หุ้นไทยร้อนแรงแค่ไหนหลัง "ไบเดน" นั่งเก้าอี้ ประธานาธิบดีสหรัฐ
นายฐกฤต ชาติเชิดศักดิ์ ผู้ช่วยผู้จัดการ ฝ่ายวิจัย บล. เอเซียพลัส เปิดเผยว่า ภาวะตลาดหุ้นไทย ในสัปดาห์หน้าผันผวนจากปัจจัยภายในและนอกประเทศ โดยประเด็นสำคัญต่างประเทศตลาดจับตาการทำงานของนายโจ ไบเดน ประธานาธิบดีสหรัฐ หลังรับตำแหน่ง 10 วัน (21ม.ค.-31 ม.ค.) -100 วันแรก (20 ม.ค.- สิ้นเดือนเม.ย.64) เกี่ยวกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ "American Rescue Plan” วงเงิน 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งมีผลต่อจีดีพีสหรัฐ 9%
โดยพุ่งเป้าช่วยเหลือภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจให้สามารถรับมือกับการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19เช่น จ่ายเงินเยียวยาประชาชนเพิ่มอีก 1,400 ดอลลาร์สหรัฐ ปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจากระดับ 7.25 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง เป็น15 ดอลลาร์สหรัฐต่อชั่วโมง รวมถึงการยกเลิกนโยบายของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อดีตประธานาธิบดีสหรัฐ เช่น การกลับเข้าเป็นสมาชิกข้อตกลง Paris Agreement เป็นบวกต่อหุ้นในกลุ่มพลังงานทดแทน และการ Reopen ภาคธุรกิจและโรงเรียน ส่งผลดีต่อหุ้นเปิดเมือง ซึ่งเป็น Sentiment เชิงบวกต่อเศรษฐกิจโลกและหนุน Fund Fow ไหลเข้าตลาดหุ้นเอเซีย รวมถึงไทยต่อเนื่องในระยะกลาง-ยาว
ทั้งนี้หากดูข้อมูลสถิติย้อนหลังการเลือกตั้งของในสหรัฐฯ ในอดีต ปี 51 ปี 55 และปี 59 พบว่าดัชนี S&P 500 ปรับเพิ่มขึ้นเฉลี่ย 18.5% เช่นเดียวกับตลาดหุ้นไทยดัชนีปรับขึ้นเฉลี่ย 30.6%
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาตลาดหุ้นไทยปรับฐานลงส่วนหนึ่งมาจาก แรงกดดันการปรับพอร์ตของนักลงทุนเพื่อจองซื้อหุ้น OR โดยกำหนดให้นักลงทุนรายย่อยจองซื้อ 595.76 ล้านหุ้น นักลงทุนสถาบันทั้งในและต่างประเทศ 1,714 ล้านหุ้น คิดเป็นสัดส่วน 65.7% รวมถึงผู้ถือหุ้น PTT ที่ได้สิทธิ์ XB 300 ล้านหุ้น คาดว่านักลงทุนสถาบันเตรียมเงินซื้อหุ้นดังกล่าว 3.08 หมื่นล้านบาท (คิดราคา IPO 18 บาท) ซึ่งหากเปรียบเทียบกับข้อมูลในอดีต ก่อนมีหุ้นขนาดใหญ่เข้าตลาดฯ เช่น AWC, CRC, SCGP ได้ Fast Track เข้า SET50 และ SET100 1 เดือน SET50 ปรับตัวลงแรงเฉลี่ยถึง -5.1%
นอกจากนี้ประเด็นที่ตลาดให้ความสำคัญถัดมาคือการประชุมธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ในวันที่ 26-27 ม.ค.นี้ว่านายเจอโรม พาวเวลล์ ประธานเฟดมีมุมมองต่อทิศทางดอกเบี้ย และวงเงินในการซื้อสินทรัพย์อย่างไรบ้างแต่เชื่อว่าเฟดยังไม่มีแผนขึ้นดอกเบี้ย เนื่องจากเศรษฐกิจอยู่ในช่วงการฟื้นตัว และดอกเบี้ยปัจจุบันอยู่ระดับต่ำ 0-0.25%
สำหรับนโยบายด้านการเงินของธนาคารกลางยุโรป(อีซีบี) และธนาคารกลางญี่ปุ่น (บีโอเจ) ยังใช้นโยบายการเงินที่ผ่อนคลาย ซึ่งถือว่าเป็นผลบวกต่อตลาดหุ้น อย่างไรก็ตาม หากเฟดคงดอกเบี้ยระดับต่ำต่อเนื่อง จะทำให้ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐอ่อนค่าลง เป็นผลดีต่อสกุลเงินในภูมิภาคเอเชียรวมถึงค่าเงินบาทจะแข็งค่าขึ้นเป็นผลดีต่อทิศทางของ fund Flow พร้อมทั้งเกาะติด Outlook GDP 64 ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (ไอเอ็มเอฟ) วันที่ 26 ม.ค.ว่า GDP โลกและแต่ละประเทศเป็นอย่างไรบ้าง หลังจากที่ธนาคารกลางโลก(เวิลด์แบงก์) ได้มีการปรับลดเป้าจีดีพีโลกจาก 4.2 เหลือ 4%
ฝั่งในประเทศที่จะต้องติดตามเป็นเรื่องการประกาศงบไตรมาส 4/63 ของ Real Sector หลังจากงบกลุ่ม Bank ได้ประกาศไปเสร็จเรียบร้อยแล้ว โดยมีกำไรสุทธิ 3.1 หมื่นล้านบาท หดตัว 21.4 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่ขยายตัว 8% หากเทียบกับไตรมาส 3 /63 ดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ สำหรับบริษัทฯ ที่ประกาศงบสัปดาห์หน้า เช่น SCGP วันที่ 26 ม.ค. คาดว่ากำไรเติบโต 39% หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน ตามด้วย SCC วันที่ 27 ม.ค. กำไรโต 24% และ PTT กำไรเติบโต 47.1 % หากเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
ทั้งนี้รวมถึงการการคลายล็อกดาวน์ในพื้นที่ต่าง ๆว่าจะเพิ่มมากน้อยแค่ไหน จากที่ก่อนหน้านี้ที่ผ่อนคลายที่จังหวัดกาญจนบุรี ตราด และเชียงใหม่ ซึ่งการเปิดเมืองทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจเริ่มดีขึ้น แต่ต้องดูว่าจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นหรือไม่
ด้านกลยุทธ์การลงทุนเน้นหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่ง ที่ได้ Sentiment เชิงบวก ใน ธีม "เปิดเมือง Play" ซึ่งมี 5 กลุ่มประกอบด้วย 1. กลุ่มธนาคารพาณิชย์ คาดว่าความต้องการสินเชื่อเพิ่มทำให้ความเสี่ยงเอ็นพีแอลลดลง แนะนำ TISCO, KBANK2. กลุ่ม Media โดยเฉพาะสื่อนอกบ้าน รายได้มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้น แนะนำ PLANB3. กลุ่มอุปโภคบริโภค การจับจ่ายใช้สอยที่มากขึ้น บวกกับยังได้แรงหนุนจากมาตรการภาครัฐที่มี การกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เช่น คนละครึ่ง, เราชนะ แนะนำ OSP, RS, CRC และ M
4. กลุ่มโรงพยาบาลได้รับผลดีจากจำนวนผู้ป่วยทั้งในและต่างประเทศเพิ่มขึ้น และกระแสการฉีดวัคซีน แนะนำ BDMS, BCH และ PR9 5. กลุ่นขนส่ง เนื่องจากปริมาณการใช้ทางด่วนและรถไฟฟ้าที่น่าจะทยอยเพิ่มขึ้นส่งผลดีต่อหุ้น BEM, BTS
นอกจากนี้ติดตามประเด็นตลาดหลักทรัพย์ฯ เตรียมปรับเกณฑ์เกี่ยวกับ Free Float รวมถึงการจัดทำดัชนีโดยใช้เกณฑ์ Free Float Adjusted Market Capitalization แทน Full Market Capitalizationเพื่อให้สะท้อนสภาพการณ์ตลาดมากขึ้น ทำให้หุ้นขนาดใหญ่ที่อยู่ใน SET50 หรือ SET100 ที่มี Free foat ต่ำ จะถูกจับตาดูเป็นพิเศษคือ เดิมตลาดใช้เกณฑ์ในการคัดกรองหุ้นใน SET50-100 คือ มี Free Float >20% หากตลาดเพิ่มเกณฑ์ Free Float ในการคัดกรอง อาจทำให้หุ้นที่มี Free Float ต่ำใกล้เคียงกับเกณฑ์เดิม มีโอกาสสูงถูกคัดออกจากดัชนีได้ เช่น DELTA GPSC AWC VGI BPP CKP และ ACE และมีโอกาสถูกกองทุน Passive Fund ลดสัดส่วนเงิน ลงทุนเช่นกัน
ในทางกลับกันหุ้นที่มี Free float มากกว่า SET Index 44% คือ ธนาคารพาณิชย์ รับเหมาก่อสร้างวัสดุก่อสร้าง กลุ่มการเกษตร สื่อสาร โรงพยาบาล อสังหาริมทรัพย์ ท่องเที่ยว ประกัน และ กองทุนรวมอสังหาริมทรัพย์และกองทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์ หรือPF&REIT ซึ่งการขยับของราคาหุ้นมีโอกาสผลักดันดัชนีมากขึ้น รวมถึมีโอกาสได้แรงหนุน จากเม็ดเงินลงทุนจากกองทุน Passive Fund เพิ่ม
อย่างไรก็ตาม หากเกณฑ์ดังกล่าวเกิดขึ้นจริงจะทำให้ SET Index ผันผวนในระยะสั้นจากการปรับพอร์ตของกองทุน Passive Fund รวมถึงนักลงทุนเข้าไปแสวงหากำไรจากประเด็นดังกล่าว แต่ในระยะถัดไปทำให้ดัชนีสะท้อนสภาพตลาดได้ดีขึ้น Toppick เลือกหุ้นพื้นฐานแข็งแกร่งที่ได้ ประโยชน์จากประเด็นดังกล่าว BDMS TISCO และ CPF ส่วนกรอบการลงทุนในสัปดาห์หน้าคาดว่าจะอยู่ที่ 1,450- 1,480 จุด แนวต้านที่ 1,500-1,530 จุด
เกาะติดข่าวที่นี่
website: www.TNNTHAILAND.comfacebook : TNNONLINE
facebook live : TNN Live
twitter : TNNONLINE
Line : @TNNONLINE
Youtube Official : TNNONLINE
Instagram : TNN_ONLINE
TIKTOK : @TNNONLINE