รีเซต

โทษของบุหรี่ไฟฟ้า กฎหมายยังไปไม่ถึง แต่ถุงลมโป่งโพงจะมาถึงก่อน

โทษของบุหรี่ไฟฟ้า กฎหมายยังไปไม่ถึง แต่ถุงลมโป่งโพงจะมาถึงก่อน
TNN Health
18 พฤศจิกายน 2564 ( 19:18 )
1.2K
โทษของบุหรี่ไฟฟ้า กฎหมายยังไปไม่ถึง แต่ถุงลมโป่งโพงจะมาถึงก่อน

ข่าววันนี้ บุหรี่ไฟฟ้า  อันตรายไหม โทษของการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นอย่างไร ผลวิจัย บุหรี่ไฟฟ้า ยังเป็นเรื่องที่แพทย์โรคปอดและหลายฝ่ายห่วงใยและกังวล รวมทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงโรคหลอดเลือด ความดัน หัวใจ ในกลุ่มโรค NCDs อย่างต่อเนื่อง รวมทั้งการชวนเชื่อ ให้เยาวชน “เข้าถึง ติดง่าย ฝังลึก ถึงยีน” อีกด้วย


รศ.นพ.นิธิพัฒน์ เจียรกุล นายกสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวในงานเสวนา หัวข้อ “ข้อเท็จจริงและผลกระทบของผลิตภัณฑ์บุหรี่ต่อสังคมและสุขภาพในมุมมองแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” เนื่องในวันถุงลมโป่งพองโลก ว่า โรคถุงลมโป่งพอง เกิดจากการระคายเคืองเรื้อรังของหลอดลมและถุงลมปอด จากฝุ่น ควัน หรือก๊าซที่เป็นพิษ ส่วนใหญ่เกิดจากการสูบบุหรี่ทั้งบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า ส่วนน้อยเกิดจากมลพิษ 


ปัจจุบันโรคถุงลมโป่งพองเป็นโรคเรื้อรังอันดับต้นๆ ที่ทำให้คนไทยเกิดภาวะทุพพลภาพและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ข้อมูลจากทั่วโลกพบว่ากลุ่มผู้ป่วยที่มีโรคถุงลมโป่งพองจะติดเชื้อโควิด-19 ได้ง่ายขึ้น และมีโอกาสสูงที่โรคจะลุกลามคุกคามต่อชีวิต เนื่องในวันถุงลมโป่งพองโลก  ขอเชิญชวนให้ทุกคนหันมาใส่ใจในเรื่อง “สุขภาวะปอด”  เพราะปอดกำลังถูกคุกคามอย่างหนักในท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 


ศ.พญ.ธนัญญา บุณยศิรินันท์ กรรมการสมาคมแพทย์โรคหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า มีข้อมูลชัดเจนว่า การสูบบุหรี่เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญต่อการเสียชีวิต อีกทั้งยังเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดแดงตีบที่ตำแหน่งอื่นๆ อีกด้วย เช่น โรคหลอดเลือดแดงสมองตีบ โรคหลอดเลือดแดงขาส่วนปลายตีบ 


ทั้งนี้ ยังมีการศึกษาสนับสนุนว่า การเลิกบุหรี่ช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด เมื่อเทียบกับคนที่ยังคงสูบบุหรี่อยู่ ดังนั้นสมาคมโรคหัวใจทั้งในและต่างประเทศ จึงมีคำแนะนำให้หยุดสูบบุหรี่ ทั้งในแนวทางการรักษาโรคหลอดเลือดแดงหัวใจตีบชนิดเฉียบพลันและชนิดเรื้อรัง โรคความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน และโรคไขมันในเลือดสูง รวมถึงการป้องกันการเกิดโรคหัวใจและหลอดเลือดอีกด้วย


รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการศูนย์คุณธรรม (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างมากคือการที่ผู้ผลิตบุหรี่ไฟฟ้าพุ่งเป้าการตลาดไปที่เด็กและเยาวชน ซึ่งนิโคตินเป็นอันตรายต่อสมองที่กำลังเจริญเติบโตของวัยรุ่น ทำให้เกิดความไม่สมดุลของสารในสมอง สมองจะมีความรู้สึกโหยหาในลักษณะ “เข้าถึง ติดง่าย ฝังลึก ถึงยีน” ยิ่งยุคนี้วัยรุ่นเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าได้ง่าย โดยเฉพาะการโฆษณาส่งเสริมการขายผ่านในออนไลน์ ด้วยการอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัย มีแต่ไอน้ำกับสารนิโคติน มีการผลิตน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้าทั้งรสผลไม้และรสขนม แต่อยากให้มองอีกมุมว่า ยิ่งเริ่มสูบบุหรี่เร็วก็ยิ่งจะเลิกได้ยากมาก และจะมีโอกาสกลายเป็นทาสของนิโคตินไปในที่สุด 


โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุแนวโน้มการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า (electronic cigarette) ในสหรัฐอเมริกาของกลุ่มเด็กเยาวชน ปี 2562 พบว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมต้นเท่ากับ 5.3% มัธยมปลายเท่ากับ 16% รวมแล้วมีนักเรียนมัธยมสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 3 ล้านคน ขณะที่ผู้ใหญ่ที่อายุเกิน 25 ปี มีเพียง 3.7% เท่านั้น 


“บุหรี่ไฟฟ้าที่ใช้ทั้งรูป รส กลิ่น เสียงเพลง (อสุนทรียสาร) มีการพ่นควันที่เรียกว่า Cloud Contest เป็นเทคนิคยั่วยวนเชิญชวนให้เริ่ม ไม่ใช่เลิก เป็นการใช้หลักจิตวิทยาพลังบวกกับสารนิโคติน ถือเป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ทุกท่านที่ต้องตระหนักว่าวันนี้จำเป็นต้องปกป้องคุ้มครองบุตรหลานเราให้รอดพ้นจากการเป็นนักสูบหน้าใหม่ที่ไม่ให้กลายเป็นเยาวชนติดยา ซึ่งได้ไม่คุ้มเสียกับความเสียหายในคุณภาพพลเมืองอนาคต” รศ.นพ.สุริยเดว กล่าว


ศ.เกียรติคุณ พญ.วรรณี นิธิยานันท์ นายกสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ยาสูบล้วนส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (Non-Communicable Diseases : NCDs) เป็นปัญหาระดับโลกที่คุกคามสุขภาพส่งผลกระทบถึงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ขณะที่ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ปี 2561 พบว่า คนไทยมีอัตราเสียชีวิตจากโรค NCDs ราวปีละ 398,860 คน หรือ 74% ของการเสียชีวิตทั้งหมด ขณะที่ข้อมูลจากกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข พบว่า ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ตั้งแต่เดือนมกราคม 2563 - 13 กันยายน 2564 มีผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 จำนวน 14,485 คน ในจำนวนนี้ป่วยด้วยโรค NCDs 9,705 คน หรือ 67% ของผู้เสียชีวิตจากโควิด-19 ทั้งนี้ โรคNCDs เป็นโรคเรื้อรังที่ต้องรับการรักษาต่อเนื่องมีค่าใช้จ่ายดูแลรักษาสูง ส่งผลกระทบต่อสมรรถภาพการทำงาน สุขภาวะ และคุณภาพชีวิตของบุคคล รวมทั้งเศรษฐกิจของครัวเรือนและประเทศ


นอกจากนี้  รศ.นพ.สมบัติ  มุ่งทวีพงษา เลขาธิการสมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย กล่าวว่า ข้อมูลจากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี พบว่า ในปี 2561 ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตจากบุหรี่ปีละกว่า 7 หมื่นราย พบนักสูบหน้าใหม่ที่เป็นเยาวชนเพิ่มขึ้น ตั้งแต่อายุ 10 ปีขึ้นไป ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจรวมทั้งหมดปีละ 220,461 ล้านบาท ขณะที่รัฐจัดเก็บรายได้จากภาษีบุหรี่ได้ 68,603 ล้านบาท นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องควันบุหรี่มือสอง ที่เป็นอันตรายต่อร่างกายหากผู้อยู่อาศัยสูดดมเข้าไป และบุหรี่มือสาม ซึ่งเป็นสารตกค้างที่อยู่ในสิ่งแวดล้อมหากมีการสัมผัสบ่อย เช่น สิ่งของ เสื้อผ้า   


สำหรับงานเสวนา หัวข้อ “ข้อเท็จจริงและผลกระทบของผลิตภัณฑ์บุหรี่ต่อสังคมและสุขภาพในมุมมองแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ” เนื่องในวันถุงลมโป่งพองโลก จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สมาคมเครือข่ายโรคไม่ติดต่อไทย (Association of Thai NCD Alliance) เพื่อให้ความรู้และข้อเท็จจริงต่อผลกระทบของบุหรี่ ควันบุหรี่ และโรคถุงลมโป่งพอง.


ที่มา : สสส.

 

 

--------------------

เกาะติดสถานการณ์โควิด-19  ทันความเคลื่อนไหว ได้ความรู้ที่ถูกต้อง ส่งตรงถึงมือคุณ
คลิกเลย!! >>> รู้ทันกันโควิด <<< หรือ กด *301*35# โทรออก

 

กดเลย >> community แห่งความบันเทิง

ทั้งข่าว หนัง ซีรีส์ ละคร ดนตรี และศิลปินไอดอล ที่คุณชื่นชอบ บนแอปทรูไอดี

 

ยอดนิยมในตอนนี้

แท็กยอดนิยม

ข่าวที่เกี่ยวข้อง