รีเซต

ทดสอบเครื่องบิน Vanguard 437 บินขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าใช้ต้นทุนการบินต่ำ

ทดสอบเครื่องบิน Vanguard 437 บินขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าใช้ต้นทุนการบินต่ำ
TNN ช่อง16
31 สิงหาคม 2567 ( 16:53 )
12
ทดสอบเครื่องบิน Vanguard 437 บินขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรก ตั้งเป้าใช้ต้นทุนการบินต่ำ

วันที่ 29 สิงหาคมที่ผ่านมา บริษัท สเคลด์ คอมโพสิทส์ (Scaled Composites) ประสบความสำเร็จในการทดสอบเครื่องบินแวนการ์ด 437 (Vanguard 437) บินขึ้นสู่ท้องฟ้าเป็นครั้งแรกจากบริเวณท่าอากาศยานและอวกาศโมฮาวี รัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ตั้งเป้าพัฒนาเครื่องบินไอพ่นด้านการทหารที่ใช้ต้นทุนการบินต่ำและสามารถจำหน่ายในราคาที่ไม่แพงจนเกินไป


แม้ว่าเป้าหมายหลักของการพัฒนาเครื่องบินแวนการ์ด 437 (Vanguard 437) อยู่ที่พัฒนาการบินรูปแบบอัตโนมัติ แต่การทดสอบที่เกิดขึ้นยังคงมีนักบินทดสอบไบรอัน ไมสเลอร์อยู่บนห้องควบคุมของเครื่องบิน โดยบริษัทให้เหตุผลว่าการทดสอบในครั้งนี้ให้ความสำคัญกับการวิเคราะห์อากาศพลศาสตร์และโครงสร้าง การสร้างลำตัวเครื่องบินและส่วนหาง การประกอบเครื่องบิน การบูรณาการระบบ และการดำเนินการทดสอบภาคพื้นดินและการบิน


เครื่องบินแวนการ์ด 437 (Vanguard 437) ได้รับการพัฒนาต่อยอดมาจากเครื่องบินรุ่น 401 ที่พัฒนาโดยบริษัท นอร์ทรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ของบริษัท สเคลด์ คอมโพสิทส์ (Scaled Composites) การทดสอบเครื่องบินรุ่น 401 ครั้งแรกเกิดขึ้นในปี 2017 โดยแบ่งเครื่องบินต้นแบบออกเป็น 2 ลำ คือ Phobos (โฟบอส) และ Deimos (ดีมอส) ตามชื่อของดวงจันทร์บริวารของดาวอังคาร


กระบวนการพัฒนาเครื่องบินแวนการ์ด 437 บริษัท นอร์ทรอป กรัมแมน (Northrop Grumman) รับผิดชอบการจัดเตรียมระบบดิจิทัล และความสามารถในการผลิตชิ้นส่วนขั้นสูงเพื่อสร้างปีกต้นแบบเครื่องบิน ซึ่งช่วยลดการทำงานด้านวิศวกรรมที่ซับซ้อน และการออกแบบใหม่จาก 20% ให้เหลือต่ำกว่า 1% เท่านั้น อย่างไรก็ตามบริษัทยังไม่ได้เปิดเผยต้นทุนทั้งหมดของการพัฒนาเครื่องบินในโครงการนี้


โครงสร้างของเครื่องบินแวนการ์ด 437 (Vanguard 437) มีวงปีกกว้าง 12 เมตร และยาว 12 เมตร เครื่องยนต์แบบ Pratt & Whitney 535 จำนวน 1 เครื่องยนต์ สร้างแรงขับ 3,400 ปอนด์ ทำให้สามารถบรรทุกสิ่งของได้ 900 กิโลกรัม น้ำหนักบรรทุกบินขึ้น 4,500 กิโลกรัม รวมขีปนาวุธ AIM 120 สองลูก เครื่องบินมีพิสัยการบินสูงสุด 5,556 กิโลเมตร และสามารถบินได้นาน 6 ชั่วโมง


ที่มาของข้อมูล Newatlas

ข่าวที่เกี่ยวข้อง