เหนือกว่าคู่แข่งสำคัญอย่าง เฟซบุ๊กอิงค์. ซึ่งคาดว่าจะได้ส่วนแบ่งราว 23.7 เปอร์เซ็นต์
อัลฟาเบทไม่ได้เป็นบริษัทไอทีข้ามชาติรายเดียวที่ทำกำไรมหาศาล โดยในวันเดียวกัน ไมโครซอฟท์ ก็ประกาศผลประกอบการสำหรับไตรมาสที่ผ่านมา ระบุว่า สามารถทำกำไรได้สูงถึง 20,500 ล้านดอลลาร์ รายได้เพิ่มขึ้น 22 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้านี้เป็น 43,500 ล้านดอลลาร์
เฟซบุ๊ก แถลงไป 1 วันก่อนหน้า ระบุว่า กำไรในไตรมาส 3 ของตนเพิ่มขึ้นเป็น 9,200 ล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นการขยายตัวเพิ่มถึง 17 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่ปริมาณผู้ใช้งานเพิ่มขึ้นเป็น 2,910 ล้านคน บริษัทเดียวที่ประสบภาวะขาดทุนคือ ทวิตเตอร์ สืบเนื่องจากต้องใช้เงินมหาศาลไปเพื่อรอมชอมคดีนอกศาล
ผลประกอบการที่แสดงถึงกำไรมหาศาลดังกล่าวมีขึ้นท่ามกลางความตรวจสอบเข้มงวดมากขึ้นจากทางการสหรัฐอเมริกาและหลายประเทศทั่วโลกต่อบรรดายักษ์ใหญ่บนอินเตอร์เน็ตเหล่านี้ เพื่อป้องกันไม่ให้พฤติกรรมครอบงำตลาด กีดกันคู่แข่ง และผูกขาดตลาด
คณะกรรมการต่อต้านการผูกขาดของทางการเกาหลีใต้ เพิ่งปรับเงินกูเกิลเป็นเงิน 180 ล้านดอลลาร์ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา หลังชี้ขาดว่า กูเกิลครอบงำระบบปฏิบัติการสำหรับมือถือ และ ตลาดแอพพลิเคชัน