รีเซต

'บิ๊กป้อม' ลุย 4 จว.อีสาน เร่งเพิ่มน้ำผิวดิน-ใต้ดิน ให้ปชช.มีน้ำกิน ใช้ ตลอดฤดูแล้ง

'บิ๊กป้อม' ลุย 4 จว.อีสาน เร่งเพิ่มน้ำผิวดิน-ใต้ดิน ให้ปชช.มีน้ำกิน ใช้ ตลอดฤดูแล้ง
มติชน
14 กุมภาพันธ์ 2565 ( 11:15 )
41

เมื่อวันที่ 14 กุมภาพันธ์ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) และผู้อำนวยการกองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์น้ำ ความก้าวหน้าโครงการพัฒนาแหล่งน้ำเพื่อเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุนสร้างความมั่นคงด้านน้ำตามนโยบายรัฐบาล และพบปะกับประชาชนในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จ.สกลนคร นครพนม กาฬสินธุ์ และร้อยเอ็ด รวมถึงติดตามความสำเร็จจากโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ ในการบรรเทาอุทกภัยช่วงฤดูฝน และเก็บกักน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้ในระยะยาว รวมถึงโครงการที่ป้องกันและแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัด ทั้ง 4 จังหวัดให้การต้อนรับ พร้อมด้วย ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ผู้แทนหน่วยงาน ที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมทรัพยากรน้ำ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำบาดาล และหน่วยงานท้องถิ่น ชี้แจงรายละเอียดผลการดำเนินโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่

 


 

พล.อ.ประวิตร กล่าวในโอกาสลงพื้นที่ว่า รัฐบาลได้เร่งขับเคลื่อนโครงการพัฒนาแหล่งน้ำในทุกพื้นที่ทั่วประเทศเพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำในฤดูฝน ให้ประชาชนใช้ประโยชน์ช่วงแล้ง เช่นโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ ที่กระจายอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดภาคอีสานจากการลงพื้นที่ครั้งนี้ สามารถเก็บกักน้ำสำหรับใช้การอุปโภค-บริโภค และการเกษตรในช่วงแล้ง ลดความเดือดร้อนจากปัญหาน้ำท่วม ส่งเสริมรายได้ให้ประชาชนในสถานการณ์โควิด ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนในพื้นที่ขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี ประกอบด้วย 1.โครงการระบบส่งน้ำเครือข่ายน้ำหนองหวาย จ.สกลนคร ช่วยแก้ไขการขาดแคลนน้ำเพื่อการเกษตร 1,150 ไร่ สนับสนุนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคกว่า 600 ครัวเรือน และเพิ่มประสิทธิภาพการกระจายน้ำกว่า 2,000 ไร่ ปัจจุบันเปิดใช้งานแล้ว และจะขยายผลในระยะที่ 2 ในปี 2566 – 2567 2.โครงการประตูระบายน้ำธรณิศนฤมิต จ.นครพนม ที่อยู่ในแผนงานก่อสร้างหลักโครงการพัฒนาลุ่มน้ำก่ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ช่วยเก็บกักน้ำเพื่อสนับสนุนการอุปโภค-บริโภค และการเกษตร รวมพื้นที่ประมาณ 22,000 ไร่ โดยเฉพาะป้องกันปัญหาน้ำท่วมพื้นที่เพาะปลูกในฤดูน้ำหลาก และขาดแคลนน้ำในการเพาะปลูกในฤดูแล้ง 3.โครงการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยเทคโนโลยีชั้นสูงเพื่อส่งเสริมการเกษตรแปลงใหญ่ จ.กาฬสินธุ์ ครอบคลุมพื้นที่ 760 ไร่ และ 4.โครงการน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรแปลงใหญ่ จ.ร้อยเอ็ด ครอบคลุมพื้นที่ 500 ไร่ ซึ่งการพัฒนาแหล่งน้ำบาดาลทั้ง 2 โครงการช่วยส่งเสริมอาชีพเกษตรให้มีความมั่นคง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาด้านสังคมการย้ายถิ่นฐาน โดยเฉพาะในพื้นที่ที่ต้องอาศัยเกษตรน้ำฝนการมีแหล่งน้ำไว้ใช้ก็จะลดความเสี่ยงการขาดแคลนน้ำได้เป็นอย่างดี เช่น ต.สะอาดสมบูรณ์ จ.ร้อยเอ็ด ที่มีแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่รวม 3 แห่ง จึงได้มอบหมายให้ สทนช.พิจารณาแผนงานโครงการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อเพิ่มความจุเก็บกัก ก็จะช่วยลดความเสี่ยงจากการขาดแคลนน้ำให้เกษตรกรในพื้นที่ได้

 


 


การลงพื้นที่ในครั้งนี้ได้เน้นย้ำทุกหน่วยงานเร่งดำเนินการ โดยมอบหมายให้จังหวัด และหน่วยงานต่างๆ ทั้งในส่วนกลางและพื้นที่ ติดตาม ตรวจสอบ ปัญหาความเดือดร้อน และความต้องการของประชาชนอย่างใกล้ชิด ซึ่งรัฐบาลพร้อมให้การสนับสนุนแผนงานและงบประมาณในการขับเคลื่อนโครงการ พัฒนา ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานด้านน้ำให้เกิดความมั่นคงครอบคลุมทุกพื้นที่ต่อไป

 


 


ด้านดร.สุรสีห์ กล่าวเพิ่มเติมว่า รัฐบาลโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาดังกล่าวร่วมกันผ่านแผนงานโครงการต่างๆ ทั้งการฟื้นฟูป่าต้นน้ำ พัฒนาแหล่งเก็บกักน้ำ ป้องกันน้ำท่วมชุมชนเมือง พัฒนาและปรับปรุงระบบส่งน้ำ เป็นต้น สามารถบรรเทาปัญหาความเดือดร้อนด้านน้ำทั้งน้ำท่วมน้ำแล้งและคุณภาพน้ำให้กับประชาชน โดยในช่วงปี 2565 – 2567 สทนช.ยังคงบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามการขับเคลื่อนแผนงานโครงการด้านน้ำให้สำเร็จตามแผน อาทิ ขยายเขตจำหน่ายน้ำประปา การพัฒนาหนองหาร ขุดลอกลำน้ำสาขาลำน้ำก่ำ จ.สกลนคร ระบบระบายน้ำหลักพื้นที่ชุมชนเมืองนครพนม จ.นครพนม พัฒนาน้ำบาดาลเพื่อความมั่นคงระดับชุมชน อ.กุฉินารายณ์ แก้มลิงหนองกุดเชื่อมพร้อมอาคารประกอบ จ.กาฬสินธุ์ การพัฒนาระบบน้ำบาดาลเพื่อการเกษตรด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ อ.โพธิ์ชัย หนองพอก และโพนทอง และอาคารผันน้ำลำน้ำยังสู่บึงเกลือ อ.เสลภูมิ จ.ร้อยเอ็ด เป็นต้น

ข่าวที่เกี่ยวข้อง