รีเซต

เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ความท้าทายเศรษฐกิจไทย

เงินดิจิทัลวอลเล็ต 5 แสนล้าน ความท้าทายเศรษฐกิจไทย
TNN ช่อง16
11 พฤศจิกายน 2566 ( 17:22 )
115

ในที่สุด โครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่าน Digital Wallet ซึ่งเป็นนโยบายหลักของรัฐบาลชุดนี้ก็ลงตัวสักที เมื่อ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง ได้ออกมาชี้แจงชัดถ้อยชัดคำว่า เป็นการอัดฉีดเงินเข้าไปในระบบ ให้เข้าถึงทุกพื้นที่ เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยหมุนเวียนภายในระยะเวลาอันรวดเร็ว โดยมีระยะเวลาการใช้จ่ายครั้งแรกภายใน  6 เดือน จากนั้นก็สามารถใช้จับจ่ายต่อได้จนถึงเดือนเมษายนปี 2570 พร้อมยืนยันเป็นการลงทุนที่มอบสิทธิและอำนาจให้กับประชาชนเพื่อช่วยกันกอบกู้เศรษฐกิจ ซึ่งจะก่อให้เกิดการลงทุนในภาคประชาชน ทั้งการรวมเงินในครัวเรือนเพื่อประกอบอาชีพ การซื้อ-ขายสินค้าของพ่อค้าแม่ค้า การสั่งผลิตสินค้าในโรงงาน SME ถึงโรงงานขนาดใหญ่



สำหรับเงื่อนไขในการใช้จ่าย “นายกฯ เศรษฐา” ย้ำชัดว่า ประชาชนสามารถใช้ซื้อสินค้า อาหาร เครื่องดื่ม สินค้าอุปโภค บริโภคได้ แต่ไม่สามารถใช้กับบริการ สินค้าออนไลน์ เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผลิตภัณฑ์ยาสูบ กัญชา กระท่อม พืชกระท่อม และผลิตภัณฑ์จากกัญชาและพืชกระท่อม นอกจากนี้ยังไม่สามารถนำไปซื้อบัตรกำนัล บัตรเงินสด ทองคำ เพชร พลอย อัญมณี รวมทั้งไม่สามารถนำไปชำระหนี้ จ่ายค่าเทอม และไม่สามารถนำไปจ่ายค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าโทรศัพท์ หรือซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซธรรมชาติได้ ที่สำคัญคือไม่สามารถแลกเป็นเงินสด หรือแลกเปลี่ยนในตลาดต่างๆ


ส่วนพื้นที่การใช้จ่าย และใช้ได้กับร้านค้าที่อยู่ในอำเภอเดียวกับบัตรประชาชนเท่านั้น โดยสามารถใช้ซื้อสินค้าได้ทุกร้านค้า ไม่ได้


จำกัดแต่ร้านที่อยู่ในระบบภาษี ไม่จำเป็นต้องจด VAT แต่ต้องมีการลงทะเบียนรับสิทธิ และร้านค้าที่จะขึ้นเงินได้ต้องอยู่ในระบบภาษีเท่านั้น ไม่สามารถใช้ซื้อสินค้าออนไลน์ แอลกอฮอล์ เหล้า สุรา บุหรี่ได้ รวมถึงไม่สามารถนำไปชำระหนี้ หรือแลกเป็นเงินสดได้ 



จากการแถลงของ นายกรัฐมนตรี ยังพบว่า รัฐบาลได้ปรับหลักเกณฑ์ของผู้ได้รับสิทธิเป็นประชาชนอายุ 16 ปีขึ้นไป และมีเงินเดือนต่ำกว่า 7 หมื่นบาท หรือมีเงินในบัญชีรวมกันน้อยกว่า 5 แสนบาท นั่นแปลว่า ถ้าใครมีรายได้หรือเงินเดือนเกิน 7 หมื่นบาท ถึงแม้ จะมีเงินฝากน้อยกว่า 5 แสนบาทก็จะไม่ได้รับสิทธิ หรือ ถ้าใครมีรายได้ต่อเดือนน้อยกว่า 7 หมื่นบาท แต่มีเงินฝากมากกว่า 5 แสนบาท ก็จะไม่ได้รับสิทธิ์เช่นกัน ซึ่งเมื่อยึดตามหลักเกณฑ์นี้ เท่ากับว่า ยอดรวมผ้ได้รับสิทธิจะอยู่ที่  50 ล้านคน และเป็นไปตามคำแนะนำของธนาคารแห่งประเทศไทยและสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เนื่องจากข้อมูลของหลายโครงการในอดีตแสดงให้เห็นว่าคนกลุ่มรายได้ดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะก่อให้เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากกว่าอีกกลุ่มอย่างมีนัยยะสำคัญ พร้อมย้ำว่า โครงการกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่นี้ จะไม่ทำให้เกิดเงินเฟ้อตามที่หลายฝ่ายกังวล เพราะสถานการณ์เงินเฟ้อในปัจจุบันของไทย อยู่ในสภาวะที่ต่ำอยู่แล้ว



ส่วนที่มาของงบประมาณโครงการ คำตอบที่เป็นไปได้มากที่สุดในการดำเนินนโยบายนี้ คือการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 500,000 ล้านบาท ภายใต้การตรวจสอบถ่วงดุลในระบบรัฐสภา และเป็นไปตามมาตรา 53 ของพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) วินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 โดยพ.ร.บ. การกู้เงินดังกล่าวจะระบุวัตถุประสงค์ของการกู้เงิน ระยะเวลาในการกู้เงิน แผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ วงเงินที่อนุญาตให้ใช้จ่ายเงินกู้ และหน่วยงานของรัฐ ซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินแผนงานหรือโครงการที่ใช้จ่ายเงินกู้ในโครงการ Digital Wallet  ซึ่งเป็นไปตามรัฐธรรมนูญและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยรัฐบาลจะกู้เงิน ก็ต่อเมื่อมีการนำเงินไปใช้และนำมาขึ้นเป็นเงินสด ซึ่งจะเป็นการทำให้เงินหมุนเวียนในระบบมากกว่า 500,000 ล้านบาท และจะหมุนเวียนกระตุ้นเศรษฐกิจได้อย่าง


มีนัยยะ รวมกับงบประมาณ 100,000 ล้านบาท เพื่อใช้ดำเนินโครงการ จึงไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องของการใช้เงินคืน เพราะรัฐบาลมีแผนจัดสรรเงินงบประมาณเพื่อจ่ายคืนเงินส่วนที่เป็นเงินกู้ตลอดระยะเวลา 4 ปี....นี่ คือ คำยืนยันจากผู้นำประเทศ



สิ่งสำคัญคือ นโยบาย Digital Wallet ไม่ใช่การสงเคราะห์ประชาชนผู้ยากไร้ แต่เป็นการเติมเงินลงไปในระบบเศรษฐกิจผ่านสิทธิการใช้จ่าย เพื่อให้ประชาชนมีบทบาทร่วมกับรัฐบาล หรือPartnership ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ผ่านสิทธิการใช้จ่าย 10,000 บาท


สิ้นสุดคำอธิบายของ "นายกฯ เศรษฐา" จะเห็นได้ว่า มีคนสมหวังกับโครงการ Digital Wallet เกือบค่อนประเทศ ซึ่งแน่นอนว่า ทุกคนต่างตั้งหน้าตั้งตารอใช้จ่ายเงินในเดือนพฤษภาคม 2567 ท่ามกลางความหวังว่า จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่...พลิกโฉมประเทศไทย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง