"สาธิต" ยัน หากองค์ประชุมครบ วันเดียวจบ เคาะสูตรหาร 100
12 สิงหาคม ที่ท้องสนามหลวง นายสาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ (ปชป.) ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) วิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส.และร่าง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง กล่าวถึงกรณีการประชุมรัฐสภาด่วน เพื่อพิจารณากฎหมายเลือกตั้ง ถกสูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 500 ภายหลังพรรคเล็กขอประชุมเพิ่มก่อนครบเส้นตาย 180 วัน ว่า ถือเป็นการปฏิบัติหน้าที่ร่วมกันของรัฐสภา ส่วนกลไกและการพิจารณาจะออกมาเป็นอย่างไรนั้นขึ้นอยู่กับการประชุมในวันที่ 15 สิงหาคม อย่างไรก็ตามตนเชื่อว่าขึ้นอยู่กับองค์ประชุม หากองค์ประชุมครบวันเดียวก็แล้วเสร็จทันอยู่แล้ว เพียงแต่ก่อนหน้าที่ที่มีปัญหาเนื่องจากทุกฝ่ายมีความเห็นตรงกันให้ตกไป เพื่อกลับไปใช้ร่างเดิมของคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ที่ใช้บัตรสองใบและใช้สูตรคำนวณ ส.ส.บัญชีรายชื่อ หาร 100 ซึ่งเชื่อว่าประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นและมีให้เลือกมากกว่าเดิม
เมื่อถามว่า กมธ. เห็นด้วยแล้วใช่หรือไม่ให้กลับไปใช้ร่างเดิมของ กกต. นายสาธิต กล่าวว่า ตนเป็น กมธ. เสียงข้างน้อย ซึ่งเดิมที่รับจากสภาไปแก้ให้สอดคล้องหาร 100 แต่ช่วงนั้นเสียงสภาส่วนใหญ่ไม่เห็นด้วย โดนเป็นกลไลของสภา ซึ่งตนก็เห็นด้วยมาตลอดกับสูตรหาร 100 เพราะประชาชนมีสิทธิมากขึ้น แต่ผลการประชุมในวันที่ 15 สิงหาคม ย้ำว่าขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของส.ส.แต่ละคน ซึ่งวิปต้องประสานกันเพื่อให้ได้เป้าหมายตามต้องการทั้งสามฝ่าย อย่างไรก็ตามหลังจากนี้วิปสามฝ่ายต้องกลับมาคุยกันว่าเอาอย่างไร แต่ในส่วนของ ปชป.มีมติจะต้องเข้าร่วมการประชุมสภาทุกครั้งไม่ว่ากฎหมายใด ส่วนผลการประชุมและองค์ประชุมขึ้นอยู่กับสถานการณ์ในวันนั้น
เมื่อถามว่า ตอนนี้พรรคร่วมรัฐบาลยอมรับกลับไปใช้สูตรหาร 100 แล้วใช่หรือไม่ นายสาธิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้ก็เห็นตรงกันอย่างนั้น แม้วิธีต่างการต่างกัน แต่ตอนนี้เห็นตรงกันแล้วว่าใช้บัตรสองใบและหาร 100 ส่วนการที่พรรคเพื่อไทย (พท.) ไม่เข้าร่วมการประชุมนั้นก็เป็นเอกสิทธิ์ รวมทั้งที่พรรคอื่นหรือสมาชิกวุฒิสภาไม่เข้าร่วมก็เป็นเอกสิทธิ์เช่นเดียวกัน
เมื่อถามว่ากังวลหรือไม่ว่าสภาจะล่มและประชาชนจะรุมตำหนิ นายสาธิต กล่าวว่า ประชาชนมีสิทธิ์ตำหนิถ้าสะพานล่ม แต่ทุกฝ่ายต้องพยายามอธิบายและให้ข้อมูลประชาชนเพื่อให้สามารถเข้าใจได้แต่ยอมรับว่ากระทบกับภาพลักษณ์สภาอยู่แล้ว