เปิดยอดครองเตียงโควิดในกทม.-ปริมณฑล 18% ยังว่างเพียบ
เมื่อวันที่ 5 มกราคม นพ.สมศักดิ์ อรรฆศิลป์ อธิบดีกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ให้สัมภาษณ์ถึงแนวการรับมือผู้ติดเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ว่า สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วย หากมีอาการไม่มาก จะใช้มาตรการรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) เป็นหลัก ทั้งนี้ แนวทางการรักษา รูปแบบที่ 1 คือ การรักษาที่บ้าน (HI) จะมีการติดต่อกลับผู้ป่วยให้เร็วที่สุดภายใน 6 ชั่วโมง หลังจากการติดเชื้อ รูปแบบที่ 2 ศูนย์ดูแลช่วยเหลือในชุมชน (Community Isolation) ที่รัฐจัดไว้ สำหรับดูแลรักษาผู้ป่วย
“แนวทางเวชปฏิบัติการดูแลรักษาโควิด-19 มีการปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการจัดหายาต้านไวรัสโควิด-19 ใหม่ๆ เพิ่มเติม และให้การรักษาตามอาการ คาดว่ายาโมลนูพิราเวียร์ แพ็กซ์โลวิด จะเข้ามาในเดือนกุมภาพันธ์นี้” นพ สมศักดิ์ กล่าวและว่า ภาพรวมการครองเตียงผู้ป่วยโควิด-19 ในกรุงเทพมหานครและปริมณฑลอยู่ที่ ร้อยละ 18.5
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับข้อมูลสถานการณ์เตียงในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ล่าสุด วันที่ 4 มกราคม 2565 รวมทุกประเภท 31,701 เตียง ครองเตียงแล้ว 5,873 เตียง แบ่งเป็น
1.เตียงไอซียู ห้องความดันลบ รวม 232 เตียง ครองเตียง 65 เตียง ว่าง 167 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 28
2.ห้องดัดแปลงความดันลบ รวม 1,184 เตียง ครองเตียง 456 เตียง ว่าง 728 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 38.5
3.ห้องไอซียูรวม รวม 470 เตียง ครองเตียง 30 เตียง ว่าง 440 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 6.4
4.ห้องแยกโรค รวม 3,964 เตียง ครองเตียง 929 เตียง ว่าง 3,035 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 23.4
5.ห้องสามัญ รวม 8,223 เตียง ครองเตียง 1,952 เตียง ว่าง 6,271 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 23.7
6. ฮอสปิเทล รวม 16,084 เตียง ครองเตียง 2,278 เตียง ว่าง 13,806 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 14.2
7.เตียงสนาม รวม 1,544 เตียง ครองเตียง 163 เตียง เตียงว่าง 1,381 เตียง อัตราครองเตียง ร้อยละ 10.6