การศึกษาชิลีชี้วัคซีนโควิด-19 'ซิโนแวค' ป้องกัน 'ติดเชื้อแสดงอาการ' ได้ 67%
ซานติอาโก, 17 เม.ย. (ซินหัว) -- เมื่อวันศุกร์ (16 เม.ย.) กระทรวงสาธารณสุขของชิลีเปิดเผยว่าวัคซีนโคโรนาแวค (CoronaVac) ที่พัฒนาโดยซิโนแวค ไบโอเทค (Sinovac Biotech) บริษัทชีวเภสัชภัณฑ์ของจีน มีประสิทธิภาพป้องกันการป่วยโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ (โควิด-19) แบบแสดงอาการสูงสุดร้อยละ 67
ราฟาเอล อาราโอส แพทย์และที่ปรึกษาสำนักงานปลัดกระทรวงฯ ประกาศการค้นพบดังกล่าวระหว่างนำเสนอผลการศึกษาหัวข้อ "ประสิทธิผลของวัคซีนโคโรนาแวค ชนิดเชื้อตาย ที่มีต่อเชื้อไวรัสฯ (SARS-CoV-2) ในชิลี"
อาราโอสกล่าวว่าการศึกษาบ่งชี้วัคซีนโคโรนาแวคมีประสิทธิภาพป้องกันการเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาลสูงสุดร้อยละ 85 ป้องกันการเข้ารักษาตัวในหอผู้ป่วยหนัก (ICU) ร้อยละ 89 และป้องกันการเสียชีวิตจากโรคโควิด-19 ร้อยละ 80
อาราโอส ผู้เคยดำรงตำแหน่งหัวหน้าฝ่ายระบาดวิทยาของกระทรวงฯ อธิบายว่าประสิทธิภาพของวัคซีนคือการป้องกันภายใต้สภาวะในชีวิตจริง และผลการศึกษาอ้างอิงประสิทธิภาพของวัคซีนภายหลังการฉีดโดสที่สองนาน 14 วัน พร้อมเสริมว่ารายงานดังกล่าวเป็นข้อมูลเบื้องต้นและจะมีการปรับปรุงทุกเดือน
ขณะเดียวกันเอนริเก ปาริส รัฐมนตรีกระทรวงฯ กล่าวว่าวัคซีนโคโรนาแวคที่ชิลีนำมาใช้นั้น "กำลังแสดงประสิทธิผล" และกล่าวว่า "เราต้องฉีดวัคซีนต่อไป โดยไม่สามารถผ่อนคลายมาตรการดูแลตนเองได้"
การศึกษาครอบคลุมผู้มีอายุ 16 ปีขึ้นไป จำนวนราว 10.5 ล้านคน และดำเนินการเปรียบเทียบระหว่างผู้รับวัคซีนโคโรนาแวคครบตามกำหนด ผู้รับวัคซีนยังไม่ครบตามกำหนด และผู้ที่ยังไม่ได้รับวัคซีน
ทั้งนี้ ชิลีเริ่มดำเนินโครงการฉีดวัคซีนขนานใหญ่เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ หลังจากฉีดวัคซีนให้บุคลากรการแพทย์ในเดือนธันวาคม 2020 และมกราคม 2021 โดยชิลีฉีดวัคซีนโรคโควิด-19 ให้ประชาชนแล้ว 7,664,226 คน คิดเป็นสัดส่วนราวร้อยละ 50 ของจำนวนประชากรเป้าหมายที่ 15 ล้านคน เมื่อนับถึงวันพฤหัสบดี (15 เม.ย.)