วิจัยพบวัคซีน Covaxin ของอินเดีย ป้องกันไวรัส "เดลตา"
วันนี้ ( 30 มิ.ย. 64 )ผู้สื่อข่าวรายงานว่าผลการศึกษา 2 ชิ้น ที่จัดทำขึ้นโดยสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐฯ หรือ NIH พบว่า วัคซีนป้องกันโควิด-19 Covaxin ของบริษัทภารัต ไบโอเทค ที่พัฒนาร่วมกับศูนย์วิจัยการแพทย์ของอินเดีย ซึ่งเป็นชนิด "เชื้อตาาย" มีประสิทธิภาพในการป้องกันไวรัสกลายพันธุ์ ทั้งสายพันธุ์ "อัลฟา" (พบครั้งแรกที่อังกฤษ) และสายพันธุ์ "เดลตา" (พบครั้งแรกที่อินเดีย)
การศึกษาแบ่งออกเป็น การศึกษาชิ้นที่ 1 และ ชิ้นที่ 2 โดยไปเก็บตัวอย่างน้ำเหลืองเลือด (blood serum) จากผู้ที่ได้รับวัคซีน Covaxin มาทำการศึกษา และผลพบว่า วัคซีนตัวนี้ สร้างแอนติบอดี้ หรือภูมิคุ้มกัน ต่อทั้งไวรัส "แอลฟา" และ "เดลตา" และระบุว่า วัคซีนตัวนี้ มีความปลอดภัยและยอมรับได้ดี ในการเปิดเผยข้อมูลการทดลองระยะที่ 2 ในมนุษย์ ส่วนการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 ของวัคซีน จะได้รับการเปิดเผยภายหลัง ในปีนี้
แต่จากผลการทดลองทางคลินิกระยะที่ 3 อย่างไม่เป็นทางการ พบว่า วัคซีน Covaxin นั้น
- มีประสิทธิภาพป้องกันโควิด-19 ได้ 77.8%
- มีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อแสดงอาการได้ 78%
- ป้องกันการติดเชื้อไม่แสดงอาการได้ 70%
- ป้องกันการติดเชื้ออาการหนัก/รักษาตัวในโรงพยาบาลได้ 100%
ทางบริษัทภารัต ไบโอเทค คาดว่าวัคซีนจะได้รับการรับรองจากองค์การอนามัยโลกให้ใช้ได้เป็นกรณีฉุกเฉิน ในเดือนกรกฎาคม - กันยายนนี้
ขณะที่อินเดียได้ฉีด Covaxin ให้ประชากรแล้วราว 25 ล้านคน ส่วนล่าสุด รัฐบาลอินเดีย ได้อนุมัติฉุกเฉินการใช้วัคซีนของ Moderna แล้ว เพื่อหวังนำมาใช้รับมือการระบาดรอบ 3 ที่ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่าจะเกิดขึ้นแน่ในช่วงปลายปีนี้
ทำให้ปัจจุบัน อินเดียมีวัคซีนที่ได้รับการอนุมัติแล้ว 4 ตัว คือ AstraZeneca, Covaxin, Sputnik V และ Moderna โดยฉีดรวมแล้วมากกว่า 330 ล้านโดส ซึ่งนับว่าสูงว่าจำนวนวัคซีนในสหรัฐฯ แต่หากเทียบต่อสัดส่วนประชากรสูงเกือบ 1,400 ล้านคน จึงยังมีอัตราการฉีดวัคซีนที่ค่อนข้างต่ำ